ไม่พบผลการค้นหา
เตือนแนวโน้ม 'เงินฝืดเริ่มก่อตัวขึ้น' นักเศรษฐศาสตร์แนะ 3 ทางออกกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มเงินดิจิทัล - ตั้งงบขาดดุลเพิ่ม - ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1%

สุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญแรงกดดันกับภาวะเงินเฟ้อที่ติดลบในระดับต่ำต่อเนื่อง 3 เดือน อาจทำให้ภาวะเงินฝืดก่อตัวขึ้น และมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในระยะใกล้นี้ สภาวะเงินเฟ้อดังกล่าว หากเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี อยู่ที่ประมาณ 5-6% รายได้ของประชาชนดีขึ้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ แต่คาดว่าตัวเลขจีดีพีที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. จะประกาศในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ จีดีพีในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 จะแย่กว่าไตรมาสที่ 3 และจีดีพีทั้งปี 2566 อาจจะอยู่ที่ประมาณ 2% ขณะที่เงินเฟ้อ ส่วนตัวคาดว่าในช่วงเดือนต่อๆไป ยังอยู่ในอัตราเร่งตัวขึ้น จาก 0.83% ในเดือนธันวาคม 2566 เดือนต่อไปอาจอยู่ที่ 0.9% หรือ 1% ได้ 

สถานการณ์ดังกล่าวค่อนข้างสวนทางกับตัวเลขคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาว่า ปี 2566 จีดีพี จะอยู่ที่ 3.8% และอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.5 % และต่อจากนั้นมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้สถาบันการเงินทยอยปรับขึ้นตาม ทำให้ภาระการจ่ายหนี้สินของประชาชนเพิ่มมากขึ้น เงินเหลือใช้จ่ายน้อยลง จนทำให้ 

1.กำลังซื้อของประชาชนที่ลดลง เพราะรายได้ไม่เพิ่มขึ้น การจับจ่ายซื้อสินค้าบางอย่างจึง “รอได้” 

2.เงินบาทแข็งค่า ทำให้ราคาสินค้านำเข้ามีราคาถูกลง โดยเฉพาะสินค้าจากจีน ซึ่งปัจจุบัน จีนประสบปัญหาเศรษฐกิจ การจับจ่ายภายในประเทศลดลง จึงยอมลดราคาสินค้า เพื่อรักษาปริมาณการส่งออกสินค้า รักษาภาคการผลิต รักษาการจ้างงาน เราจึงได้เห็นสินค้าจากจีนในราคาถูกมาก เช่น ทิชชูแพคละ 1 บาท ส่งผลต่อเนื่องมายังสินค้าไทย เพราะนำเข้าถูกกว่าสินค้าที่ผลิต

สุวิทย์ เสนอทางออก ดังนี้ 

1.รัฐบาลต้องอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เช่น เงินดิจิทัล จากเดิมที่จะใช้ 500,000 ล้านบาท คงไม่เพียงพอกับภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงลึกกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ อาจเพิ่มขึ้นมาที่ 600,000-700,000 ล้านบาท และต้องเร่งทำ 

2.จัดงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้น 

3. ดอกเบี้ยนโยบายต้องลดลง ประมาณ 1% จากเดิม 2.5% ให้เหลือ 1.5% จะช่วยลดภาระประชาชนได้ มาก เติมกำลังซื้อให้ประชาชนทางอ้อม 

“หากเราลดดอกเบี้ยลง เข็มที่อยู่ใกล้ลูกโป่งซึ่งเปรียบเสมือนก้อนหนี้ที่ค่อยๆขยายตัว จะค่อยๆ ห่างออกจากกัน ที่ผ่านมายังคงตั้งคำถามกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ตอนนี้ภาระหนี้ประชาชนตึงตัวมาก หากดำเนินการตามข้อเสนอแนะ จะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย”  สุวิทย์ กล่าว