ไม่พบผลการค้นหา
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแถลงหลังจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเรียกร้องของนักกิจกรรมสามคนที่เป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวให้มีการปฏิรูปสถาบันระหว่างการชุมนุมเมื่อปี 2563 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เอ็มเมอร์ลีน จิล รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า แม้คำวินิจฉัยนี้จะไม่มีบทลงโทษหรือค่าปรับ แต่มีผลกระทบเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เป็นสัญญาณอันตรายสำหรับประชาชนชาวไทยหลายหมื่นคนที่แสดงความเห็นหรือวิจารณ์อย่างชอบธรรมต่อบุคคลสาธารณะหรือสถาบัน ทั้งโดยการแสดงความเห็นทางตรงหรือแสดงความเห็นทางออนไลน์ ซึ่งอาจนำไปสู่การดำเนินคดีข้อหาร้ายแรงต่อแกนนำทั้งสามคนและบุคคลอื่น ๆ อีกมาก โดยฐานความผิดล้มล้างการปกครองนี้มีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษประหารชีวิต 

"ถ้าคำวินิจฉัยนี้มีเจตนาเพื่อทำให้ประชาชนหวาดกลัว และขัดขวางพวกเขาจากการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ ผลที่ออกมาจะตรงกันข้าม ดังที่เห็นจากการติดแฮชแท็กอย่างกว้างขวาง การส่งทวิต และข้อความทางโซเชียลมีเดียมากมายทันทีหลังศาลมีคำวินิจฉัย ประชาชนชาวไทยกว่า 200,000 คนได้ลงนามในจดหมายเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ในประมวลกฎหมายอาญาของไทย”  

"เป็นความย้อนแย้งอย่างยิ่งที่คำวินิจฉัยนี้มีขึ้นในวันเดียวกันกับที่มีกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หรือ UPR รอบที่สามของประเทศไทย ตามวาระขององค์การสหประชาชาติที่กรุงเจนีวา โดยในรอบก่อนหน้านี้ ประเทศไทยได้ปฏิเสธข้อเสนอแนะจากประเทศต่างๆ ในที่ประชุม UPR ที่เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งถือเป็นสัญญาณต่อประชาคมระหว่างประเทศว่าประเทศไทยไม่มีเจตนาใดๆ ที่จะดำเนินการเพื่อให้กฎหมายนี้มีเนื้อหาสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในแง่การคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก”  

"คำวินิจฉัยนี้ฉายเงามืดหม่นทาบทับประเทศไทยที่เริ่มเปิดพรมแดนต้อนรับนักท่องเที่ยวจากนานาชาติ นับเป็นเรื่องน่ากังขาในเจตนาของรัฐบาลไทยที่แสดงท่าทีต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาพักผ่อนในประเทศ แต่กลับจำกัดและกดขี่สิทธิของคนไทยเอง”   

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของไทยวินิจฉัยว่า คำปราศรัยเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ของนักกิจกรรม รวมทั้งอานนท์ นำภา (37 ปี) ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (23 ปี) และภาณุพงศ์ จาดนอก (24 ปี) มี “เจตนาซ่อนเร้น” และเป็นความพยายามล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข   

เป็นคำปราศรัยในช่วงที่เริ่มมีการชุมนุมครั้งใหญ่ในประเทศเมื่อปีที่แล้ว รวมทั้งข้อเรียกร้องที่ไม่เคยมีมาก่อนเพื่อให้มีการปฏิรูปสถาบันที่ทรงอำนาจ และให้ตรวจสอบสถานะทางการเงินของสถาบัน ส่งผลให้เกิดการอภิปรายอย่างกว้างขวาง และเป็นการทำลายข้อห้ามที่มีมาแต่เดิมเกี่ยวกับการอภิปรายถึงสถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผย   

ศาลระบุว่า คำปราศรัยเหล่านี้ไม่ได้เป็นข้อเรียกร้องเพื่อการปฏิรูป และระบุว่าพระมหากษัตริย์กับชาติไทย ดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกันและ “ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้” ทั้งยังสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหารวมทั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายยุติปฏิบัติการแบบเดียวกัน ไม่มีการกำหนดบทลงโทษจากคำตัดสินนี้ แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าจะเป็นบรรทัดฐานที่นำไปสู่การดำเนินคดีในข้อหาเพิ่มเติมต่อแกนนำทั้งสามคน รวมทั้งข้อหายุยงปลุกปั่นและขบถ