ไม่พบผลการค้นหา
2 กรกฎาคมปีนี้ เป็นวันครบรอบ 20 ปี วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เหตุการณ์สำคัญสร้างความบอบช้ำต่อชีวิตผู้เกี่ยวข้องรวมถึงระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะพลิกฟื้นฐานะทางเศรษฐกิจให้กลับเข้าสู่ภาวะปลดหนี้ เหตุการณ์ครั้งนั้นให้บทเรียนใดบ้าง

2 กรกฎาคมปีนี้ เป็นวันครบรอบ 20 ปี วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เหตุการณ์สำคัญสร้างความบอบช้ำต่อชีวิตผู้เกี่ยวข้องรวมถึงระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะพลิกฟื้นฐานะทางเศรษฐกิจให้กลับเข้าสู่ภาวะปลดหนี้ เหตุการณ์ครั้งนั้นให้บทเรียนใดบ้าง

วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หรือเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากระบบตะกร้าเงินที่เป็นอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ มาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวภายใต้การจัดการ ส่งผลให้ค่าเงินบาทที่เคยอยู่ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงไปแตะ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และไหลลงทำสถิติอ่อนค่าต่ำที่สุดที่ระดับ 56 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือลดค่าลงกว่าร้อยละ 55 ในเวลาไม่ถึง 7 เดือนหลังประกาศลอยตัวเงินบาท

เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยร่วมสมัย ที่ไม่เพียงทำให้เศรษฐกิจไทยต้องตกอยู่ในภาวะซบเซาหลายปี แต่ยังลุกลามไปยังประเทศเพื่อนบ้านรอบอาเซียน จนผู้คนทั่วโลกขนานนามว่า "วิกฤตต้มยำกุ้ง" 

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สรุปบทเรียนว่า ในช่วงทศวรรษ 2530 เศรษฐกิจไทยเฟื่องฟูมากๆ ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็เปิดเสรีทางการเงิน ผ่อนคลายกฎการเคลื่อนย้ายเงินทุนให้สะดวกขึ้น ในเวลาที่กรอบนโยบายการเงิน นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนภายในประเทศยังคงที่ ส่งให้เงินต่างประเทศทะลักเข้ามา 

เกิดเป็นความชะล่าใจจาก miracle (อภินิหาร) ของเศรษฐกิจในเวลานั้น ทำให้นักธุรกิจนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กล้าลงทุน กล้ากู้ยืมเงินจากต่างประเทศ จนเกินขอบเขต แล้วเกิดเป็น crisis (วิกฤต) อย่างไม่ทันตั้งตัว 

เพราะปมปัญหาที่ปะทุขึ้นเป็นวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 นั้น มีหลายปัจจัย อย่างที่ นายวิรไท ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน แจกแจงไว้ว่า เริ่มตั้งแต่การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคที่มีจุดเปราะบางหลายด้าน และมีสถาบันการเงินขนาดเล็กจำนวนมากที่ระดมเงินฝากให้ดอกเบี้ยสูงๆ แล้วนำเงินไปปล่อยกู้ในโครงการที่ไม่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ เกิดการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่สูงมาก จนเป็นการเก็งกำไร 

ขณะที่กฎเกณฑ์กำกับสถาบันการเงินก็ไม่รัดกุม เช่น ในตอนนั้นนิยามหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล คือการค้างชำระหนี้เกิน 1 ปี ทั้งที่มาตรฐานสากลให้นิยามเอ็นพีแอลคือ การค้างชำระหนี้เกิน 3 เดือนเท่านั้น เป็นต้น

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต จึงเป็นบทเรียนของการปรับปรุงกฎเกณฑ์กติกาการกำกับดูแลสถาบันการเงิน และมีพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ที่รัดกุมและปิดช่องโหว่ในอดีต ส่งผลให้สถาบันการเงินไทยแข็งแกร่งและเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2551-2552 น้อยมาก  


 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog