สคบ.พร้อมรับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายกรณีทรูฟิตเนส-ทรูเอสคลินิก ปิดกิจการไม่แจ้งล่วงหน้า ชี้มีโอกาสเรียกค่าเสียหายคืนผู้บริโภค พร้อมเอาผิดกรรมการผู้มีอำนาจ ล่าสุดยังไม่มีผู้เสียหายจากการปิดกิจการเข้าร้องเรียน แต่มีกรณีร้องเรียนเรื่องเก่าของทรูฟิตเนสอยู่ในกระบวนการพิจารณาดำเนินคดีแล้วกว่า 240 ราย
นายอนุพงษ์ เจริญเวช นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เปิดเผย กรณีทรู ฟิตเนส และทรูเอสคลินิก (บริการสปา) ประกาศปิดกิจการกระทันหัน และมีสมาชิกที่ทำสัญญาได้รับความเสียหาย ขณะนี้ ทาง สคบ.ยังไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าว
แต่ก่อนหน้านี้ สคบ.ได้รับเรื่องร้องเรียนทรูฟิตเนสและทรูเอสคลินิก ในกรณีอื่นๆ มาแล้วรวม 240 ราย ได้แก่ เรื่องร้องเรียนปัญหาความรู้ความสามารถของเทรนเนอร์ ปัญหาของอุปกรณ์ 70 ราย ร้องเรียนการปิดตัวของทรู ฟิตเนส สาขาเซ็นทรัล เวิลด์ จำนวน 170 ราย
ดังนั้น สคบ. จะรวบรวมเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายทั้งหมด เพื่อพิจารณาฟ้องคดีแทนต่อไป โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ฟ้องตามมาตรา 39 กรณีผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ มาตรา 44 ฟ้องร้องกรรมการผู้มีอำนาจให้มารับผิด และมาตรา 42 วิธีพิจารณาคดีเชิงลงโทษ เพื่อเรียกค่าเสียหายให้ผู้บริโภค
โดยลูกค้าทรูฟิตเนสและทรูเอสคลินิก ที่ได้รับความเสียหาย ให้ยื่นเอกสารแก่ สคบ. เพื่อพิจารณาฟ้องคดีแทน โดยมีเอกสารประกอบด้วย สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาสัญญา สำเนาเอกสารโฆษณา สำเนาหลักฐานการชำระเงิน และหลักฐานอื่นๆ เช่น ภาพถ่ายปิดกิจการ หรือหนังสือที่ผู้ประกอบธุรกิจแจ้งแก่ลูกค้า
นายปุณณวิชญ์ เทศนา สมาชิกทรูฟิตเนส สาขาอาคารเอ็กเชน ทาวเวอร์ อโศก หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบ กล่าวกับวอยซ์ทีวี ว่า เบื้องต้นต้องการให้บริษัท ชดเชยค่าเสียหายแก่สมาชิก เพราะสมาชิกบางราย เพิ่งจ่ายค่าสมัครสมาชิกก่อนการประกาศปิดให้บริการไปเพียงไม่กี่วัน และขณะนี้ยังรอให้ผู้บริหารออกมาชี้แจง แต่หากไม่มีการชี้แจง อาจต้องร้องเรียนไปยังหน่วยงานรัฐต่อไป