ไม่พบผลการค้นหา
เยี่ยมเยียนพูดคุยกับนักแสดง ผู้ที่ในชีวิตจริงท่านคืออาจารย์สอนงิ้ว ปัจจุบันอายุ 76 ปี กับผลงานอันลือลั่นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โฆษณาชุด อาเม้ง ป.ปลา ‘ป.ปลา นั้นหายาก’ อาขยานที่หลายคนยังท่องจำได้แม่นยำถึงทุกวันนี้ และชีวิตครอบครัวเมื่อครั้งอยู่สามย่าน

เยี่ยมเยียนพูดคุยกับนักแสดง ผู้ที่ในชีวิตจริงท่านคืออาจารย์สอนงิ้ว ปัจจุบันอายุ 76 ปี กับผลงานอันลือลั่นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โฆษณาชุด อาเม้ง ป.ปลา ‘ป.ปลา นั้นหายาก’ อาขยานที่หลายคนยังท่องจำได้แม่นยำถึงทุกวันนี้ และชีวิตครอบครัวเมื่อครั้งอยู่สามย่าน


‘ป.ปลา นั้นหายาก ต้องลำบากออกเรือไป ขนส่งจากแดนไกล ใช้น้ำแข็ง เปลืองน้ำมัน แช่เย็นก็เสียไฟ หุงต้มไซร้แก๊สทั้งนั้น พลังงานต้องหมดกัน โอ้ลูกหลานจำจงดี’ 

 


อาขยานในภาพยนตร์โฆษณาชุด อาเม้ง ป.ปลา หนึ่งในโฆษณาจากโครงการ “รวมพลังหาร 2 คิดก่อนใช้” ซึ่งเป็นโครงการที่ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ.2539 โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ผลงานโฆษณาของบริษัท ลีโอ เบอร์เน็ทท์ (ประเทศไทย) จำกัด ภาพยนตร์โฆษณากำกับโดย สุธน เพ็ชรสุวรรณ หรือ ม่ำ  บริษัท แม็ทชิ่ง สตูดิโอ จำกัด (มหาชน)

 


อาจารย์อำพัน เจริญสุขลาภ ผู้ก่อตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไทย-จีน ปัจจุบันอายุ 76 ปี ผู้แสดงเป็น “อาเม้ง” และได้ฉายา “อาเม้ง ป.ปลา” มาเป็นชื่อเล่นภายหลังจากโฆษณาโด่งดัง เล่าว่า เดิมจะทำงานอยู่เบื้องหลังเป็นงานเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมโดยเฉพาะงานภาพยนตร์ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาบ้าง เป็นผู้ช่วยผู้กำกับบ้าง อยู่ในวงการคนก็รู้จัก ในฐานะคนทำงิ้วเป็นภาษาไทยและเป็นอาจารย์สอนสอนนักแสดงเพื่อจะไปแสดงละครออกอากาศทางโทรทัศน์หรือละครหลังข่าวและเคยแสดงหนังกับท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เช่น ทองพูนโคกโพธิ์ สุริโยไท  

 

 
“ตอนมีคนติดต่อให้ไปแสดงโฆษณา อาเม้ง ป.ปลา ผมอยู่เมืองจีน เขาติดต่อให้ไปแคสติ้ง พอผมกลับมา ทีแรกผมไม่ไป... จะให้ผมไปถ่ายโฆษณา มันเขิน ไม่เอาหรอก... เขาก็เลยบอก เป็นโฆษณาของรัฐบาลไม่ใช่เชิงพาณิชย์ เราก็ลองไปดู ทีแรกก็ไม่คิดว่าจะดังและมีชื่อเสียง

 

ในโฆษณามีหลายส่วน คือ เนื้อหาดี ผู้กำกับเก่ง คนเขียนบทก็เก่ง ถ่ายทำออกมาดี นี่อันดับแรก อันดับ 2 คือ คนที่ร่วมแสดงเป็นแม่ ซึ่งไม่เคยแสดงมาก่อนบังเอิญแสดงได้เหมือนแม่ แล้วมีตอนที่แม่ดีดหูด้วย อันที่ 3 ก็คือ การแสดงของผม ในนั้นมีการท่อง และมีเสียงหัวเราะด้วย ท่าทางการแสดงอาจจะถูกใจคนดู เสียงหัวเราะต้องเวอร์ๆ แบบรูปแบบการแสดงงิ้ว คิดไม่ถึงว่าคนจะชอบ 

ก็คิดว่าเนื้อหาหลักๆ ก็ดี คือต้องกตัญญู ประหยัด ถูกใจคนจีน คนจีนถือเรื่องปรัชญาขงจื๊อ คือ กตัญญูเป็นเรื่องหลัก เรื่องประหยัดนี่เป็นเรื่องสำคัญ แต่ทุกวันนี้ก็คิดไม่ถึงว่าทำไมดัง” อาจารย์อัมพันกล่าว 

 

ภาพเมื่อครั้งแสดงหนังท่านมุ้ย 


อาจารย์อัมพัน เล่าถึงงานในปัจจุบันว่า “ตอนนี้นำงิ้วภาษาแต้จิ๋ว มาแปลเป็นภาษาไทย ร้องไทย พูดไทย เราทำมา 30 กว่าปี เพื่อให้คนไทยหรือคนไทยเชื้อสายจีนที่มีโอกาสดูงิ้วแล้วเข้าใจ ดูให้รู้เรื่อง และเราเอารูปแบบการแสดงศิลปะงิ้ว มาทำเป็นศิลปะการแสดงอีกแขนงหนึ่งของไทย นอกจากนั้น ตอนนี้ก็เป็นผู้อำนวยการด้านศิลปะการแสดง สถานีโทรทัศน์ไทย-จีน (ไทยซีซีทีวี) แล้วเราก็ตั้งศูนย์สืบสานและพัฒนาอุปรากรจีนให้เป็นงิ้วไทย ตั้งอยู่ศรีนครินทร์ และตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทยจีนที่ดาวคะนอง เพื่อสอนงิ้ว ซ้อมงิ้ว” 

 

ณิชา ดาราช่อง 3 หัดร้องงิ้วเพื่อแสดงละครเสน่ห์นางงิ้ว 

 

ส่วนงานที่ภูมิใจ อาจารย์อัมพัน บอกว่า งานที่ภูมิใจมีมาเรื่อยๆ เช่น ได้สอนดาราศิลปินที่ไม่เคยเล่นงิ้ว แล้วมาศึกษางิ้วและแสดงงิ้วออกมาได้ ก็รู้สึกภูมิใจ นอกจากนั้น งานที่ภูมิใจที่สุดคือ ได้เขียนบทภาษาจีนและร่วมแปลเป็นไทยรวมถึงเป็นผู้แต่งเพลงและกำกับการแสดงอุปรากรจีนพูดไทยเรื่อง ‘แปดเซียนถวายพระพร’ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา (ผู้แสดงอาทิ ‘ผุสชา โทณะวนิก’ ‘นีรนุช ปัทมสูต’ และ ‘บัณฑูร ล่ำซำ’ สำหรับ ‘แปดเซียนถวายพระพร’ จัดโดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมครูภาษาจีนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แสดงวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

 


“งิ้วหลายเรื่อง เรื่องที่ภูมิใจมากที่สุด ก็คือ งิ้ว แปดเซียนถวายพระพรสมเด็จพระเทพฯ เพราะนักแสดงเป็นนักแสดงกิติมศักดิ์ เป็นนักธุรกิจ เป็นนักศึกษา เป็นอาจารย์เป็นดอกเตอร์ที่ไม่เคยแสดง และแสดงออกมาดี อันนี้ที่ผมภูมิใจมากที่สุด” อาจารย์อัมพันกล่าว 

 

 

อาจารย์อัมพัน เล่าชีวิตในวัยเด็กว่า เกิดที่สามย่านปี ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) อยู่สามย่านจนถึงอายุ 15 ก็ไปเรียนเมืองจีน เพราะภาษาจีนในไทยมีเพียงระดับประถมเท่านั้น


“ผมไป ค.ศ.1957 เป็นเด็กยังไม่รู้อะไร อยากจะเรียน อยากเป็นอิสระ ยุคนั้นคนไปเรียนเยอะเหมือนกัน เราเป็นลูกหลานจีนคิดว่าน่าจะมีความรู้เพิ่มเติมภาษาจีน และผมก็ชอบด้านดนตรีด้วย ตอนเด็กๆ ก็ชอบไปดูงิ้ว ไปเรียนงิ้ว ถือโอกาสไปเรียนเพิ่มเติม 

ตอนผมไปจีน แม่ผมร้องไห้ 11 วัน พ่อก็คงเป็นห่วงแต่เขาจะไม่สนับสนุนก็ไม่ได้ ผมไปซัวเถา กวางตุ้ง หลายแห่ง ตอนนั้นเป็นจีนยุคใหม่ที่คอมมิวนิสต์มาครองประเทศ สร้างชาติใหม่ ตอนนั้นเรียนฟรี คนไทยจากต่างจังหวัดก็ไป ทั้งอุดร ขอนแก่น สุรินทร์ แถวอีสานก็ไป ช่วงนั้นก่อนปฏิวัติวัฒนธรรมจีน 

กลับมาอายุ 24 เพื่อนของพ่อรู้ว่าผมมีความสามารถเรื่องสอนงิ้ว เรื่องดนตรี แต่งเพลงเขียนบท เลยชักชวนผมเข้าไปทำงานด้านนี้ เพราะศิลปะงิ้วผมชอบอยู่แล้ว”

 

 

 

อาจารย์อัมพัน ในวัยยี่สิบกว่าปีหลังกลับจากเมืองจีน


งิ้วสามย่านในความทรงจำ อาจารย์อัมพัน เล่าว่า ที่จุฬาฯ ซอย 15 เดิม (ปัจจุบันคือจามจุรีสแควร์) จะมีศาลเจ้าที่เรียกว่าแป๊ะกงเซียง ทุกปีจะมีเล่นงิ้ว 2 ครั้ง คือครั้งปลายปีและก็ครั้งกลางปี สมัยก่อนถ้ามีศาลเจ้าคนมักจะเชิญงิ้วมาประกอบพิธีบวงสรวง ไหว้เจ้า ปกติเชิญ 2 วัน ถ้าใครมีตังค์ก็เชิญ 3 วัน 

ถ้าใครเชิญงิ้วจากเยาวราชก็จะราคาสูง เป็นงิ้วอยู่ที่วิก เป็นงิ้วดีๆ คนไปดูต้องซื้อบัตร ส่วนงิ้วอีกชนิดหนึ่งจะด้อยกว่างิ้วอยู่วิก จะไปแสดงตามต่างจังหวัด จะราคาถูกหน่อย
 

เมื่อก่อน ไม่ค่อยมีบันเทิง พอมีงิ้วทีก็จะวิ่งแย่งกันเอาเสื่อมาปูจองที่ พอถึงวันแสดง บางคนเอาเก้าอี้มาจากบ้าน บางคนนั่งบนเสื่อ ปัจจุบันศาลเจ้าที่เคยอยู่ซอย 15 (จามจุรีสแควร์) น่าจะย้ายไปที่คลองเตย พระโขนง

 

เฉินหลง คนที่ 4 นับจากซ้าย ส่วนอาจารย์อัมพันยืนริมด้านขวา 

 

อาจารย์อัมพัน เล่าถึงความแตกต่างของชื่อซอยบนที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในอดีตกับปัจจุบันด้วยว่า จุฬาฯ ซอย 15 ในปัจจุบันที่ติดถนนพระราม 4 น่าจะเป็นซอย 4 ซอย 6 ในสมัยก่อน ส่วนจุฬาฯ ซอย 15 ในสมัยก่อน จะอยู่ฝั่งจามจุรีสแควร์ในปัจจุบัน 

 

ด้านหลังจามจุรีสแควร์เมื่อก่อนเป็นซอย 16 ร้านอาหารที่มีชื่อเสียงมากคือร้านสมบูรณ์ ต่อมาอยู่บรรทัดทอง ตอนนี้มีหลายสาขา ก็ต้องสอบถามคนที่รู้ในจุฬาฯ อีกที ทำไมเดี๋ยวนี้ย้ายซอย 15 ไปอีกฝั่ง นี่ก็เป็นความรู้ที่ผมต้องไปศึกษาต่อ 

 

อาจารย์อัมพันนั่งแถวที่ 2 คนที่ 5 ถ่ายที่โรงเรียนเดิมในสามย่าน 

 

สำหรับชีวิตครอบครัวซึ่งเป็นชาวจีนที่เคยอาศัยอยู่ในสามย่าน อาจารย์อัมพัน เล่าว่า “ตายายผม เป็นคนครึ่งแคระ ชอบค้าขาย ใช้หาบ ขายเต้าหู้ ถั่วงอก ก๋วยเตี๋ยว ที่วัดสามปลื้ม ส่วนยายผมจะไปขายที่วัดดวงแข ตอนเด็กๆ ผมเคยตามไปขาย 

แม่ผมทำงานบ้าน ดูแลพวกผมตอนเด็ก และทอผ้า ปั่นฝ้ายที่บ้านในสามย่าน มีเครื่องทอเป็นไม้ แม่รับฝ้ายมาทอเสร็จแล้วก็ไปส่ง วันหนึ่งค่าแรงเท่าไหร่ก็ส่งไปให้เจ้าของ พ่อผมก็เคยค้าขายครั้งหนึ่ง ขายนมสด ต้มนม ขายดี มีรายได้ ขายแถวสามย่าน”
 

ครอบครัวอาจารย์อัมพัน นอกจากจะทำการค้าขายแล้ว ในรุ่นคุณพ่อยังเคยเปิดโรงเรียนในสามย่านด้วย 

 

คุณพ่อของอาจารย์อัมพัน(สวมแว่น)


“พ่อผม เขาเป็นคนที่มีความรู้ เขาเป็นคนที่ทำงานให้กับสังคม ชอบทำงานให้กับสังคม เสียสละตัวเอง

แกไม่ชอบค้าขาย แล้วก็ห้ามลูกๆ ไม่ให้ค้าขาย ตอนนี้คิดแล้วก็แปลกเหมือนกัน 

พ่อเราเป็นคนที่ก้าวหน้ารักชาติ แล้วก็ช่วยเหลือคนจนมาตลอด พ่อผมเปิดโรงเรียนส่วนตัว สอนฟรีหมดเลย 


ชื่อโรงเรียนจิ้งกวง ของพ่อเราเอง เมื่อก่อนอยู่ปากซอยจุฬาฯ ซอย 15 (ซอย 15 เดิม ซึ่งในปัจจุบันคือฝั่งจามจุรีสแควร์) พักหลังพ่อก็ไปเป็นกรรมการโรงเรียนสิงฟ้า สมัยนี้โรงเรียนยังอยู่ แต่ย้ายไปอยู่คลองเตย 


ตอนนั้นโรงเรียนสิงฟ้าสอนฟรีหมด เผื่อนักเรียนคนไหนยากจนบ้านอยู่แถวนั้น แต่พักหลังคนไม่จนก็มาเรียนเยอะ เพราะเขาสอนดี ครูภาษาจีนเราสอนดีมาก เมื่อก่อนสอนภาษาจีนน้อยมาก คนที่ตั้งใจสอนมีความรู้น้อยมาก แต่โรงเรียนสิงฟ้ามีครูจีนเก่งๆ อยู่เยอะ มีอุดมการณ์ มาทุ่มเท มาสอนเพื่อสละให้สังคมเยอะมาก โรงเรียนสิงฟ้าค่อนข้างมีชื่อเสียง สอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการกำหนดเป็นภาษาไทย แต่ก็มีภาษาจีนที่เราสอนเมื่อก่อนมีกำหน ดว่าไม่เกิน 2-3 ชม. นอกนั้น ก็เป็นภาษาไทย 

 

พ่อผมอยู่ประเทศจีน ตระกูลเราค่อนข้างลำบาก ก็รู้สึกว่าการเป็นคนจน ค่อนข้างลำบากต้องการความช่วยเหลือ ดังนั้นในยามที่ฐานะเราดีขึ้นและก็มีความรู้ ก็เลยคิดว่าน่าจะทุ่มเทช่วยสังคม ช่วยคนไม่มีโอกาส คนด้อยโอกาส” อาจารย์อัมพันกล่าว        

 


สำหรับลักษณะพิเศษของสามย่าน ที่ทำให้มีการพัฒนาต่อเนื่องไม่หยุด อาจารย์ อัมพัน มองว่า “ผมว่าสามย่านเป็นศูนย์กลางใกล้กับเยาวราช เมื่อก่อนเยาวราชถือเป็นกรุงเทพฯ เจริญที่สุด แล้วสามย่านใกล้กับสีลม แล้วใกล้กับสุรวงศ์ แถบนี้เป็นร้านค้าที่เมื่อก่อนรุ่งเรืองมาก แล้วก็มีสยามสแควร์ มันเป็นศูนย์กลางมาก แล้ววัดหัวลำโพงเมื่อก่อนเป็นวัดที่ชุมชนคนยากคนจนไปอยู่วัดนี้เยอะ เดี๋ยวนี้กลายเป็นคนรวยไปจัดงานศพที่นั่น 


ผมโตอย่างผูกพันกับวัดหัวลำโพงมากๆ เพราะมีงานศพ งานประจำปี ผมต้องไปดูดนตรี ไปฟังดนตรี ผมเคยไปประกวดร้องเพลง (หัวเราะ)” 


ติดตามรายละเอียดความเป็นอยู่ของครอบครัวจากอาจารย์อัมพัน สมัยเป็นบ้านไม้และยังไม่มีน้ำปะปาบนที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมความเปลี่ยนแปลงหลังจากนั้นได้ ในเรื่องราวของชาวสามย่านผ่านประสบการณ์ของคนต่างรุ่น เร็วๆ นี้  
 
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog