ร.ร.สาธิตเพิ่งเป็นข่าวดัง เชิญทหารมาฝึกวินัยให้เด็กประถม บางคนฟังแล้วงง จะโวยทำไม ครูกับทหารไม่เห็นต่างตรงไหน เผลอๆ ครูผู้ปกครองจับกร้อนผม น่ากลัวกว่าด้วยซ้ำไป พี่ๆ ทหารสิ ใจดี๊ใจดี
แต่นั่นคือ ร.ร.ทั่วไป ไม่ใช่ ร.ร.สาธิต ซึ่งโด่งดังยอดฮิต ว่าสอนเด็ก “คิดเป็น” สอนให้ค้นหาตัวเอง โดยไม่บังคับ สอนให้กล้าแสดงออก เรียนรู้ทักษะผ่านกิจกรรม บางคนก็เลยมองว่าขัดแย้งกับการฝึกแบบทหาร
เอาเหอะ ถึงอย่างไร ร.ร.สาธิตก็ไม่เสื่อมความนิยม แต่ละปี ลูกคนชั้นกลางแห่ไปสอบเข้า ป.1 เป็นพันๆ มีสำนักติวเตอร์หลากหลาย เตรียมความพร้อมให้เด็ก 5-6 ขวบสอบแข่งขัน
เอ๊ะไหนว่า ร.ร.สาธิตสอน “คิดเป็น” แล้วทำไมต้องสอบ อ้าว ถ้าไม่สอบจะทำไง เด็กสมัครตั้งหลายพัน รับแค่ 100-200 คนเท่านั้น เพียงแต่ข้อสอบสาธิตมักออกปัญหาเชาวน์ ความรู้รอบตัว หรือวิธีคิด ไม่เหมือนข้อสอบ ร.ร.คริสต์ดังๆ บางแห่งบวกเลข 3 หลัก
สำหรับคนยังไม่มีลูก ให้รู้เบื้องต้นว่า ร.ร.มี 2 แนวนะครับ คือแนววิชาการเข้ม ซึ่ง ร.ร.คริสต์เป็นต้นแบบ กับแนว “คิดเป็น” ซึ่งสาธิตเป็นต้นฉบับ ร.ร.รัฐบาลก็พยายามทำตาม แต่ช่วงหลังๆ เลอะไปหมด คิดเป็นยังไง จบ ป.6 ก็ต้องเข้มวิชาการ เพราะเข้ามัธยมก็แบ่งชั้นตั้งแต่ ม.1 มีห้องความเป็นเลิศทางคณิต วิทยาศาสตร์ EP Intensive (แล้วแต่จะคิดมาเก็บค่าเทอมพิเศษ) ถ้าพลาดห้องเหล่านี้ ลูกคุณก็กลายเป็นพลเมืองชั้นสองชั้นสาม
คนเป็นพ่อแม่สมัยนี้ ต้องทันโลกแห่งการแข่งขัน ต้องสร้างศักยภาพการแข่งขันให้ลูกตั้งแต่ในครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน นอกจากเปิดเพลงคลาสสิกให้ฟัง ยังต้องหาที่เรียนตั้งแต่อยู่ในท้อง เพราะโรงเรียนอนุบาลดังๆ หรือสำนักติวเตอร์ดังๆ ที่รับติวเข้าสาธิต ต้องจองคิวล่วงหน้า 2-3 ปี
นี่ไม่ได้ล้อเล่น เป็นเรื่องจริง คุณแม่คนหนึ่งเขียนกระทู้เล่าความสำเร็จที่ลูกสอบได้สาธิตย่านบางเขน เป็น 1 ใน 130 คน จากเด็ก 3,000 เธอมุ่งมั่นตั้งแต่ลูกยังเล็ก นอกจากเลือก ร.ร.อนุบาลที่ดีที่สุด ยังเสาะหาสำนักติว ซึ่งต้องจองคิว 2 ปี บางแห่งต้องจองตั้งแต่ท้องแม่ เพื่อจะเรียนตอนอนุบาล 3 เธอเสียค่าติว 2 สำนัก 6 หมื่นกว่าบาท ต้องรับลูกส่งลูกไปติวทั้งวันธรรมดาและเสาร์อาทิตย์ บางทีรถติดใช้ชีวิตพ่อแม่ลูกอยู่ในรถจนเย็นค่ำ แต่คุณแม่คิดเป็น พยายามพาลูกเที่ยวทะเล ภูเขา ดูวัด ดูตลาด ดูพิพิธภัณฑ์ ฯลฯ เพื่อให้มีความรู้รอบตัว ก่อนสอบจริง ยังตระเวนสอบ Pretest ตามสำนักติวต่างๆ และสอบเข้า ร.ร.อื่นหลายแห่งเป็นสนามซ้อม อ้อๆ วันสอบยังลงทุนพักโรงแรมในมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างสมาธิ ไม่ต้องตึงเครียดกระหืดกระหอบฝ่ารถติด
นั่นละครับ “เอนทรานซ์ฟันน้ำนม” สอบแข่งขันตั้งแต่หัวเท่ากำปั้น ลงทุนลงแรงตั้งแต่แบเบาะ
ก่อนถึง ป.1 ร.ร.อนุบาลดีๆ ก็ไม่ใช่หาง่ายนะ ถ้าอยากให้ลูกอนาคตไกล แค่ ร.ร.ใกล้บ้านไม่พอ ร.ร.ดังสมัยนี้ ถ้าเน้นวิชาการ ก็มีทั้งหลักสูตร EP นานาชาติ ค่าเทอมเกือบแสน หรือแสนกว่า ถ้าเป็นแนวบูรณาการ สอนเด็กพับกระดาษสร้างจินตนาการ ไม่เน้นคิดเลขอ่านเขียน จนกว่าจะพร้อม ยกตัวอย่าง ร.ร.ย่านบางเขน ที่สอบติดสาธิตมากที่สุด ค่าเทอม 5 หมื่นกว่า ซัมเมอร์ 2 หมื่น
ยุคนี้สมัยนี้ไม่ใช่ “กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” แต่ “กว่าจะถึงอนุบาลก็เหลื่อมล้ำแล้ว” นี่ยังไม่พูดถึงลูกคนรวยหรือคนชั้นกลางระดับบน ที่ส่งลูกเรียนนานาชาติ ออกจากระบบ ร.ร.ไทยไปเลย แล้วค่อยไปเข้าอินเตอร์มหิดล จุฬา ธรรมศาสตร์ ฯลฯ หรือถ้าเงินเยอะนักก็ไปเมืองนอกเลย
EP นานาชาติ ราคาแพงพอเข้าใจ แต่ทำไม “คิดเป็น” ราคาแพง อ้าว ก็ต้องให้เด็กทำกิจกรรม เปิดหูเปิดตา ต้องมีอุปกรณ์ หรือพาไปทัศนศึกษา จะราคาถูกๆ ได้ไง ดูอย่าง “รุ่งอรุณ” สิครับ ร.ร.วิถีพุทธ ร.ร.ทิศทางใหม่ มีเป้าหมายให้เด็กเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม ขนาดผู้ก่อตั้งไม่แสวงหากำไร เข้าอนุบาลยังคิดค่าเทอม 3 หมื่นกว่า ปีละ 3 เทอม
ก็โรงเรียนเขาดีจริงนะ มีหมอประเวศ วะสี อ.ระพี สาคริก เป็นปูชนียบุคคล สอนเด็กเรียนรู้วิถีพุทธ วิถีไทย บางทีก็พาเด็กไปดำนา ไปดูป่าชายเลน สอนให้พึ่งตนเอง เชื่อมั่นตนเอง มีความคิดสร้างสรรค์ ตามแนวทาง รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้ก่อตั้ง ซึ่งนำนักเรียนไปทัศนศึกษาม็อบคนดีมีศีลธรรม แล้วไปเป็น สปช.เป็นกรรมการปฏิรูปศึกษาให้รัฐบาล
สมัยลูกยังเล็ก ผมก็อยากให้เข้ารุ่งอรุณนะครับ แต่พอฟังค่าเทอมก็เข่าอ่อน ไม่มีปัญญาจ่าย ย้อนความหลังแล้วน้ำตาจะไหล ลูกเสียโอกาส เพราะพ่อไม่มีตังค์จ่ายค่าเรียนวิถีพุทธ
ร.ร.สาธิต “คิดเป็น” ก็ต้นทุนสูงกว่า ร.ร.รัฐบาลทั่วไป ถึงแม้ค่าเทอมยังพอไหว สำหรับคนชั้นกลางชาวกรุง แต่ที่สร้างคุณภาพมาตรฐานได้ ก็เพราะเป็นโรงเรียนของคณะครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ ซึ่งใช้งบประมาณมหาวิทยาลัย ไม่ต้องอยู่ในกรอบงบรายหัวเหมือน ร.ร.ทั่วไป ที่ห้องทดลองเคมีฟิสิกส์แทบไม่ได้ใช้ ตั้งให้ดูเฉยๆ
ยิ่งกว่านั้น มี ร.ร.ไหนบ้างละครับ ที่เอารองศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มาสอนเด็กประถม มัธยม มีแต่สาธิตที่ทำได้ เพราะเป็นบุคลากรมหาวิทยาลัย ความก้าวหน้าในอาชีพการงานเหนือครูทั่วไป
นั่นคือต้นทุนที่รัฐแบกรับให้ ไม่เหมือนโรงเรียนบ้านหนองอีแหนบ หนองปลาไหล ฯลฯ แต่ก็ไม่พอหรอกนะ ต้องให้ผู้ปกครองที่มีฐานะ แสดงความจำนงช่วยเหลืออยู่ดี ไม่ต่างจาก ร.ร.ดังๆ ทั้งหลายที่เปิดให้ผู้มีอุปการคุณบริจาคผ่านสมาคมผู้ปกครอง
เพียงแต่ ร.ร.สาธิตดังๆ ไม่ใช่ฝากฝังกันง่าย แม้แต่นักการเมือง ใหญ่มาจากไหนก็อย่าแหยม แหม่ อาจารย์มหาวิทยาลัยมีศักดิ์ศรีนะครับ อย่ามาเบ่ง บาง ร.ร.รัฐมนตรีศึกษายังฝากไม่ได้เลย ต้องว่าตามระบบ คือถ้าสอบไม่ได้ก็จ่ายค่าบำรุงพิเศษ (บางแห่งสอบได้ก็จ่ายอยู่ดีแต่เบาหน่อย) แล้วการจ่ายนี่ไม่ใช่เอาเงินฟาดหัวครู เราอยู่ในสังคมไทยนะ น้ำใจไทยไม่ชอบให้ใช้เงินฟาดหัวกัน นอกจากจ่ายตังค์แล้วยังต้องกราบไหว้ด้วย ต้องช่วยกิจกรรม ร.ร.แข็งขัน โดย ร.ร.จะดูตามศักยภาพพ่อแม่ เช่นถ้าเป็นเจ้าของธุรกิจ จะมีน้ำใจช่วยกิจกรรมอย่างไรบ้าง
เมื่อดูที่การช่วยงานโรงเรียน บางครั้งก็ไม่ต้องจ่ายตังค์นะครับ ฉะนั้นจะมีเรื่องขำๆ เช่นบาง ร.ร.รถติด รัฐมนตรีฝากไม่ได้ แต่สารวัตรจราจรฝากได้ เพราะต้องพึ่งพาอาศัยกัน
ไม่ใช่ว่าแต่วิชาชีพอื่น สื่อมวลชนก็ฝากได้เหมือนกัน แต่ต้องค่ายใหญ่ค่ายดัง มีบารมีช่วยประชาสัมพันธ์ ร.ร.สาธิตบางแห่งจึงผูกปิ่นโตกับสื่อยักษ์ใหญ่บางค่าย จนค่ายอื่นเขม่น ทำไมเราฝากไม่ได้วะ
จำได้ไหมเมื่อซักยี่สิบปีก่อน มีข่าวผู้ปกครองฟ้อง ร.ร.สาธิตดัง ขอให้เผยคะแนนสอบเข้า สื่อที่ตีข่าวหนัก ก็คือค่ายที่ข้องใจว่าทำไมฝากไม่ได้ ส่วนสื่อยักษ์ใหญ่ที่ได้โควตาเงียบกริบทั้งฉบับ
พูดไปก็ไลฟ์บอย เรื่องค่าบำรุง เรื่องน้ำใจไทย ไม่มีใครแก้ได้หรอก สมัยรัฐประหาร 2549 อ.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นรัฐมนตรี สั่งยกเลิกโควตาอุปการคุณ ทำให้วุ่นไปหมด แต่สุดท้ายตอนรับเด็กรอบสอง ก็จ่ายกันอยู่ดี โปรดเข้าใจ “คิดเป็น” ต้องลงทุน ฉะนั้น ร.ร.ดังๆ ควรออกนอกระบบ เลิกพึ่งงบประมาณ เลิกเอาเปรียบ ร.ร.บ้านหนองอีแหนบ หนองปลาไหล แล้วเปิดประมูลอย่างเปิดเผย โปร่งใส ไม่ต้องบีบคั้นให้เด็กอนุบาล ป.1 ต้องสอบแข่งขัน
“อ้าว ห้อง ป.1/3 เหลืออีกที่นั่งเดียวเท่านั้นนะคะ ไม่อยากให้ลูกคิดเป็นหรือคะ คุณพ่อคุณแม่ชูป้ายเลยค่ะ คุณพ่อน้องป๊อดให้เท่าไหร่คะ 387,000 บาท นับ 1-2-3 มีใครสู้ไหมคะ คุณแม่น้องแป้ง ให้เท่าไหร่คะ 5 แสนเลยหรือคะ! คุณพ่อน้องป๊อดสู้ไหมคะ นับ 1-2-3 เสียใจด้วยค่ะน้องป๊อด ป๊อดจริงๆ””
ใบตองแห้ง
3 มิ.ย.60