รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ยอมรับว่า น้ำมังคุดสกัดเข้มข้น และมังคุดผงสกัดชนิดแคปซูล มีพฤติกรรมเข้าข่ายโฆษณาเกินจริง เนื่องจากผู้ประกอบการขอขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องดื่มและอาหารเสริม
รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ยอมรับว่า น้ำมังคุดสกัดเข้มข้น และมังคุดผงสกัดชนิดแคปซูล มีพฤติกรรมเข้าข่ายโฆษณาเกินจริง
เนื่องจากผู้ประกอบการขอขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องดื่มและอาหารเสริม แต่อวดอ้างสรรพคุณบรรเทาโรคมะเร็ง โดยใช้คำว่า 'ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น' ขณะนี้ทีมนักวิจัยย้ำว่า ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ชนิดไม่ใช่ยา และไม่เคยอวดอ้างว่ารักษาโรคมะเร็งได้
เภสัชกรหญิง ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. กล่าวว่า จากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ 2ชนิด คือ น้ำมังคุดสกัดเข้มข้น 80เปอร์เซ็นต์ ยี่ห้อมายเฮลท์ และมังคุดผงสกัดชนิดแคปซูล ยี่ห้อ BIM (บิม) ซึ่งจัดจำหน่ายโดย บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน)
พบความผิดปกติเกี่ยวกับการโฆษณาเกินจริง เนื่องจากผลิตภัณฑ์ทั้ง 2ชนิด ขออนุญาตขึ้นทะเบียนในกลุ่มเครื่องดื่ม และอาหารเสริมตามลำดับ แต่อวดอ้างสรรพคุณด้านการรักษาโรค
แม้ผู้ประกอบการจะเลี่ยงโดยใช้คำว่า 'ผลิตภัณฑ์นี้ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น' แต่เมื่อพิจารณาจากการโฆษณาแล้ว ผู้ประกอบการมีพฤติกรรมที่จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อว่า ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2ชนิดนี้ สามารถบรรเทาอาการที่เกิดจากโรคมะเร็งได้ เช่น นำผู้ป่วยโรคมะเร็งมาพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่ดีขึ้น หลังจากรับประทานผลิตภัณฑ์ทั้ง 2ชนิดนี้ รวมทั้งอ้างอิงผลวิจัยทางการแพทย์ที่ระบุว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด มีจำนวนเซลล์มะเร็งลดลง เพราะสารสกัดจากมังคุดอาจทำให้ภูมิคุ้มกันโรคเพิ่มขึ้น
ด้านทีมนักวิจัยผลิตภัณฑ์ทั้ง 2ชนิดนี้ เปิดเผยในงานแถลงข่าวเปิดตัวผลิตภัณฑ์ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า น้ำมังคุดสกัดเข้มข้น และมังคุดผงสกัดชนิดแคปซูลไม่ใช่ยารักษาโรค แต่เป็นอาหารเสริมที่จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เนื่องจากสารสกัดจากมังคุดอาจกระตุ้นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้ป่วย ทำให้เชื้อโรคถูกทำลาย อาการของโรคต่างๆ จึงทุเลาลง
อย่างไรก็ตาม รองเลขาธิการ อย. จะส่งเรื่องนี้ไปให้กลุ่มงานโฆษณา สำนักอาหาร ของ อย. พิจารณาดำเนินการเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายต่อไป เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีพฤติกรรมเดียวกัน ซึ่งตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ที่ระบุว่า 'ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร' หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 3หมื่นบาท จำคุกไม่เกิน 3ปี หรือทั้งจำและปรับ
ส่วนกรณีที่มีทีมแพทย์ออกมาร่วมแถลงข่าวเปิดผลิตภัณฑ์นี้ จะมีความผิดด้านจริยธรรมหรือไม่นั้น รองเลขาธิการ อย. เปิดเผยว่า ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของ อย. แต่ที่ผ่านมาได้ประสานงานไปยังแพทยสภาอยู่บ่อยครั้ง เพื่อให้กำกับดูแลและตรวจสอบแพทย์ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ไม่ให้สร้างความเดือนร้อนหรือให้ข้อมูลที่เป็นความจริงแก่ประชาชน