ไม่พบผลการค้นหา
รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี๊ด คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการมีอำนาจก็คือความสามารถในการจัดสรรและควบคุมทรัพยากรอยู่ที่ใคร และเป็นไปเพื่อเหตุผลอะไร 

รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี๊ด คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเสวนา "การเมืองกับประวัติศาสตร์-ประวัติศาสตร์กับการเมือง" ซึ่งจัดโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันนี้ (23 มิ.ย. ) ว่าการมีอำนาจก็คือความสามารถในการจัดสรรและควบคุมทรัพยากรอยู่ที่ใคร และเป็นไปเพื่อเหตุผลอะไร 

ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงของไทยนั้นมีระยะเวลาที่สั้นมาก กระบวนการนี้ในที่อื่น ก่อให้เกิดชนชั้นใหม่ๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ในสังคมไทยนั้นเป็นเรื่องของชนชั้นราชการและคนที่ได้รับการศึกษาสมัยใหม่เพียงเล็กน้อย แต่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ และหากมองฝรั่งเศสซึ่งที่สุดแล้วก็พัฒนาไปสู่เส้นทางประชาธิปไตย เราก็อาจจะอยู่บนเส้นทางนั้นเช่นกัน แต่การยักเยื้องของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ขอใช้คำศัพท์ง่ายๆ ว่าเป็นการปะทะกันระหว่างพลังเก่ากับพลังใหม่ 

อ่านเพิ่ม: 

สภาวะในปัจจุบันที่มีการปะทะรุนแรงมากกว่าที่เคยเกิดมาในประวัติศาสตร์เป็นการปะทะที่มีความสำคัญ เป็นพลังใหม่ที่สามารถรวบรวมฐานอำนาจขึ้นมาทำให้พลังเก่ามีความหวั่นไหวว่าจะเสียอำนาจไป และหวังว่าจะเป็นการปะทะกันครั้งสุดท้ายก็ได้เพราะเป็นการปะทะกันที่รุนแรงมากที่สุด

เมื่อมองในกรอบของเรื่องชนชั้น 24 มิถุนายน 2475  เป็นการเปลี่ยนแปลงโดยคนชั้นน้ำรุ่นใหม่ ชุดใหม่ที่มีฐานอำนาจที่แคบมาก

ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงการเมืองไทยต้องทำความเข้าใจบทบาทของสหรัฐอเมริกาด้วย ซึ่งมีบทบาทอยู่ในทุกช่วงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลัง 2475 เป็นต้นมา 

หลีง 2475 ผู้นำเผด็จการนั้นขึ้นมาโดยการสนับสนุนของอเมริกา นั่นก็คือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และต่อมาเมื่อเกิดการเลือกตั้ง ก็ได้รับการสนับสนุนและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของสหรัฐอเมริกาที่ต้องการขยายฐานอำนาจในอินโดจีน 

สำหรับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้นเป็นการรวมพลังที่ต่อต้านรัฐบาลทหาร แต่ไม่อาจจะเรียกว่าเป็นการต่อต้านระบอบทหาร ขบวนการนักศึกษาก็เป็นหนึ่งในหลายพลังที่ทำให้เกิดการล่มสลายของรัฐบาลทหาร อาจจะมีความเห็นที่ให้น้ำหนักว่านี่เป็นชัยชนะของขบวนการนักศึกษา แต่นักศึกษาเป็นแค่ส่วนประกอบของการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งกันในหมู่ผู้นำด้วยกันและการผสมโรงจากทางสหรัฐอเมริกาด้วย 

เมื่อถึงเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ก็จะเห็นบทบาทของสหรัฐอเมริกาก่อนหน้านั้น ว่ามีบทบาทในการเข้ามาส่งเสริมประชาธิปไตยผ่านการจัดอบรม การฝึกอบรมขบวนการทางสังคมต่างๆ 

นี่คือบทบาทภายนอกต่อการเมืองภายใน แม้จะบอกไม่ได้ว่าส่งผลแค่ไหน แต่สหรัฐอเมริกายังคงมีบทบาทและมีความสนใจต่อการเมืองภายในของไทยอยู่ หากเรามีรูปแบบการเมืองที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐ ก็อาจจะได้เห็นปรากฏการณ์ Bangkok Spring หรือ Thailand Spring ก็เป็นได้

นอกจากนี้ ทุนนิยมโลกก็มีบทบาทมาก และสิ่งที่เห็นในปัจจุบันคือการตื่นตัวของชนชั้นล่าง มีความตระหนักว่าผลประโยชน์ของเขาผูกอยู่กับระบบการเมือง 

หากจะลองปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของฝรั่งเศสกับประเทศไทย 23 ปีของนโปเลียนที่สามนั้นเศรษฐกิจเติบโตอย่างมาก มีการขยายตัวของลัทธิทุนนิยมเข้มแข็ง ขณะที่ไทยปัจจุบันอยู่ในช่วงถดถอยทางเศรษฐกิจ และพลังอะไรก็ตามที่กระทบความเป็นอยู่ของสังคมก็เป็นพลังที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ 

ประเด็นสุดท้าย คือการปะทะกันของสองกลุ่ม บางทีก็อาจจะไม่ใช่เรื่องของอุดมการณ์ แต่หัวใจคือใครจะเป็นผู้ที่มีอำนาจในการควบคุมทรัพยากร และใช้อำนาจนั้นในการแบ่งสรรทรัพยากรด้วย ตอนนี้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่ารัฐบาลปัจจุบันมีความสามารถมากในการเข้าไปจัดการทรัพยากรตามรูป แบบที่ต้องการ


หมายเหตุ

รายงานชิ้นนี้ถอดความจาก เวทีเสวนา การเมืองกับประวัติศาสตร์-ประวัติศาสตร์กับการเมือง จัดโดยภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โดยมีวัตถุประสงค์เผยแพร่ความรู้เรื่องเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศ.ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์,  ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี๊ด คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.ณัฐพล ใจจริง คณะสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏสวนสุนันทา
ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog