ไม่พบผลการค้นหา
'คำนูณ' สมาชิกวุฒิสภา เสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณา เปิดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อร่วมกันหาทางออกของปัญหาการเมืองที่รุมเร้า หวั่นเกิดเหตุรุนแรงซ้ำรอยอดีต '6 ตุลา 2519'

'คำนูณ สิทธิสมาน' สมาชิกวุมฒิสภา เสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาใช้อำนาจตามาตรา 165 เปิดประชุมรัฐสภาเพื่ออภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ เพื่อหารือทางออกปัญหาทางการเมือง หากทำได้เร็วก็จะยิ่งเกิดผลดี ที่ใกล้จะปิดสมัยประชุมแล้ว เพราะทุกคนไม่ต้องการเห็นการเมืองกลับไปยังจุดเดิม อย่างเหตุตุลาคม 6 ต.ค. 2519 เกิดการบาดเจ็บล้มตายกลายเป็นบาดแผลร้าวลึกในสังคม 

โดยยกตัวอย่างในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เคยดำเนินการมาแล้ว ช่วงเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองราวปี 2552-2553 และสามารถพิจารณาตั้งกรรมาธิการร่วมของ 2 สภาในการหาทางออกสำหรับปัญหาการเมือง ในระยะเวลาที่จำกัด เพราะเชื่อว่าจะได้ผลเป็นทางออกของปัญหาได้ 

โดยเห็นว่าแม้ ส.ว.เปิดอภิปรายได้ แต่อาจไม่มีประโยชน์ และสภาผู้แทนราษฎร ทำได้เช่นกัน แต่ก็ยังไม่เป็นประโยชน์เท่าที่ควร นอกจากนี้กฎหมายยังเปิดช่องให้ผู้นำฝ่ายค้านเห็นว่าเป็นปัญหาใหญ่เสนออภิปรายได้ของที่ประชุมร่วมรัฐสภา แต่กฎหมายกำหนดให้เป็นการประชุมลับ จึงเห็นว่าไม่ตอบโจทย์แนวทางแก้ปัญหาในสถานการณ์นี้ 

ส่วนสภาผู้แทนราษฎรที่มีกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกแบบให้ดำเนินการโดยฉันทามติของ 3 ฝ่ายคือ รัฐบาล-ฝ่ายค้าน-และวุฒิสภา เพราะฉะนั้นควรหารือร่วมวุฒิสภาด้วย ส่วนจะได้ผลอย่างไรก็เป็นเรื่องหนึ่ง เพราะหากสุดท้ายจะเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าใครเสนอ จะต้องด้รับเสียงเห็นชอบจากวุฒิสภา 1 ใน 3 ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

และเชื่อว่าทุกคนพร้อมรับฟังดำเนินการหากจะสามารถทำให้ประเทศชาติเดินหน้าได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการสรุปแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของกรรมาธิการของสภาฯ และไม่แน่ชัดข้อที่จะสรุปนั้นทางพรรคฝ่ายค้านจะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร หรือพรรครัฐบาลจะเห็นพ้องหรือไม่ 

โดยในขณะนี้นอกจากปัญหาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังมีปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองของคนสองรุ่น เชื่อว่านายกรัฐมนตรีอาจจะมีข้อมูล แต่เวทีของรัฐสภาออกแบบให้เป็นเวทีประกอบอำนาจ เชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ว.และ ส.ส.จะเป็นตัวแทนความคิดที่หลากหลายของสังคม 

ส่วนการแก้ไขรับธรรมนูญที่มีความเห็นเรื่องการตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และ ยกเลิก ส.ว.ตามตำแหน่งความมั่นคง คำนูณ กล่าวว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งทุกคนต่างมีความเห็นส่วนตัว แต่เห็นว่านาทีนี้ยังไม่ควรที่จะออกความเห็นไปก่อน เพราะยังไม่เห็นข้อสรุปของกรรมาธิการที่พิจารณาศึกษาอยู่และรอการสรุปที่ตกผลึกร่วมกัน จึงไม่ขอออกความเห็นส่วนตัว โดยเห็นว่าแม้จะชอบหรือไม่ชอบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 แต่ ส.ว.ก็มีส่วนร่วมในการโหวตยอมรับการแก้ไข หากไม่มีการทำรัฐประหาร ที่จะทำให้รัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไป