ไม่พบผลการค้นหา
'ชวลิต' เปรียบเปรยชาวนาไทยปัจจุบันอยู่ในภาวะ "กระดูกสันหลังผุๆ" ย้ำหากไม่มีฝ่ายการเมืองทำนโยบายเข้มแข็ง ยากจะแปรวิกฤตให้เป็นโอกาส รัฐบาลเยียวยาเกษตรกรไว้หลังสุด แต่วาดภาพฝันประเทศไทยจะผลิตอาหารป้อนชาวโลก

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. นครพนม พรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นว่าวิกฤตไวรัสโควิต-19 ระบาดทั่วโลกครั้งนี้ ส่งผลกระทบมากมายหลายด้าน และหนึ่งในผลกระทบที่คาดว่าโลกจะขาดแคลน คือ "อาหาร" จะเกิดยุคข้าวยาก หมากแพง ตามมาอย่างแน่นอน ทั้งที่ประเทศไทยเป็นเมืองเกษตร เกษตรกรผลิตอาหารป้อนคนไทย และชาวโลกมาช้านาน อย่างคราววิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 ภาคเกษตรช่วยพยุงชนบท พยุงเมือง และประเทศไทยให้รอดพ้นวิกฤตมาได้อย่างน่าชื่นชม

แม้เกษตรกรจะได้รับการยกย่องเสมอมาว่าเป็น "กระดูกสันหลังของชาติ" แต่ในข้อเท็จจริงสภาพของเกษตรกรไทยปัจจุบัน เปรียบเสมือน "กระดูกสันหลังผุๆ" นับวันโรยรา ผุกร่อน ไปตามกาลเวลาที่ผ่านไป หากไม่มีการเมืองที่เข้มแข็งในนโยบาย ให้ความสำคัญกับเกษตรกรอย่างแท้จริงมาอุ้มชูในด้านนโยบาย ก็ยากอย่างยิ่งที่จะแปรวิกฤตให้เป็นโอกาสตามที่หลายฝ่ายตั้งความหวังไว้

เห็นได้จากจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผ่านมาที่ทำให้เกษตรกร โดยเฉพาะชาวนาอ่อนแอลง คือ การมุ่งทำลายล้างโครงการจำนำข้าวและผู้ดำเนินนโยบาย แม้กระทำสำเร็จ แต่ในอีกด้านหนึ่งเท่ากับ "ฆ่าชาวนา" เพราะไม่มีนโยบายที่เหมาะสมมาทดแทน ชาวนาจึงลำบากยากเข็ญ

ช่วงดำเนินนโยบายโครงการรับจำนำข้าว ชาวนาเริ่มลืมตาอ้าปากได้ เริ่มหมดหนี้สิน เมื่อเลิกหรือทำลายนโยบายนี้ สถานการณ์ได้กลับตาลปัตร ชาวนายากจนโดยฉับพลัน ปัจจุบันหนี้สินรกรุงรัง หมดกำลังแรงใจในการทำอาชีพเกษตรกรไปมากมาย  

ดังนั้น ก่อนที่จะวาดความฝันสวยหรู ว่าประเทศไทยจะผลิตอาหารปลอดภัยป้อนคนไทย และป้อนชาวโลก แปรวิกฤตให้เป็นโอกาส เราควรมาช่วยกันดูแลเยียวยาให้ชาวนามีกำลัง มีแรงใจที่จะผลิตอาหารก่อน น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด เพราะผลผลิตจะดีได้ ผู้ผลิต คือ ชาวนา จะต้องมีความพร้อมในการผลิต ในการเพาะปลูก

รัฐบาลนี้บริหารจัดการเยียวยาเกษตรกรไว้หลังสุด ทั้งๆ ที่เกษตรกรเดือดร้อนสะสมมาเป็นเวลา 6 ปี ที่สินค้าเกษตรแทบทุกตัวราคาตกต่ำ เกษตรกรจึงมีแต่หนี้สินดังกล่าวข้างต้น แล้วจะมีกำลังแรงใจผลิตอาหารป้อนคนไทย ป้อนชาวโลก ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร

พรรคเพื่อไทยได้เสนอให้มีการเยียวยาเกษตรกร ครัวเรือนละ 35,000 บาท เพราะเริ่มฤดูกาลผลิตปี 63/64 พอดี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิต ตั้งแต่ค่าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ค่าไถพรวน ฯลฯ และเยียวยาภัยแล้ง น้ำท่วม ที่รัฐบาลค้างจ่าย รวมทั้งเป็นค่าดำรงชีพ 3 เดือนๆ ละ 5,000 บาท ก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่รัฐบาลเยียวยาเกษตรกรเพียง รายละ 5,000 บาท รวม 3 เดือน เป็นเงิน 15,000 บาท ซึ่งถ้าเป็นพรรคเพื่อไทย จะเยียวยาเกษตรกร ครัวเรือนละ 35,000 บาท ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้แทนประชาชน ขอให้กำลังใจเกษตรกร พวกเราจะทำหน้าที่อภิปรายในสภาฯ เรียกร้องการเยียวยาเกษตรกรให้เหมาะสมเพื่อให้เกษตรกรมีพลังในการทำหน้าที่ผลิตอาหารป้อนคนไทย ป้อนชาวโลก ในยุคข้าวยากหมากแพง เพื่อร่วมกันแปรวิกฤตให้เป็นโอกาสให้เป็นจริง ในชั้นนี้ บรรดา ส.ส.ต่างออกเยี่ยมเยียนให้กำลังใจประชาชน โดยเฉพาะให้กำลังใจเกษตรกร ขออย่าท้อถอย พวกเราจะทำหน้าที่สนับสนุนท่านอย่างดีที่สุดแม้จะเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ก็จะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในสภาฯ