ผู้ว่าฯ นนทบุรี เผย 5 เหตุผลดัน ‘ทุเรียนนนท์’ ราคาลูกละหมื่นต้นๆ ห่วงคนรุ่นใหม่ขายที่ดินหวังเงินล้าน ไม่สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมเร่งส่งเสริมงานอนุรักษ์พันธุ์ทุเรียน และดึงเทคโนโลยีช่วยยืนยันแหล่งปลูก
นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เปิดเผยสถานการณ์การปลูกทุเรียนนนท์ในปีนี้(60) ยังมีผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค แม้ว่าราคาทุเรียนนนท์จะสูงมากเมื่อเทียบกับแหล่งปลูกอื่นๆ อย่างพันธุ์หมอนทองลูกละ 3,000-5,000 บาท และพันธุ์ก้านยาวลูกละ 15,000-20,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดและความพึงพอใจของเจ้าของสวน
สาเหตุที่ทำให้ทุเรียนนนท์ มีราคาสูงขึ้นเกิดจาก 5 ปัจจัยหลัก ดังนี้
1.พื้นที่ปลูกน้อย ผลผลิตน้อย เนื่องจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ เมื่อปี 2538 และ 2554 สร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่ปลูกทุเรียน 3,475 ไร่ เหลือรอดเพียงประมาณ 43 ไร่เท่านั้น
2.ปลูกยาก ตายง่าย โรคเยอะ กว่าต้นทุเรียนจะออกลูกต้องอาศัยเวลา 5-7 ปี และในระหว่างปลูกจะต้องควบคุมปัจจัยแวดล้อมให้เหมาะสม โดยเฉพาะการป้องกันน้ำเค็มจากแม่น้ำเจ้าพระยารุกเข้ามาในร่องสวน ซึ่งสถานการณ์เลวร้ายขึ้นทุกปี จนต้องนำน้ำประปามารดแทนน้ำคลองในอดีต
3.คนรุ่นหลังทำสวนไม่ไหว โลกเปลี่ยนไปอาชีพก็มีให้เลือกมากขึ้น งานสบายเงินดีกว่าก็กลายเป็นแรงผลักให้ ลูกหลานชาวสวนนนทบุรี ไม่สืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เนื่องจากทำสวนไม่ไหว หรือไม่มีใจรักอาชีพเกษตรกรรมจริงๆ
4.ราคาที่ดินจูงใจ ปัจุบันราคาที่ดินใน จ.นนทบุรี มีราคาแพงมาก หากอยู่ติดถนนรัตนาธิเบศร์ ราคาตารางวาละ 100,000-200,000 บาท จึงนิยมขายพื้นที่สวน ซึ่งเห็นตัวเงินเร็วกว่าการทำสวนทุเรียน
5.เก็บลูกไว้ขายน้อย ทุเรียน 1 ต้น จะออกลูกประมาณ 50-60 ลูก แต่เกษตรกรจะเก็บไว้ขายเพียงประมาณ 10 ลูกเท่านั้น เพื่อให้ผลมีความสมบูรณ์ที่สุด หากเป็นพันธุ์ก้านยาว ออกลูกประมาณสองครั้งก็จะทิ้งกิ่งแล้ว
ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เปิดเผยว่า หลังปี 2554 ทางจังหวัดและเกษตรกร ร่วมกันฟื้นฟูการปลูกทุเรียนนนท์อีกครั้ง แต่ก็พบกับปัญหาน้ำเค็มรุกและภัยแล้ง จึงเหลือพื้นที่ปลูกประมาณ 1,700 ไร่ ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 1-5 ปี รวมทั้งจัดโครงการส่งเสริมแบรนด์และการตลาด ภายใต้แนวคิด “Nonthaburi : The king of Durien” เพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริม และให้กำลังใจชาวสวนสืบสานอัตลักษณ์ทุเรียนนนท์ รักษามาตรฐานราคา สร้างความแตกต่าง เพิ่มช่องทางการตลาดการเจรจาธุรกิจ และให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเลือกผลิตภัณฑ์ทุเรียนหลากหลาย
ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์ ‘ทุเรียนนนท์’
นายสมนึก ศรีเที่ยงตรง เกษตรจังหวัดนนทบุรี เตรียมดำเนินการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ให้กับทุเรียนนนท์ เพื่อคุ้มครองตามกฎหมายที่เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องในท้องถิ่นได้รับสิทธิในการผลิตทุเรียนนนท์ เพื่อเพิ่มมูลค่าด้านการตลาด และรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งคุ้มการครองผู้บริโภค เพื่อป้องกันการแอบอ้างทุเรียนจากแหล่งอื่น
เบื้องต้น ได้จัดประชุมคณะกรรมการพิจารณาการขอใช้ และควบคุมตรวจสอบกระบวนการผลิตและจำหน่ายสินค้าทุเรียนนนท์ โดยเชิญเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา มาชี้แจงและให้ความรู้เรื่องการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อให้คณะกรรมการใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานตรวจสอบรับรองทุเรียนนนท์ต่อไป
เปิดประมูล ‘ทุเรียนนนท์’ 10มิ.ย.นี้ รายได้ให้การกุศล
ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เชิญชวนผู้ใจบุญที่ชอบกินทุเรียนมาร่วมประมูลทุเรียนนนท์ ปี 2 จำนวน 6 ลูก ภายในงาน “Nonthaburi : The King of Durian @Central Plaza Westgate” วันเสาร์ที่ 10 มิถุนายนนี้(60) เวลา 13.00น. โดยมอบเงินจากการประมูลให้สถานสงเคราะห์เด็กออติสติค สถานคุ้มครองและสวัสดิภาพผูประสบภัยจากการค้ามนุษย์ บ้านเกร็ดตระการ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ศูนย์ส่งเสริมอาชีพคนพิการ สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านปากเกร็ด กาชาดจังหวัดนนทบุรี และอื่นๆ
ทั้งนี้ ทุเรียนนนท์ 2 ใน 6 ลูก ที่นำมาประมูลในงานนี้ ได้รับการอนุเคราะห์มาจากสวนอภิรัญญา ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี จะเดินทางมาตัดเองจากต้นในวันพุธที่ 8 มิถุนายนนี้(60) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สวนทุเรียนนนท์ ที่รอดพ้นจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 เนื่องจากถูกล้อมด้วยหมู่บ้านจัดสรร ที่ป้องกันน้ำท่วมอย่างรัดกุม ทุเรียนต้นเก่าแก่รุ่นพ่อจึงยังคงอยู่นับสิบต้น
ที่มา : Facebook NisitJansomwong