ไม่พบผลการค้นหา
การตายขณะถูกตำรวจจับกุมของ 'จอร์จ ฟลอยด์' ชาวอเมริกันผิวดำ เป็นชนวนประท้วง-จลาจลทั่วสหรัฐฯ ไม่ได้เกิดจากการเหยียดผิวอย่างเดียว รากเหง้าของปัญหาคือการใช้ความรุนแรงเกินเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐ และกลไกกำกับดูแลด้อยประสิทธิภาพ กระทบชาวอเมริกันทุกสีผิว

การประท้วงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ 'จอร์จ ฟลอยด์' ชาวแอฟริกันอเมริกัน วัย 46 ปี ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาว 'ดีเร็ก ชอฟวิน' จับใส่กุญแจมือไพล่หลัง พร้อมใช้หัวเข่ากดคอเพื่อตรึงลงกับพื้นถนน เป็นเหตุให้เขาหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา กลายเป็นชนวนประท้วงต่อเนื่องในหลายเมืองทั่วสหรัฐอเมริกา

จุดเริ่มต้นของการประท้วงเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 26 พ.ค. ในเมืองมินนิแอโพลิส รัฐมินนิโซตา ซึ่งเป็นที่เกิดเหตุ ก่อนจะลุกลามไปยังกรุงวอชิงตัน, นครนิวยอร์ก, ลอสแอนเจลิส, ชิคาโก, ฟิลาเดลเฟีย, เฟอร์กูสัน, บัลติมอร์ และแอตแลนตา ซึ่งในบางพื้นที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อสั่งเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกจากที่พักเวลากลางคืน

การประท้วงในหลายเมืองมีทั้งการชุมนุมโดยสงบ และการใช้ความรุนแรงก่อกวนเจ้าหน้าที่ มีการปาก้อนหินหรือของแข็งต่างๆ เข้าใส่ตำรวจและกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ มีการจุดไฟเผาสถานีและรถตำรวจ ขว้างระเบิดขวดจนเกิดไฟไหม้หลายจุด รวมถึงมีกลุ่มฉวยโอกาสปล้นร้านค้าหลายแห่ง เจ้าหน้าที่จึงตอบโต้ด้วยการยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตา รวมถึงใช้กระบองไล่จับกุม ทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งฝ่ายผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่

อย่างไรก็ตาม CBS News รายงานว่า 'ดีเร็ก ชอฟวิน' ถูกไล่ออก และอัยการรัฐตั้งข้อหา 2 กระทง ได้แก่ ฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา และ ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตโดยประมาท ส่วนตำรวจอีก 3 นายที่มีส่วนร่วมในการจับกุมฟลอยด์ถูกไล่ออก แต่การประท้วงในหลายพื้นที่ยังไม่สิ้นสุด เพราะผู้ชุมนุมในหลายเมืองได้ออกมาเรียกร้องความคืบหน้า และรำลึกถึงคดีอื่นๆ ที่ชาวแอฟริกันอเมริกันเสียชีวิตอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งจากเจ้าหน้าที่และผู้มีแนวคิดเหยียดผิว

กรณีของนครนิวยอร์ก มีคดีของ 'อีริก การ์เนอร์' ซึ่งคล้ายคลึงกับคดีของฟลอยด์ เนื่องจากเขาถูกเจ้าหน้าที่ล็อกคอจากด้านหลังและกดตัวลงกับพื้น ทำให้เขาร้องตะโกนว่า 'หายใจไม่ออก' แต่เจ้าหน้าที่ไม่ปล่อยตัว ทำให้เขาเสียชีวิตในเดือน ก.ค.2557 

ขณะที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย มีการชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ 'อาห์มัด อาร์เบอรี' ซึ่งถูกชายผิวขาวสองคนยิงเสียชีวิต ขณะกำลังวิ่งออกกำลังกายที่เมืองบรันสวิกเมื่อเดือน ก.พ.2563 ที่ผ่านมา โดยผู้ก่อเหตุยิงอ้างว่าอาร์เบอรีลักษณะคล้ายกับขโมยที่บุกรุกบ้านของพวกเขา แต่ความเป็นจริงแล้วอาร์เบอรีไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการปล้นดังกล่าว

ส่วนเมืองเฟอร์กูสัน รัฐมิสซูรี มีการประท้วงใหญ่เพราะเคยมีคดีของ 'ไมเคิล บราวน์' วัยรุ่นอายุ 18 ปี ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตเมื่อเดือน ส.ค.2557 หลังจากที่เขาถูกสั่งให้หยุดเพื่อค้นตัวขณะออกจากร้านขายของชำ และบราวน์ขัดขืนต่อสู้จนถูกยิง

แต่สาเหตุของความไม่พอใจเกิดจากการที่ศพของเขาถูกทิ้งไว้กลางถนนช่วงอากาศร้อนนานถึง 4 ช.ม. ต่างจากคดีอื่นๆ นำไปสู่ข้อกล่าวหา "ตำรวจผิวขาวเลือกปฏิบัติต่อคนผิวดำ" จนกลายเป็นชนวนประท้วงใหญ่และการจลาจล ทำให้ผู้ว่าการรัฐประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อให้กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิเข้าไปตรึงกำลังเช่นกัน

REUTERS-ประท้วงการตายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำที่ถูกตำรวจควบคุมตัว มินเนอาโปลิส สหรัฐอเมริกา-1.JPG

กรณีของ 'ไมเคิล บราวน์' เปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

การเสียชีวิตของ 'ไมเคิล บราวน์' เกิดขึ้นก่อนกรณี 'จอร์จ ฟลอยด์' นานเกือบ 6 ปี ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางประการในสังคมอเมริกัน เพราะกลุ่มคนที่เข้าร่วมต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่บราวน์ไม่ได้มีแค่ชาวแอฟริกันอเมริกันเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการผสมผสานของประชาชนและนักสิทธิมนุษยชนเชื้อชาติต่างๆ รวมถึงชาวอเมริกันผิวขาวที่ต่อต้านแนวคิด White Supremacy ที่มองว่า 'คนขาว' เหนือกว่าคนผิวสีอื่นๆ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2557 หลังจากมีการประท้วงใหญ่ต่อเนื่องนานนับสัปดาห์ที่เมืองเฟอร์กูสันและเมืองใกล้้เคียง นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวซึ่งยิงบราวน์เสียชีวิต แต่เขาระบุว่าบราวน์พยายามขัดขืนการจับกุม เป็นเหตุให้ชักปืนออกมายิง เจ้าหน้าที่จึงรอดพ้นจากการตั้งข้อหาและดำเนินคดี เพราะถือว่าเป็นการทำตามหน้าที่

อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของบราวน์มองว่าการเพ่งเล็งและเลือกที่จะตรวจค้นตัวบราวน์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สะท้อนอคติที่มีต่อคนผิวดำ และแม้บราวน์จะขัดขืนการจับกุม แต่เขาไม่มีอาวุธอย่างที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้างในตอนแรก

นอกจากนี้ รายงานการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงโดยคณะทำงานอิสระบ่งชี้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองเฟอร์กูสัน 'ละเมิดสิทธิ' ชาวแอฟริกันอเมริกันจริงๆ อย่างเป็นประจำและเป็นระบบ อ้างอิงการสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลสถิติย้อนหลังไปหลายปี พบว่าตำรวจในเฟอร์กูสันมักพุ่งเป้าตรวจค้นหรือสกัดผู้ขับขี่รถยนต์ที่เป็นชาวแอฟริกันอเมริกันมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ ที่พบบนท้องถนน ซึ่งกรณีของบราวน์ก็เป็นเช่นเดียวกัน ทั้งยังมีการร้องเรียนกรณีเจ้าหน้าที่การใช้กำลังเกินกว่าเหตุในการจับกุมชาวแอฟริกันอเมริกันด้วย

The New York Times รายงานว่า ความตายของบราวน์ นำไปสู่การปรับกฎเกณฑ์การปฏิบัติหน้าที่ที่เข้มงวดขึ้น ตำรวจต้องติดกล้องวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ขณะจับกุม แต่หลายครั้งก็ยังเกิดการใช้กำลังเกินกว่าเหตุแก่ผู้ที่ไม่มีอาวุธ และเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกล้อง หรือ 'กล้องขัดข้อง' จนไม่อาจบันทึกเตุการณ์ขณะจับกุมได้เป็นจำนวนมาก สะท้อนว่าการบังคับติดตั้งกล้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ได้ช่วยอะไรมากนักในการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักการ 'พิทักษ์และบริการ' ประชาชน (Serve and Protect) ของสำนักงานตำรวจ

นอกจากนี้ VOX ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา พลเมืองอเมริกันเฉลี่ย 1,000 คนถูกตำรวจยิงเสียชีวิตในแต่ละปี โดยครึ่งแรกของปี 2562 มีชาวอเมริกันถูกตำรวจยิงเสียชีวิตโดยที่ยังไม่มีการตั้งข้อหา และบางครั้งยังเป็นเพียงผู้ต้องสงสัย รวมกว่า 540 คน

ประชากรที่ถูกตำรวจยิง 'มากกว่าครึ่ง' เป็นชาวอเมริกันผิวขาว ส่วนชาวอเมริกันผิวดำที่ถูกยิงเสียชีวิตคิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของผู้ถูกยิงทั้งหมด แต่หากเทียบสัดส่วนประชากรที่เป็นชาวอเมริกันผิวดำ ซึ่งคิดเป็น 13 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในสหรัฐฯ ทั้งหมด ทำให้ตัวเลข 25 เปอร์เซ็นต์เป็นนัยบ่งชี้สำคัญว่าชาวอเมริกันผิวดำถูกยิงเสียชีวิตเฉลี่ย 'มากกว่า' คนผิวขาวที่เป็นประชากรอเมริกันส่วนใหญ่ (76.5 เปอร์เซ็นต์)

REUTERS-ประท้วงการตายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำที่ถูกตำรวจควบคุมตัว มินเนอาโปลิส สหรัฐอเมริกา-3.JPG

รากเหง้าของปัญหา 'เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ'

กลับมาสู่ปี 2563 การประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ 'จอร์จ ฟลอยด์' ถูกขับเคลื่อนในหลายพื้นที่โดยสมาชิกกลุ่ม Black Lives Matter ที่ตั้งขึ้นเพื่อปกป้องสิทธิของชาวแอฟริกันอเมริกัน แต่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนจำนวนไม่น้อยระบุว่า ปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่แค่เรื่องแนวคิดเหยียดเชื้อชาติ-สีผิว แต่เป็นเพราะวัฒนธรรมการใช้ความรุนของของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชนที่หยั่งรากลึกในสังคมอเมริกัน 

สารานุกรม Britanica บันทึกว่า ปัญหาตำรวจใช้ความรุนแรงต่อประชาชนอเมริกันนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยผู้ที่ถูกตำรวจอเมริกันเลือกปฏิบัติและใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุในการควบคุมและปราบปราม มีตั้งแต่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชาวแอฟริกันอเมริกัน ประชาชนที่ต่อต้านการเหยียดผิว กลุ่มสิทธิสตรี กลุ่มหลากหลายทางเพศ และกลุ่มผู้อพยพ โดยวิธีการที่ตำรวจอเมริกันในอดีตใช้กับคนกลุ่มนี้ มีทั้งการฆาตกรรม การไล่ล่า คุกคาม การแทรกแซงให้เกิดจลาจลและความวุ่นวาย

เดฟ บิกกิงส์ คณะกรรมการบริหาร Communities United Against Police Brutality (CUAPB) องค์กรให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสหรัฐฯ กล่าวกับ The New York Times ว่า ความพยายามจะปฏิรูปหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้อำนาจเกินขอบเขตของตำรวจอเมริกันเกิดขึ้นนานแล้ว แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก เพราะสหภาพตำรวจที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้กับเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกร้องเรียน ทำให้ไม่มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทำผิด เมื่อผนวกกับอคติที่เกิดจากแนวคิดเหยียดเชื้อชาติ-สีผิว ยิ่งทำให้ประชาชนไม่พอใจตำรวจมากขึ้น

กรณีของสำนักงานตำรวจมินนิแอโพลิส ต้นสังกัดของ 'ดีเร็ก ชอฟวิน' มีประวัติถูกร้องเรียนเรื่องเหยียดเชื้อชาติและใช้กำลังรุนแรงเกินกว่าเหตุกับประชาชน แต่ตำรวจที่ถูกพักงานหรือถูกปลดมักจะได้รับการแต่งตั้งกลับมารับตำแหน่งเดิม เพราะมีกลไกยื่นอุทธรณ์ ขณะที่การสอบวินัยดำเนินการภายในองค์กร แม้จะมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่พลเรือนเข้าไปมีส่วนร่วม ก็ไม่อาจดำเนินคดีหรือเอาผิดเจ้าหน้าที่ได้มากนัก เพราะกระบวนการตัดสินมักอ้างอิงคดีที่คล้ายคลึงกันที่เคยเกิดขึ้นไปแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยมีการลงโทษเจ้าหน้าที่

สถิติที่ CUAPB รวบรวมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าตำรวจทั่วประเทศถูกร้องเรียนจากการคุกคามและใช้กำลังเกินกว่าเหตุแก่กลุ่มประชากรผิวดำ ชนพื้นเมืองอเมริกัน ผู้อพยพ ผู้มีเชื้อสายฮิสปานิก และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ แต่ 2 ใน 3 ของตำรวจซึ่งถูกสอบสวน ถูกพักงาน หรือปลดจากตำแหน่งชั่วคราว หลังจากนั้นก็มักจะถูกตัดสินให้รอดพ้นจากข้อกล่าวหาต่างๆ และได้รับตำแหน่งกลับคืนมา

ไชลา ดีแวน และเซอร์เก โควาลสกี ผู้สื่อข่าวอาชญากรรมและผู้สืบข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนของ The New York Times ระบุเพิ่มเติมว่า 'ดีเร็ก ชอฟวิน' ถูกร้องเรียนจากประชาชนมาแล้ว 17 ครั้งตลอดชีวิตการทำงานของเขาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และไม่มีครั้งไหนส่งผลกระทบจนเขาต้องถูกสั่งพักงาน ข้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องการใช้กำลังรุนแรงและละเมิดสิทธิของพลเรือนชาวแอฟริกันอเมริกัน

ส่วนหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์อังกฤษ Daily Mail รายงานว่า ฟลอยด์มีประวัติอาชญากรรมมาก่อนเช่นกัน โดยเป็นคดีที่มีบทลงโทษไม่รุนแรง เช่น บุกรุกพื้นที่ส่วนบุคคล ทะเลาะวิวาท แต่คดีสุดท้ายทำให้เขาถูกตัดสินจำคุกนาน 2 ปี คือ การบุกปล้นบ้านผู้หญิงคนหนึ่ง ทั้งยังใช้อาวุธปืนข่มขู่ เข้าข่ายคุกคาม

อย่างไรก็ตาม หลังจากถูกปล่อยตัวจากเรือนจำในรัฐเท็กซัสเมื่อปี 2552 ฟลอยด์ได้ย้ายไปหลายที่ จนกระทั่งมาพำนักที่รัฐมินนิโซตาในปี 2557 แต่ไม่มีประวัติการก่อเหตุใดๆ ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ฟลอยด์ถูกจับเมื่อวันที่ 25 พ.ค. เป็นเพราะเขาเข้าไปซื้อบุหรี่ในร้านขายของชำด้วยแบงก์ 20 ดอลลาร์ปลอม คนในร้านจึงโทรแจ้งตำรวจ และฟลอยด์รออยู่ในรถที่จอดอยู่หน้าร้าน เมื่อตำรวจมาถึง เขาถูกสั่งให้ลงจากรถเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใส่กุญแจมือ แม้คลิปวิดีโอที่มีผู้บันทึกเหตุการณ์จะบ่งชี้ว่าฟลอยด์ไม่ได้ขัดขืนการจับกุม แต่เจ้าหน้าที่ยังกดตัวเขาลงกับพื้นในลักษณะคว่ำหน้า และใช้หัวเข่ากดต้นคอนานกว่า 8 นาที จนฟลอยด์หมดสติและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: