ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลทหารเมียนมา ปัดเอี่ยวจ้างวานฆ่าทูต 'จอโมตุน' - สื่อเมียนมาตั้งข้อสังเกต ใครคือพ่อค้าอาวุธในไทย ผู้อยู่เบื้องหลังบงการแผนสังหารทูตประจำยูเอ็น

รอยเตอร์รายงานว่า สถานีโทรทัศน์ MRTV สื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลทหารเมียนมา ได้นำเสนอแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา โดยปฏิเสธไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนลอบทำร้ายทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติ นายจอ โม ตุน ซึ่งมีการเปิดเผยโดยหน่วยงานเอฟบีไอเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

แถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศเมียนมาซึ่งถูกเปิดเผยผ่านสถานีโทรทัศน์ MRTV ระบุว่า "เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นคดีภายในประเทศของสหรัฐฯ และการตัดสินโทษก็ต้องกระทำในดินแดนสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมายสหรัฐฯ ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับรัฐบาลเมียนมา" 

รอยเตอร์ไม่สามารถติดต่อโฆษกรัฐบาลทหารเพื่อสอบถามข้อมูลใดๆเพิ่มเติมต่อแผนการลอบสังหารหรือลอบทำร้ายดังกล่าวได้

สำหรับแผนสังหารหรือลอบทำราย เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติ จอ โม ตุน ถูกสกัดโดยสำนักงานสอบสวนพิเศษเอฟบีไอ โดยสำนักงานอัยการสหรัฐฯ เขตเซาท์เทิร์นของมลรัฐนิวยอร์ก ระบุว่าได้จับกุมชายชาวเมียนมาสองคนชื่อ พยอ เฮน ฮตุท อายุ 28 ปี และ เย เฮน ซอ วัย 20 ปี ในข้อหาวางแผนลอบทำร้ายร่างกาย 'จอ โม ตุน' ทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติ 

พยอ เฮน ฮตุท หนึ่งในชาวพม่าที่ถูกจับได้ให้การซัดทอดต่อเจ้าหน้าที่สืบสวนสหรัฐฯว่า ได้รับการจ้างวานจาก "นักค้าอาวุธรายหนึ่งในประเทศไทย" จากการติดต่อผ่านช่องทางออไนลน์ พร้อมเสนอเงินให้จำนวนหนึ่งเพื่อแลกกับการทำร้าย หรือสังหาร จอ โม ตุน หรือข่มขู่บีบบังคับให้เขาลาออกจากตำแหน่งทูตเมียนมาประจำยูเอ็น หากเขาไม่ยอมลาออก ชาวพม่าให้การว่าอาจนำไปสู่การวางแผนสังหารจอ โม ตุน ด้วยวิธีลักษณะที่ทำให้ดูคล้ายกับการเกิด 'อุบัติเหตุ'

ในคำให้การของผู้ต้องหาวัย 28 ปี กล่าวว่า เขาได้วางแผนเตรียมก่อเหตุให้ดูคล้ายกับว่าเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์กับทูตจอ โม ตุน โดยจะได้รับค่าจ้างจำนวน 4,000 ดอลลาร์ และจะได้เงินเพิ่มอีก 1,000 ดอลลาร์หากทำสำเร็จ ส่วนผู้จ้างวานในไทยที่ผู้ต้องหาให้การซัดทอดนั้น ระบุเพียงว่าเป็นนักธุรกิจผู้กว้างขวางในประเทศไทย โดยหากทั้งคู่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อกล่าวหาทำร้ายเจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติในแผ่นดินอเมริกัน พวกเขาอาจเจอโทษสูงสุด จำคุก 5 ปี

จอ โม ตุน เป็นเอกอัครราชทูตเมียนมา ประจำสหประชาชาติ เขาเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากการที่ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนคัดค้านการรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพ ท่ามกลางที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ พร้อมชูสัญลักษณ์ "สามนิ้ว" อันเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการในพม่า โดยหลังเหตุการณ์ดังกล่าวทูต จอ โม ตุน ได้ถูกรัฐบาลทหารสั่งปลดออกจากตำแหน่งทูตเมียนมาประจำยูเอ็น พร้อมแต่งตั้งทูตเมียนมาประจำยูเอ็นคนใหม่แทน แต่ทว่า นานาชาติในสหประชาชาติยังคงให้การรับรองจอ โม ตุน ในฐานะเป็นตัวแทนของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง พร้อมมีการสนับสนุนด้านความปลอดภัยแก่ทูตระหว่างพำนักในสหรัฐฯ


ใครอยู่เบื้องหลังบงการฆ่า 'จอ โม ตุน'

ในคำให้การของ พยอ เฮน ฮตุท และ เย เฮน ซอ ชายสัญชาติพม่าทั้งสองราย ให้การซัดทอดว่ารับเงินจากนายหน้าค้าอาวุธรายหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ขายอาวุธให้กับกองทัพเมียนมา ในการลอบสังหาร ข่มขู่ หรือทำร้ายเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำยูเอ็น จากรายงานของสำนักข่าวอิรวะดีระบุว่า เรื่องราวจากคำให้การของผู้ต้องการชาวพม่าทั้งสองรายนั้นถือว่ามีความน่าสนใจ แต่กลับมีการวางแผนที่ไม่ดีพอจึงถูกเอฟบีไอสกัดได้ก่อน โดยคำให้การนี้เป็นเครื่องบ่งชี้อย่างชัดเจนว่ามีระบบเครือข่ายภายนอกเมียนมาที่คอยดำเนินการให้การสนับสนุนรัฐบาลทหารทั้งทางตรงและทางอ้อม

ใครคือผู้ค้าอาวุธในประเทศไทย? เขาเป็นคนไทยหรือเมียนมาร์? สองคำถามนี้ สำนักข่าวอิรวะดีเชื่ออย่างสูงว่ามีแนวโน้มว่า "ผู้จ้างวาน" คนนั้นจะเป็นพลเมืองเมียนมา

'อิรวะดี' อธิบายว่า ในกรุงเทพฯ มีนักธุรกิจชาวเมียนมาที่มีชื่อเสียงและทรงอิทธิพล ดำเนินธุรกิจและพำนักในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ทำธุรกิจการค้าระหว่างชายแดนโดยเฉพาะการนำเข้าส่งออกสินค้า วัสดุก่อสร้าง เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ และอาวุธไปยังเมียนมา นักธุรกิจเหล่านี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพ โดยเฉพาะกับพล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายน์ ซึ่งนอกจากจะเป็นหัวหน้ารัฐบาลจากรัฐประหารแล้ว ยังเป็นผู้บริหารหรือมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับสองบริษัทโอลดิ้งที่อยู่ภายใต้เงากองทัพด้วย

นักธุรกิจและมหาเศรษฐีเมียนมาเหล่านี้มักปรากฏตัวในกรุงเทพมหานคร และออกรอบเล่นกอล์ฟกับบรรดานักการทูตหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเมียนมาด้วยกัน หรือแม้แต่กับบรรดานักธุรกิจของไทย

อิรวะดีได้ยกตัวอย่างหนึ่งในเศรษฐีและพ่อค้าอาวุธชาวเมียนมาที่ชื่อ เต ซา (Tay Za) ซึ่งเขาเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างบรรดานายพลเมียนมา กับบริษัทด้านยุทโธปกรณ์ของรัสเซีย เขาคือหนึ่งในพ่อค้าอาวุธชาวเมียนมาที่มีที่อยู่อาศัยทั้งในกรุงเทพฯ และสิงคโปร์ โดยเขาพิ่งปรากฏตัวในข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ จากการที่ที่รัฐบาลเมียนมาลงนามซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารและเครื่องบินรบจากรัสเซีย

พิ่งปรากฏตัวในข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ขณะที่รัฐบาลเมียนมาซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารและเครื่องบินรบจากรัสเซีย

สื่อเมียนมายังระบุอีกว่า ที่ผ่านมาเคยมีการหายตัวไปอย่างลึกลับและการสังหารชาวเมียนมาและผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์รวมถึงสมาชิกฝ่ายตรงข้ามกองทัพอยู่หลายครั้ง เมียนมาเคยเผชิญความพยายามลอบสังหานักการเมืองที่มีชื่อเสียง ดังเช่นในเดือนพฤษภาคม 2546 พบว่ารัฐบาลทหารอยู่เบื้องหลังของการซุ่มโจมตีขบวนรณรงค์หาเสียงของนางอองซานซูจี ในเมือง Depayin ของเขตสะกาย (Sagaing)

โดยแผนการดังกล่าวได้รับการอนุมัติ โดยผู้บังคับบัญชาสูงสุดของเมียนมาในขณะนั้น และโดยมีความเชื่อมโยงกับผู้บัญชาการระดับภูมิภาค เจ้าหน้าที่ตำรวจ และสมาชิกที่โดดเด่นของสมาคมมวลชนของระบอบการปกครองที่รู้จักกันในชื่อ Union Solidarity and Development Association (USDA) ประชาชนและกลุ่มนักรณรงค์เลือกตั้งหลายคนถูกสังหาร เหตุการณ์ดังกล่าวทั้งชาติเพื่อนบ้านของพม่า สหรัฐฯ รวมถึงสหประชาชาติต่างออกแถลงประณามและมาตรการคว่ำบาตรในเวลาต่อมา

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ปาโดห์ มาห์น ชาลาพัน ผู้นำระดับสูงของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ถูกชายชาวกะเหรี่ยงสองคนยิงเสียชีวิตที่บ้านพักของเขาที่แม่สอดไทย หลังการสอบสวนจึงพบว่าชายกะเหรี่ยงสองคนที่ลงมือสังหารได้รับการจ้างวานจากนายทหารระดับสูงของกองทัพเมียนมา

มกราคม 2560 อู โค นี (U Ko Ni) ที่ปรึกษากฎหมายของอองซาน ซูจี ถูกพบเสียชีวิตในเวลากลางวันแสกๆ ที่สนามบินนานาชาติย่างกุ้ง โดยพบว่ามือปืนรับจ้างและอดีตนายทหารหลายคนมีส่วนร่วมในการสังหารทนายความที่มีชื่อเสียง ซึ่งยังเป็นสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางซูจี 

ช่วงที่พม่าอยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพที่นำโดยนายพลตานฉ่วย ภายใต้ชื่อ สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Law and Order Restoration Council - SLORC) สถานทูตพม่าในไทย ได้ดำเนินการเฝ้าติดตามกิจกรรมความเคลื่อนไหวของบรรดาฝ่ายต่อต้นรัฐบาลทหารในกรุงเทพฯ และกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบตามแนวชายแดน หรือในช่วงปี 1990 พันเอกตาน ฉ่วย (ยศในขณะนั้น) เคยประจำการเป็นเจ้าหน้าที่ทหารของกองทัพพม่าและเป็นเจ้าหน้าที่ข่าวกรองที่เคยประจำการในสถานทูตพม่าในกรุงเทพฯ เป็นที่รับรู้ในวงกว้างว่าเขาได้ร่วมมือกับเครือข่ายผู้ทรงอิทธิพลในกรุงเทพฯ เพื่อสกัดความเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมที่ต่อต้านกองทัพรวมถึงชาวเมียนมาที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามซึ่งลี้ภัยในไทย ภายหลัง พล.ท. คิน ญุนต์ หัวหน้า SLORC ได้เลื่อนขั้นตานฉ่วนเป็นนายพลจัตวา พร้อมให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้า 'เมียนมาไทมส์' สื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลทหาร

อย่างไรก็ตามอิรวะดีระบุว่า เครือข่ายธุรกิจและอาชญากรรมที่เชื่อมโยงกับกองทัพเมียนมาในกรุงเทพฯ นั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด