Big Story 'มองไปข้างหน้า หลัง 20 ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง' ตอนที่ 2
คำประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ในรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ กลายเป็นผู้ร้ายในสายตาคนที่ได้รับผลกระทบ เพราะเป็นระเบิดลูกใหญ่ ทำให้ธุรกิจที่กู้ยืมเงินจากต่างประเทศในช่วงก่อนหน้านั้น ต้องเผชิญปัญหาหนี้ท่วม ปิดกิจการ ปลดคนงาน และฉุดรั้งตัวเลขเศรษฐกิจ หรือจีดีพีของไทยในปีต่อมา ให้ติดลบไปถึงร้อยละ 8
วันพุธที่ 2 กรกฎาคม 2540 รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ตัดสินใจประกาศลอยตัวค่าเงินบาท
เรื่องนี้นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เล่าย้อนหลังไว้ในหนังสือ "15 ปี วิกฤตเศรษฐกิจ 2540" โดยสำนักข่าวไทยพับลิก้า ระบุว่า หลังจากเขาเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน หรือ 11 วันก่อนวันประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ขณะนั้นประเทศไทยมีหนี้ต่างประเทศที่ยังไม่ได้ชำระมากถึง 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศเหลืออยู่เพียง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นทุนสำรองพึงใช้ได้ แค่ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เขาจึงมีเพียง 2 ทางเลือก คือ จะลอยตัวค่าเงินบาท หรือ ลอยตัวแบบมีการตั้งเพดาน
การตัดสินใจของทางการในเวลานั้น พร้อมกับคำสั่งระงับถอนเงินฝากชั่วคราว 16 สถาบันการเงิน การประกาศคุ้มครองเงินฝาก และอีก 1 เดือนต่อมา ก็สั่งให้ระงับการถอนเงินฝากชั่วคราวกับอีก 42 สถาบันการเงิน หลังประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ได้สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคเศรษฐกิจจริง โรงงานหยุดการผลิต โครงการอสังหาริมทรัพย์ถูกปล่อยทิ้งร้าง ธุรกิจหนี้ท่วม หลายแห่งต้องปิดกิจการ มีคนตกงานหลายแสนคน
ด้วยหนี้ต่างประเทศที่สูงมาก ทำให้รัฐบาลไทยต้องเข้าไปทำสัญญาขอกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ เข้ามากอบกู้เศรษฐกิจภายใน ซึ่งเงินกู้มาพร้อมกับเงื่อนไขที่เข้มงวด และในมุมหนึ่งฉุดให้เศรษฐกิจไทยในปี 2541 หดตัวรุนแรง ด้วยตัวเลขติดลบถึงร้อยละ 8
ในอีกมุมหลังประกาศลอยตัวค่าเงินบาท กลับสร้างอานิสงค์ให้กับภาคส่งออกไทย ทำให้หลังปี 2541 ภาคส่งออกไทยขยายตัวอย่างมากและเพิ่มสัดส่วนในจีดีพีจากร้อยละ 30 มาเป็นร้อยละ 60 และทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้ในเวลา 2-3 ปีหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง