ไม่พบผลการค้นหา
Voice TV สำรวจสถานีรถไฟฟ้าทุกระบบ พบ มีสถานีที่ไม่ติดแผงกั้น 45 สถานี จากสถานีทั้งหมด 78 สถานีที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน

Voice TV สำรวจแผงกั้นรถไฟฟ้าทุกระบบทั้ง BTS, MRT และ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า มีสถานีที่ไม่ติดแผงกั้น 45 สถานี จากสถานีทั้งหมด 78 สถานีที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน หากลองแยกตามผู้ให้บริการ พบว่า

BTS มีสถานีที่ไม่ติดแผงกั้น 26 สถานี จากทั้งหมด 36 สถานี 

MRT ติดตั้งแผงกั้นทุกสถานี

แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ไม่ติดแผงกั้น 7 สถานี จากทั้งหมด 8 สถานี 

 

จำนวนคนใช้บริการรถไฟฟ้า

BTS ปี 2559 ยอดผู้โดยสารเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 647,752 คน ยอดโดยสารรวม 237,047,435 คน

MRT ปี 2559 ยอดผู้โดยสารเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 273,583 คน ยอดโดยสารรวม 100,106,000 คน

แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ยอดผู้โดยสารเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 45,545 คน(2014) ยอดโดยสารรวม 19,308,361 คน(2015)

NOW26 รายงานว่ามีอุบัติเหตุคนพลัดตกรางเฉพาะบน BTS อย่างเดียวถึง 16 ครั้งด้วยกัน ทาง Voice TV พยายามทำการรวบรวมอุบัติเหตุบนรางรถไฟฟ้าที่เคยเกิดขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถหาแหล่งที่มาได้ชัดเจน

อุบัติเหตุบนรถไฟฟ้าที่เคยเกิดขึ้น เท่าที่ค้นข้อมูลได้

1. 19 มิถุนายน 2560 เกิดอุบัติเหตุผู้โดยสารหญิงตั้งครรภ์ 6 เดือน พลัดตกรางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ที่สถานีบ้านทับช้างเสียชีวิต  

2. 7 กันยายน 2558 เกิดเหตุหญิงคนหนึ่งเป็นลมหมดสติ พลัดตกลงไปในรางรถไฟฟ้า BTS สถานีราชเทวี ทำให้ได้รับบาดเจ็บ โดยเจ้าหน้าที่ได้กดปุ่มหยุดรถฉุกเฉิน ทำให้ขบวนรถไฟฟ้าทั้งสายสุขุมวิทหยุดเดินรถชั่วคราว

3. 25 มิถุนายน 2558 เกิดอุบัติเหตุนักเรียนหญิงเป็นลมพลัดตกลงไปในรางรถไฟฟ้า BTS สถานีกรุงธนบุรี ขณะที่รถไฟฟ้ากำลังแล่นเข้าชานชาลา ทำให้ตู้ขบวน1 ตู้ คร่อมร่างเด็กนักเรียนหญิง  เจ้าหน้าที่ทำการตัดระบบไฟฟ้าเพื่อให้รถไฟฟ้าหยุดเดิน และสามารถช่วยเหลือนักเรียนหญิงได้อย่างปลอดภัย

4. 19 สิงหาคม 2557 น.ส.วรุณรัตน์ กาฬพันธุ์ หรือ ดิว ผู้ประกาศข่าวเที่ยง ทีวีดิจิตอล ช่อง 3 SD เป็นลมหมดสติตกลงไปในรางรถไฟฟ้า BTS สถานีหมอชิต แต่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำสถานีช่วยเหลือได้ทัน

5. 10 มกราคม 2555 นายวินัย วงศ์สุรวัฒน์ วูบพลัดตก BTS ราชเทวี ได้รับบาดเจ็บที่ศรีษะและหางคิ้วแตก และฟันหัก เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือและนำส่งโรงพยาบาล

6. 20 มกราคม 2553 นางจิราภรณ์ เกียรติชูศักดิ์ อายุ 49 ปี พนักงานธนาคารกรุงไทย พลัดตกลงไปในรางรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต สาเหตุเกิดจากสภาพการยื้อแย่งเบียดเสียดกันขึ้นและลงรถ ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะด้านหลังแตก เนื่องจากตกลงไปกระแทกพื้นคอนกรีต นำส่งโรงพยาบาล

 

Voice TV ได้สอบถาม MRT สายสีม่วง ถึงเรื่องความปลอดภัยในการใช้บริการ โดย MRT สายสีม่วงจะมีแผงกั้นทุกสถานี ซึ่งเป็นระบบประตูบานเลื่อนอัตโนมัติ ตัวสถานีมีประตูหนีไฟทุกสถานีติดกับชานชาลารอรถ มีพนักงานประจำทุกสถานีคอยดูและบริการผู้ที่ไม่สามารถดูและตัวเองได้หรือต้องการความช่วยเหลือ นอกจากนี้รถไฟยังมีกล้องวงจรปิดภายในตัวรถทุกขบวน

ในส่วนหลักการทำงานของพนักงานรักษาความปลอดภัยทั้งในยามปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน Voice TV ได้ความว่า พนักงานรักษาความปลอดภัยจะเป่านกหวีดรอบแรก เมื่อรถไฟฟ้าเข้าสู่ชานชาลามาระยะหนึ่ง และจะเป่านกหวีดอีกรอบ เมื่อผู้โดยสารเดินขึ้นรถไฟและประตูรถไฟเริ่มปิด โดยประตูจะมี 2 ชั้น ขณะที่ประตูกำลังจะปิดจะมีสัญญาณไฟปรากฏขึ้น หลังจากนั้นประตูจะเริ่มปิดจากด้านใน เมื่อถึงสถานีปลายทาง จะมีพนักงานรักษาความปลอดภัยตรวจภายในรถ กรณีที่มีผู้โดยสารไม่ได้ลงจากรถ (ปลุกยาก หรือ ลงผิดสถานี) จะมีพนักงานรักษาความปลอดภัยขึ้นไปอยู่กับผู้โดยบนขบวนคนหนึ่ง

ในกรณีฉุกเฉิน จะปรับเปลี่ยนการทำงานตามสถานการณ์ เช่น กรณีระบบรางเสีย ถ้าสามารถซ่อมได้จะทำการซ่อมเลย แต่ถ้าต้องใช้เวลาจะทำการเคลียร์ผู้โดยสารลงจากรถ และในกรณีรถเสียจะนำรถมาพ่วงพาไปสถานีที่ใกล้ที่สุด

พนักงานรักษาความปลอดภัยกล่าวกับ Voice TV ว่า "ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากตัวผู้โดยสาร เช่น เล่นโทรศัพท์ เสียบหูฟังฟังเพลง ไม่สนใจฟังเสียงประกาศหรือสัญญาณเตือน"

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog