ไม่พบผลการค้นหา
อาการของปอบ เช่น ไม่พูดไม่จา ไม่มองหน้า ไม่สบตาคน หรืออินดี้เก็บเนื้อเก็บตัวไม่สุงสิงกับใคร ไม่นับรวมอีกว่าหากเป็นคนสูงอายุที่เริ่มมีอาการเสื่อมทางสมอง ก็อาจยิ่งมีพฤติกรรมแปลกๆ เช่น การกินของที่ไม่น่ากิน และการไม่ยอมหลับยอมนอน เข้าตำราปอบเป๊ะ

ข่าวดังช่วงปลายเดือนมิถุนายน แต่ฮอตขนาดขึ้นหน้าฟีดบนเฟซบุ๊กต่อเนื่องมาอีกหลายวัน นอกจากจะมีเรื่องซีเรียสๆ แบบหอชมเมือง, แรงงานต่างด้าวแขวนพาสปอร์ตประชดกฎหมายใหม่ หรือข่าวขำขันแบบคำกลอนประเทศไทย 4.0 ของเพจกระทรวงหนึ่งที่ดูเด๋อๆ ยังมีประเด็นข่าวนึงที่ฉันตามติดชนิดอ่านมันทุกสำนัก นั่นก็คือ กรณีทั้งสัตว์ทั้งคนล้มหายตายจากแบบหาสาเหตุไม่ได้ ที่อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ ตัวการสำคัญที่สื่ออ้างอิงจากคำบอกเล่าของคนในพื้นที่ก็คือ “ชายต่างถิ่น” ที่ร่ำลือกันว่าฮีเป็น “ปอบ” นั่นเอง

“ปอบ” ถือเป็นความทรงจำยุค 90 ของฉัน เพราะจำได้ว่าตอนเด็กๆ มีเรื่อง “พระอุ้มหมา ชีอุ้มแมว” ที่เขาว่ากันว่าเป็นปอบ ใครสบตาต้องตาย เรื่องโคตรดังในภาคอีสาน ลุกลามขนาดมีคนบอกว่าเคยเจอที่กรุงเทพฯ แถวๆ บางบอนซึ่งใกล้บ้านฉันมาก เป็นปอบที่แอดวานซ์เดินทางขยายพื้นที่อิทธิพลแบบเก๋ๆ

 


ปอบในโลกบันเทิงแบบไทยๆ ดูเหมือนจะเทคโอเวอร์โดย “ผู้หญิง” แต่ในทางตรงข้าม
ทั้งเอกสารโบราณในบทความนี้ หรือแม้แต่ข่าวที่เกิดขึ้นงในหน้าหนังสือพิมพ์
บุรุษเพศก็ไม่พ้นถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบ

 

พอมานึกย้อนดีๆ ต้องยอมรับว่า “ปอบ” เป็นดาวค้างฟ้าในวงการผีบ้านเราอย่างแท้ทรู เพราะขณะที่ผีเก่าๆ ที่ต้องเจ๋งระดับนึงถึงขนาดเคยบันทึกในกฎหมายตราสามดวง เช่น “ฉมบ” และ “จะกละ” ถามทีเหอะว่าตอนนี้มีใครรู้จักบ้าง

สวนทางกับ “ปอบ” ที่วนเวียนขึ้นหน้าหนึ่ง แบบว่าย้อนกลับไปสิบหรือยี่สิบปีก็ต้องเจอข่าว ฉันคิดว่า “ปอบ” น่าจะข้ามผ่านเวลามาเป็นร้อยๆ ปี โดยใน “พระราชพงศาวดารเหนือ” มีการพูดถึงตำนานเรื่องพระยาตองอูสาวไส้ “พระร่วง” ออกมาใส่พานทอง และบอกว่าจากมูลเหตุนี้ทำให้แต่นั้นมา “ลาวมักเปนผีกินไส้กินพุงคนทั้งหลาย”

ขณะที่เอกสารสำหรับชนชั้นสูงภาคกลางขนานแท้อย่าง “วชิรญาณวิเศษ” รู้จักคำว่า “ปอบ” อย่างน้อยตั้งแต่ ร.ศ.111 หรือ พ.ศ.2435 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 โน่นเลยทีเดียว

ผู้เขียนเรื่องส่งลงพิมพ์ในวชิรญาณวิเศษ แน่นอนว่าต้องเป็นขุนน้ำขุนนางหรือเจ้านายราชนิกูล ยืนยันได้ว่าเรื่องของปอบโด่งดังระดับนึง โดยผู้เขียนบอกว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ร.ศ.111 ที่เมืองอุตรดิตถ์ มีชายคนหนึ่งชื่อ “ตาพวง” ถึงจะเป็นคนแก่แต่ก็ดูแฮนซั่มถึงขนาดในเอกสารบรรยายรูปลักษณ์ของแกไว้ว่า

"ผมหงอกขาวทั้งศีรษะ รูปร่างแหละผิวเนื้อเกลี้ยงเกลาผิดกว่าปรกติลาวโดยมาก ใครได้เห็นแกแม้แต่หนเดียว ถึงจะไปเจอที่ไหนอีก ก็เปนต้องจำได้"

วันหนึ่งแกถูกกระทำการร้ายกาจขนาดเผาเรือนกลางวันแสกๆ แถมมีพระสงฆ์ร่วมก๊วนเผากับเขาด้วย สืบความไปมาก็รู้เหตุผลว่า นอกจากตาพวงแกจะหล่อชิค “ผิดปกติลาว” แล้ว แกยังเป็น “คนต่างถิ่น” มาปลูกกระท่อมอยู่แถวๆ วัดปากฝาง แขวงเมืองอุตรดิตถ์

ไม่นานคนแถวนั้นที่ในเอกสารเรียกว่า “ลูกลาวชาวบ้าน” ก็ดันป่วยขึ้นมาดื้อๆ แถมไม่พูดไม่จา หมอผีมาถึงก็ฟันธงว่า “ปอบเข้า” และไม่ต้องเดา ผู้ได้รับตำแหน่งปอบก็คือตาพวงผู้มาใหม่นั่นเอง และท้ายที่สุดแกต้องหนีออกจากเมืองอุตรดิตถ์ ระหกระเหเร่รอนไปไหนไม่ทราบได้

ดูคุ้นๆ ไหมว่าเรื่องราวของปอบ ร.ศ.111 คล้ายกับปอบ พ.ศ. 2560 อย่างนึงคือ ทั้งคู่ต่างก็เป็น “คนต่างถิ่น” ซึ่งเดาได้ไม่ยากว่าความมีสิทธิ์มีเสียงคงเป็นเรื่องไกลตัว

ความ “อะไรเอ่ยไม่เข้าพวก” นี่แหละที่อาจทำให้แสดงอาการแปลกๆ ออกมา และถูกอนุมานเอาว่าเป็นอาการของปอบ เช่น ไม่พูดไม่จา (ก็ไม่รู้จักอะจะพูดไรด้วย) ไม่มองหน้า ไม่สบตาคน หรืออินดี้เก็บเนื้อเก็บตัวไม่สุงสิงกับใคร ไม่นับรวมอีกว่าหากเป็นคนสูงอายุที่เริ่มมีอาการเสื่อมทางสมอง ก็อาจยิ่งมีพฤติกรรมแปลกๆ เช่น การกินของที่ไม่น่ากิน และการไม่ยอมหลับยอมนอน เข้าตำราปอบเป๊ะ


“ปอบ” มีความไร้เหตุผลในบางอย่างอยู่ไม่น้อย
เช่น แม้จะถือกันว่าเป็นผีมีฤทธิ์มีแรง
แต่ดันกลัวอะไรจิ๊บๆ อย่าง พืชตระกูล “ไพล”
(แบบที่ใช้ทำน้ำมันไพลเขียวๆ สำหรับนวดนั่นแหละ) 

 

ในเชิงจิตวิญญาณเรื่องปอบถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางความเชื่อ ขณะที่ทางมานุษยวิทยา ศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักมานุษยวิทยาอาวุโส เคยให้ข้อเสนอไว้ว่าการกล่าวหาคนว่าเป็นผีเป็นสาง ถือเป็นการควบคุมทางสังคมอย่างหนึ่ง เพราะการกล่าวหามักมุ่งไปที่ผู้มีความประพฤติแปลกแยกจากสังคม หรือเรียกอีกอย่างว่าไม่อยู่ในรีตในรอย

น่าประทับใจอย่างยิ่งยวดที่เครื่องมือนี้ผ่านกาลเวลายาวนาน และยังถูกใช้ในยุค 4.0

ฉันว่าเรื่องของปอบ บอกเราได้อย่างนึง คือ ความไม่เหมือนคนอื่นอาจเป็นภัย (ขนาดตาพวงแกอาจจะดูดีโดยธรรมชาติยังกลายเป็นจุดจับผิด) สะท้อนสังคมแบบเด่นไม่ได้ แตกต่างก็ต้องเก็บไว้ในใจ ไม่แปลกที่หลายคนเลือกที่จะเออๆ ออๆ คิดอะไรทำอะไรเหมือนๆ กับคนอื่น

เขียนมาถึงตรงนี้ ฉันได้แต่ลองเช็คความเป็นปอบในตัวเอง และขอตั้งสัจว่า จะซ่อนไว้อย่างมิดชิด

 


เผื่ออยากอ่านเพิ่มเติม

ศรีศักร วัลลิโภดม, กฎหมายตราสามดวงกับความเชื่อของไทย, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2544, หน้าที่ 74-75. ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166 พิมพ์ตามฉบับหลวง ตาม 3 ดวง เล่ม 2, กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, 2529, หน้าที่ 263.

วชิรญาณวิเศษ, เล่ม 8 แผ่นที่ 10 วันพฤหัศบดีที่ 15 เดือนธันวาคม รัตนโกสินทร์ศก25 111

พงศาวดารเหนือ

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog