ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ก่อตั้ง Hug Project โครงการช่วยเหลือเหยื่อขบวนการค้าประเวณีเด็กในจังหวัดเชียงใหม่ เป็น 1 ใน 8 ผู้ได้รับรางวัลต่อต้านการค้ามนุษย์ หรือ TIP Report Hero ของรัฐบาลสหรัฐฯ ประจำปีนี้

ผู้ก่อตั้ง Hug Project โครงการช่วยเหลือเหยื่อขบวนการค้าประเวณีเด็กในจังหวัดเชียงใหม่ เป็น 1 ใน 8 ผู้ได้รับรางวัลต่อต้านการค้ามนุษย์ หรือ TIP Report Hero ของรัฐบาลสหรัฐฯ ประจำปีนี้

คุณบุ๋ม มอสบี ผู้ก่อตั้ง Hug Project โครงการช่วยเหลือเยาวชนที่ตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์และค้าบริการทางเพศในจังหวัดเชียงใหม่ เป็น 1 ใน 8 ผู้ได้รับรางวัลนักต่อสู้การค้ามนุษย์และทาสสมัยใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ (TIP Report Hero Acting to End Modern Slavery Award) ประจำปี 2017 ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการจัดทำและเผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ หรือ TIP Report โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้จัดพิธีเปิดตัวรายงานประจำปี 2017 และมอบรางวัล TIP Report Hero ที่กรุงวอชิงตันดีซีของสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้ (27 มิถุนายน) 

เฟซบุ๊กของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ระบุว่าคุณบุ๋มได้รับรางวัลนี้จากการพัฒนาแนวทางการให้บริการด้านการป้องกันการค้ามนุษย์โดยให้ความสำคัญกับผู้เสียหายเป็นหลัก รวมถึงการร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็ก Children Advocacy Center ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์แรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และความสำเร็จของคุณบุ๋มบ่งชี้ว่า สังคมไทยและรัฐบาลจะสามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์จากการมุ่งดำเนินการตามนโยบายเพื่อปราบปรามการค้ามนุษย์ได้ต่อไปในอนาคต

ขณะที่คุณบุ๋มขึ้นกล่าวรับรางวัลที่กรุงวอชิงตันดีซี โดยข้อความตอนหนึ่งระบุว่า แม้รางวัลที่ได้จะพูดถึง Hero หรือวีรชน แต่ทุกคนที่ทำงานในด้านนี้ก็ไม่ได้มีพลังเหนือธรรมชาติ แต่การทำงานหนักและทีมงานที่เต็มไปด้วยผู้กล้าหาญส่งผลให้ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ซึ่งท้ายที่สุด เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความชั่วร้ายของการค้ามนุษย์ เราต่างต้องเลือกระหว่าง 'ไม่ทำอะไรเลย' หรือ 'ทำอะไรสักอย่าง'

ส่วนผู้ได้รับรางวัลนี้เช่นเดียวกับคุณบุ๋ม ได้แก่ อาลีกา คีแนน ชาวอาร์เจนตินาผู้รอดชีวิตจากขบวนการค้ามนุษย์ซึ่งเพิ่งชนะคดีฟ้องร้องค่าเสียหาย, ลีโอนาร์โด ซากะโมโตะ ผู้สื่อข่าวชาวบราซิลที่รายงานเปิดโปงขบวนการค้ามนุษย์, ซิสเตอร์วานญา จัสฟิน ผู้ก่อตั้งองค์กรการกุศลเพื่อช่วยเหลือเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ในแคเมอรูน, วิคตอเรีย เซเบลลี นักสังคมวิทยาและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวฮังการีซึ่งจัดทำวิจัยเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการกำหนดนโยบายต่อต้านขบวนการค้ามนุษย์

ตามด้วย มาเฮช ภควัต นายตำรวจในรัฐเตลังคานาของอินเดีย ซึ่งมีผลงานในการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์, อะมีนา อูฟรูคี ผู้พิพากษาในสังกัดกระทรวงยุติธรรมของโมร็อกโกซึ่งรับผิดชอบคดีเกี่ยวกับผู้หญิงและเด็ก และแอลลิสัน ลี จากไต้หวัน ผู้ร่วมก่อตั้งสหภาพแรงงานประมงต่างด้าว ซึ่งเป็นตัวแทนแรงงานชาวต่างชาติแห่งแรกในไต้หวัน

ทั้งนี้ รายงานการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ จัดทำขึ้นภายใต้กฎหมายป้องกันและคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ (Trafficking Victims Protection) และเป็นการประเมินผลดำเนินงานของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกเพื่อขจัดระบบทาสสมัยใหม่และการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า ที่ผ่านมาได้มุ่งมั่นร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยและประชาชนไทยในการปราบปรามการค้ามนุษย์มาตลอด

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทยในปีนี้ ไทยยังอยู่ในระดับ Tier 2 กลุ่มประเทศเฝ้าระวัง ซึ่งเป็นระดับเดิมกับปีที่แล้ว เนื่องจากรัฐบาลไทยยังไม่มีความคืบหน้าด้านการลงโทษเจ้าหน้าที่ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ และผู้ได้รับการช่วยเหลือจากขบวนการค้ามนุษย์ในปีที่ผ่านมาก็มีจำนวนลดลง และหากไทยอยู่ในระดับเทียร์ 2 ติดต่อกัน 2 ปีโดยไม่มีผลงานที่ดีขึ้น เมื่อถึงปีที่ 3 อาจจะถูกลดระดับไปอยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 ซึ่งเป็นกลุ่มรั้งท้ายโดยอัตโนมัติ

(ภาพจาก: U.S. Embassy Bangkok)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog