ไม่พบผลการค้นหา
กรมการจัดหางาน เผยค่าจ้างรายอาชีพปี 2559 พบค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด 45,000 บาท ต่ำสุด 7,800 บาท และค่าจ้างเฉลี่ย 9,801 บาท ซึ่งมากกว่าปี 2558 ขณะที่อาชีพที่มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนมากที่สุดคือวิศวกรเหมืองแร่ทั่วไป และผู้ติดตั้งเครื่องเจาะ (การเจาะบ่อน้ำมัน) 40,000 บาท

กรมการจัดหางาน เผยค่าจ้างรายอาชีพปี 2559 พบค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด 45,000 บาท ต่ำสุด 7,800 บาท และค่าจ้างเฉลี่ย 9,801 บาท ซึ่งมากกว่าปี 2558 ขณะที่อาชีพที่มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนมากที่สุดคือวิศวกรเหมืองแร่ทั่วไป และผู้ติดตั้งเครื่องเจาะ (การเจาะบ่อน้ำมัน) 40,000 บาท

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน โดยกองบริหารข้อมูลตลาดแรงงานได้รวบรวมข้อมูลตำแหน่งงานว่างจากการให้บริการจัดหางานในประเทศมาทำการวิเคราะห์และจัดทำค่าจ้างรายอาชีพปี 2559 ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่าคนไทยได้รับค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด 45,000 บาท ต่ำสุด 7,800 บาท และค่าจ้างเฉลี่ย 9,801 บาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558 พบว่าค่าจ้างต่อเดือนสูงสุดเพิ่มขึ้นจากปี 2558 คิดเป็นร้อยละ 18.42 ที่ได้รับค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด 38,000 บาท ขณะเดียวกันค่าจ้างเฉลี่ยยังเพิ่มขึ้นจากปี 2558 คิดเป็นร้อยละ 0.73 ซึ่งมีค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 9,730 บาท โดยค่าจ้างต่อเดือนสูงสุดอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ 45,000 บาท รองลงมาภาคเกษตรกรรม 40,000 บาท อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดในปริมณฑลและภาคกลางมากสุด ขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุดอยู่ในหมวดอาชีพผู้บัญญัติกฎหมาย ข้าราชการอาวุโส ผู้จัดการ 14,841 บาท รองลงมาผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่าง ๆ 12,758 บาท ช่างเทคนิคและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง 10,749 บาท เสมียน เจ้าหน้าที่ 10,072 บาท ตามลำดับ

สำหรับอาชีพที่มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนมากที่สุดคือวิศวกรเหมืองแร่ทั่วไปและผู้ติดตั้งเครื่องเจาะ (การเจาะบ่อน้ำมัน) 40,000 บาท ช่างทอพรมด้วยเครื่องจักร 26,000 บาท นักอินทรีย์เคมีและผู้ประมาณการ (งานวิศวกรรม) 25,000 บาท ต้นเรือ 22,000 บาท และนักเภสัชวิทยา 21,900 บาท ตามลำดับ

ซึ่งจากการวิเคราะห์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดแรงงานมีความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ทั้งยังมีรายได้สูงอีกด้วย ดังนั้น จึงเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับนักเรียน นักศึกษาในการตัดสินใจเลือกเรียนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และได้รับอัตราค่าจ้างที่สูง โดยเฉพาะสายอาชีพจะมีโอกาสที่หลากหลายในการทำงาน โดยผู้เรียนสามารถเลือกออกไปทำงานหรือเรียนไปทำงานไปด้วยก็ได้ กล่าวคือเป็นการเรียนที่นำไปใช้ในชีวิตจริงได้เลย เพราะจะได้ทั้งความชำนาญในงานและประสบการณ์จากการทำงานควบคู่กันไป อย่างไรก็ตาม นอกจากเลือกเรียนตรงกับตลาดต้องการแล้วยังต้องพัฒนาทักษะของตนเองด้วย เช่น ภาษาต่างประเทศ การใช้เทคโนโลยี เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างโอกาสการมีงานทำให้กับตนเองต่อไป นายวรานนท์ กล่าว

ที่มา : กรมการจัดหางาน

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog