ไม่พบผลการค้นหา
สื่อของสหรัฐฯ เปรียบเทียบเนติวิทย์ กับโจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยฮ่องกง ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่มีจุดยืนต่อต้านอำนาจเผด็จการ แต่ระบุว่าการประเมินทัศนคติของคนไทยที่มีต่อรัฐบาลทำได้ยากถ้าหากไม่มีการเลือกตั้ง

สื่อของสหรัฐฯ เปรียบเทียบเนติวิทย์ กับโจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยฮ่องกง ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่มีจุดยืนต่อต้านอำนาจเผด็จการ แต่ระบุว่าการประเมินทัศนคติของคนไทยที่มีต่อรัฐบาลทำได้ยากถ้าหากไม่มีการเลือกตั้ง

นิตยสารไทม์ส สื่อของสหรัฐฯ เผยแพร่บทความเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในประเทศไทยหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นบทสัมภาษณ์นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยระบุว่าการเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและวัฒนธรรมเชิงอำนาจของนายเนติวิทย์ ทำให้เขากลายเป็น ‘คนนอก’ ของสังคมไทย แต่เขาก็ยังไม่หยุดเคลื่อนไหวและแสดงความคิดเห็นเพื่อให้สังคมไทยฉุกคิดถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น

ไทม์สรายงานว่านับตั้งแต่รัฐประหารในประเทศไทยเป็นต้นมา ผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลถูกจับกุม ตั้งข้อหาร้ายแรง รวมถึงถูกคุมขัง ทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัว ในขณะที่คนบางกลุ่มอาจรู้สึกว่าควรนิ่งเฉยเสีย แต่เนติวิทย์ยืนยันกับไทม์สว่าเขายังคงเคลื่อนไหวต่อเนื่อง เพราะ “ต้องการให้คนรู้ว่าพวกเขาสามารถทำอะไรบางอย่างได้จริง แทนที่จะแค่พูดหรือคิดว่าจะทำ”

เนติวิทย์เผยว่าคนรุ่นเดียวกับเขาอาจเป็นรุ่นสุดท้ายที่จำได้ว่าสังคมประชาธิปไตยเป็นอย่างไร แม้จะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็อาจดีกว่าคำโกหกและการกดขี่ให้นิ่งเงียบ และที่ผ่านมา เนติวิทย์ได้ตั้งคำถามกับค่านิยมในสังคมไทยหลายประการซึ่งทำให้เขาถูกคัดค้านอย่างหนักในตอนแรก ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์กฎระเบียบของโรงเรียนสมัยที่ยังเรียนชั้นมัธยมปลาย หรือการเลือกที่จะโค้งคำนับแทนการหมอบกราบในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณในฐานะนิสิตจุฬาฯ รวมถึงการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร และวิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐบาลที่เขารู้สึกว่าไม่ถูกต้อง ซึ่งเขาระบุว่าเมื่อเวลาผ่านไปก็ยิ่งมีคนเห็นด้วยกับเขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

 

ไทม์สระบุว่าเนติวิทย์ได้รับแรงบันดาลใจจากโจชัว หว่อง แกนนำกลุ่มคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงที่ร่วมชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองในฮ่องกงเมื่อปี 2557 และดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคเดโมซิสโตในปัจจุบัน โดยทั้งคู่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกัน ทั้งยังเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่ไม่ยอมนิ่งเฉยเช่นเดียวกัน และเนติวิทย์ยังได้เชิญให้หว่องมาร่วมงานวันครบรอบ 40 ปีเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปีที่แล้วด้วย แต่หว่องถูกคุมตัวที่สนามบินไทยและถูกส่งตัวกลับ โดยทางการไทยระบุว่าเพราะหว่องถูกขั้นบัญชีดำจากรัฐบาลจีน

สื่อสหรัฐฯ รายงานต่อไปด้วยว่าสถานการณ์ในประเทศไทยยุคพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีการชุมนุมประท้วงยืดเยื้อหรือใช้ความรุนแรงระหว่างกลุ่มที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน แต่รัฐบาลชุดนี้ก็ไม่ได้ยึดมั่นในคำสัญญาที่ระบุว่าจะเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง เพราะหลังจากการรัฐประหารเป็นต้นมา รัฐบาลก็ห้ามการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ และมีการควบคุมการแสดงความคิดเห็นอย่างเข้มงวด รวมถึงมีการบังคับใช้กฎหมายจับกุมและคุมขังผู้เห็นต่างจากรัฐ ทั้งยังไม่อาจรู้ได้เลยว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไปเมื่อใด ซึ่งการชี้วัดหรือประเมินความไม่พอใจของคนไทยที่มีต่อรัฐบาลทำได้ยากถ้าหากไม่มีการเลือกตั้ง ขณะที่ท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เปลี่ยนแปลงไป จึงไม่มีแรงก���ดันระหว่างประเทศมากนัก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog