ไม่พบผลการค้นหา
หลังศาลตัดสินจำคุก 1 ปีไม่รอลงอาญา 'จตุพร พรหมพันธุ์' กรณีหมิ่น 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' มาย้อนดูเส้นทางของเด็กจากปักษ์ใต้ผู้กลายเป็นนักสู้ไปพร้อมๆกัน

หลังศาลตัดสินจำคุก 1 ปีไม่รอลงอาญา 'จตุพร พรหมพันธุ์' กรณีหมิ่น 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' มาย้อนดูเส้นทางของเด็กจากปักษ์ใต้ผู้กลายเป็นนักสู้ไปพร้อมๆกัน

ทันทีที่ศาลฎีกาพิพากษาสั่งจำคุก นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ(นปช.) จำเลยในคดีฐานหมิ่นประมาทนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีกล่าวปราศรัยในที่ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ปี 2552 ในทำนองว่า นายอภิสิทธิ์ เป็นผู้สั่งการให้ยิงคนเสื้อแดง ในเหตุการณ์ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในปี 2552 ที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และกล่าวหาว่าเป็นรัฐบาลทรราช อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ สั่งพิพากษายืนยกฟ้อง นี่เป็นอีกครั้งที่นายจตุพรต้องสูญสิ้นอิสรภาพ ย้อนรอยชีวิตของแกนนำนปช.ผู้นี้ไปพร้อมกัน

จากแกนนำพรรคศรัทธาธรรม สู่แกนนำนปช.

เด็กหนุ่มจากสุราษฎร์ธานีเข้ามาามหาความฝันด้วยการมาเรียนในกรุงเทพชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ก่อนที่จะศึกษาต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะความคิดทางการเมืองให้กับ จตุพร โดยเขากับเพื่อนร่วมกันตั้งพรรค "ศรัทธาธรรม" (หนึ่งในเืพ่อนสมาชิกคือ นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์) และมีบทบาทในเหตุการณ์พฤษภา 2535 ร่วมขับไล่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

ก่อนที่จะเบนเขมเข้าสู่การเมืองระดับประเทศกับพรรคพลังธรรมสมัยที่นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค ก่อนที่จะผันตัวไปร่วมงานกับพรรคไทยรักไทยผ่านการชักชวนของนายภูมิธรรม เวชยชัย   และได้เป็นเลขานุการของนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รมว.ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (ตอนนี้เป็นหนึ่งในคณะยุทธศาสตร์ชาติของคสช.)

เมื่อประเทศไทยเข้าสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองในปี 2548-2549 หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน2549 จตุพรร่วมกับเพื่อนสมาชิกก่อตั้งแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ หรือนปก. (ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นนปช.) เพื่อคัดค้านการทำรัฐประหารครั้งดังกล่าว เมื่อมีการเลือกตั้งอีกครั้งพรรคประชาชนภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช ได้จัดตั้งรัฐบาล จตุพรได้เป็น ส.ส.สมัยแรกจากระบบบัญชีรายชื่อ 

ในเวลาต่อมาจึงมีการตั้งรายการ "ความจริงวันนี้" เพื่อที่จะตอบโต้ข้อมูลกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในปี 2551 โดยจตุพร จัดรายการร่วมกับนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่รู้จักกันในนามของ "สามเกลอ" และท้ายที่สุด พธม.ยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วม เกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองอีกครั้งเมื่อพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เหตุชุมนุม 2552-53 จุดเปลี่ยนชีวิตของจตุพร พรหมพันธุ์

หลังการจัดตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ของนายอภิสิทธิ์ นายจตุพรยังทำหน้าที่ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน รมไปถึงเป็นแกนนำนปช.ในการชุมนุม ในช่วงเดือนเมษายน 2552 นายจตุพรถูกออกหมายจับหลังจากเหตุการชุมนุมที่มีแกนนำนปช.นำมวลชนไปบุกการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก และมีเหตุการปะทะในเมืองที่ขนานนามว่า "สงกรานต์เลือด" ซึ่งการปราศรัยในครั้งนั้นเองเป็นเหตุทำให้นายจตุพรถูกศาลฎีกาจำคุกในตอนนี้โดยปราศรัยว่านายอภิสิทธิ์สั่งยิงมวลชนนปช.

ปี 2553 กลุ่มนปช.กลับมาชุมนุมอีกครั้งหนึ่งโดยยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ในขณะนั้นยุบสภาและลาออก แต่กลับไม่เป็นผล และตามมาด้วยเหตุการณ์ "10 เมษา 53" และ เหตุการณ์สลายการชุมนุมพฤษภาคม 2553 จนแกนนำนปช.ต้องประกาศยุติการชุมนุมหลังจากถูกบุกเข้าบริเวณเวทีราชประสงค์ ตลอดการชุมนุมมีผู้เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก

ในเหตุการณ์รำลึก 10 เมษายน 2554 นายจตุพรกล่าวรำลึกถึงเหตุการณ์ชุมนุมโดยจากเหตุการณ์นั้นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ขณะนั้นได้ให้นายทหารพระธรรมนูญยื่นฟ้องผ่านดีเอสไอ แต่ท้ายที่สุดมีมติสั่งไม่ฟ้องต่อมาพล.อ.ประยุทธ์พยายามฟ้องนายจตุพรอีกครั้งในข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทต่อองค์พระมหากษัตริย์ ดีเอสไอจึงเรียกมาอีกครั้ง ศาลมีคำสั่งให้ถอนประกันตัว พฤษภาคม 2554 จึงเป็นครั้งแรกที่นายจตุพรต้องเข้าไปอยู่ในคุก

ปีเดียวกันเองนายจตุพรได้รับเลือกเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย  ซึ่งมีผู้ยื่นเรียกร้องให้ตีความคุณสมบัตินพฤษภาคม พ.ศ. 2555 มีคำวินิจฉัยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 ให้สมาชิกภาพสมาชิกสภาผุ้แทนราษฎรของนายจตุพร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106(4) ประกอบกับมาตรา 101(3) และนายจตุพรจึงกลับไปทำงานมวลชนกับนปช.อีกครั้ง  และได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานนปช.แทนนางธิดา ถาวรเศรษฐ

หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายจตุพรและแกนนำนปช.คนอื่นๆถูกทหารนำตัวไปปรับทัศนคติ  และยังถูกทหารเรียกพบอย่างต่อเนื่อง อีกคดีความที่ทำให้นายจตุพรต้องถูกจำคุกในปี 2559 คือการที่พระพุทธะอิสระ แจ้งความนายจตุพรฐานหมิ่นประมาท  ก่อนที่นายจตุพรได้รับการประกันตัวอีกครั้งเนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ

วิบากกรรมของนายจตุพรยังไม่จบเพียงเท่านี้ยังมีอีกหลายคดีที่ยังไม่พิจารณาถึงสิ้นสุด ทั้งคดีก่อการร้ายจากเหตุสลายการชุมนุมปี 2553 คดีหมิ่นประมาททั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำกปปสและอดีตรองนายกรัฐมนตรี นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ปชป. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพธม. และภรรยาของนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 

ผลตัดสินวันนี้เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งคดีที่สืบเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่รัฐปะรหาร 19 กันยายน 2549 ส่วนนายจตุพรถูกจำคุกเป็นครั้งที่ 3  

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog