ไม่พบผลการค้นหา
ถอดบทเรียนเรื่องโรคซึมเศร้ากับ ‘ทราย อินทิรา เจริญปุระ’ ทำไมเธอกล้าเปิดเผย? สวดมนต์ช่วยได้จริงหรือ?

ถอดบทเรียนเรื่องโรคซึมเศร้าจากการสนทนาเฟซบุ๊กไลฟ์กับนักแสดงสาว ‘ทราย อินทิรา เจริญปุระ’ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามาหลายปี หลังจากที่ประสบอุบัติเหตุรุนแรงจนเกิดโรคเครียดและนำมาสู่โรคซึมเศร้า ปัจจุบันเธอเข้ารับการรักษาจนทุเลา แต่ยังมีอาการเป็นระยะๆ ทรายให้สัมภาษณ์กับ วอยซ์ ทีวี ถึงวิธีการรับมือที่เธอเรียกว่า “กอดคอเป็นเพื่อนกับโรคซึมเศร้า”


“ผ่านมาแล้วทุกแบบ ทั้งเศร้าจากการอกหัก พ่อตาย แต่ ‘โรคซึมเศร้า’ ไม่ใช่แบบนั้น” ทราย เกริ่นนำ พร้อมแยกแยะให้เห็นว่าโรคซึมเศร้าต่างจากภาวะเศร้าทั่วไป เพราะส่งผลให้ชีวิตไม่สามารถดำเนินไปตามปกติได้ เธอกล่าวว่าครั้งแรกที่รู้ว่าเป็นโรค ไม่รู้สึกอยากกินอะไรเลย จนน้ำหนักหายไป 20 กก. 

“คือป่วย ไม่หิว ไม่นอน รู้สึกว่าหายใจไปเรื่อยๆ ก็อยู่ได้ เป็นเวลาเกือบหลายเดือน รู้สึกว่าเราช่างบอบบางเหลือเกิน ไม่สามารถเดินไปไหนได้โดยไม่มีการปะทะ ทุกคนจะต้องจ้องมองเรา ซึ่งทำให้เสียการเสียงาน อ่านหนังสือไม่ได้ อ่านแล้วโฟกัสไม่ได้ และครั้งที่สองที่เป็น คือจะกินไม่หยุด อาการมันไม่เหมือนกัน แต่ทุกอันมันจะมากเกินไป ซึ่งติดต่อกันเกิน 2 อาทิตย์เป็นอย่างต่ำ อย่างนี้จะรู้ว่าไม่ปกติแล้ว”

คิดอย่างไรที่หลายคนเลือกปกปิดว่าเป็นโรค เพราะกลัวกระทบกับเรื่องงาน?

เราไม่รู้ว่าสังคมการทำงานในบริษัทจะคาดหวัง performance แบบไหน เพราะว่าของเรา เรารู้ว่าเราป่วย ก็รีบหาทางรักษาเพื่อที่จะทำงานได้ตามปกติ แต่เราจำเป็นต้องบอกคนใกล้ตัวว่าป่วย วันไหนที่นัดเจอกัน ถ้าเราไม่ได้ออกไป ไม่ใช่ว่าเรารังเกียจหรือไม่รัก แต่เราต้องการชาร์จพลัง เพราะว่าเราต้องใช้พลังในการทำงานอาจจะเยอะกว่าคนอื่นเท่านั้นเอง 

สำหรับการทำงานในระบบบริษัท ข้าราชการ หรือองค์กรที่ซีเรียสมากๆ เราคิดว่ามันก็ดูที่ performance เหมือนกัน และการรับผิดชอบกับการป่วยไข้ของตัวเอง คงไม่มีใครรังเกียจถ้าคุณเป็นหวัดมาทำงาน แล้วคุณใส่หน้ากากอนามัย แต่คุณจะต้องแสดงออกความรับผิดชอบด้วยการหาหมอ และรับผิดชอบเท่าที่ทำได้ พรุ่งนี้หัวหน้านัดส่งงานเวลา 9 โมงเช้า คุณก็ต้องส่งให้ได้ มันไม่ใช่ข้ออ้าง อย่างเวลาที่เราไปกองถ่าย เราจะขอไป 10 โมงได้ไหม เพราะเราเป็นซึมเศร้า ก็ไม่ได้นะ เราก็ไปตามเวลาปกติ 

ทำไมกล้าเปิดเผยเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่เป็นคนดัง?

สำหรับตัวเรา คิดว่าเปิดดีกว่า คุยกันมันง่ายกว่า แต่เราถือว่าเราโชคดีที่คนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นน้อง หรือเพื่อนเข้าใจ และเรารู้ว่ามันทุกข์ใจแค่ไหน เวลาที่เป็นแล้วมันบอกใครไม่ได้ เรารู้สึกว่าเราบอกได้ เราบอกแล้วกัน คือไม่ได้จะทำให้ทุกคนลุกขึ้นมากล้าบอก แต่อยากให้รู้ว่าคนที่เป็นเขาไม่ได้อยู่คนเดียว เขาไม่ได้คิดไปเองว่าเขาป่วย เขาไม่ได้ประหลาดถ้าจะไปหาหมอ อยากให้เขารู้สึกแบบนี้ ไม่ทำให้มันระทมไปกว่าเดิม มันคือโรคโรคหนึ่งอยากให้ทรีทมันอย่างที่มันเป็น

โรคซึมเศร้าเกิดจากอะไร?

หลายอย่างมากค่ะ แต่ถ้าถามถึงสาเหตุจริงๆ เลย ตอบไม่ได้ค่ะ มันเป็นความลับของฟ้าดิน แล้วสิ่งที่เรายังไม่รู้อย่างแน่ชัด คนมักจะโยนให้เป็นเรื่องของกรรมพันธุ์บ้าง ความเครียดบ้าง ซึ่งมันก็เป็นไปได้ แต่บางคนมีความเครียดทุกวันก็ไม่เป็น หรือบางคนไม่ทันเจอความเครียดกลับเป็นก็มี มันเกี่ยวกับเรื่องกลไกบางอย่างในสมอง 

ลองนึกอย่างนี้ ถ้าเปรียบสมองคุณเป็นระบบประปา ซื้อเหมาทั้งล็อตมันจะมีก๊อกตัวนึงที่พัง แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ซื้อก๊อกตัวนี้จะพัง มันมาพังตรงที่เรา ซึ่งอยู่ที่ว่าเราจะตามช่างไหม บางคนเอาเทปพันไว้เฉยๆ หรือสวดมนต์ 

แล้วสวดมนต์ช่วยได้จริงหรือ?

มันก็อาจจะช่วยได้ แต่มันต้องแยกแบบนี้ คือบางคนเครียด เศร้า แต่ไม่ถึงระดับที่จะเป็นโรค ไม่ต้องเสียใจนะคะ คุณโชคดีมากแล้ว (หัวเราะ) การได้อยู่เงียบๆ หลีกออกไปจากปัญหา ได้นั่งอยู่กับตัวเองท่ามกลางบรรยากาศวัด ฟังนกร้องจุ๊บจิ๊บ มันจะช่วยให้คุณเบาลงได้ 

แต่สำหรับคนที่ป่วยนั้น สวดมนต์ไม่ได้ทำให้สารเคมีในสมองหลั่งออกมาได้ ยิ่งทำให้คุณจมเรื่อยๆ ก็มี ดังนั้นถือว่าเป็นตัวเลือก แต่ควรหาหมอก่อนเป็นอย่างแรก เช็คก่อนว่าจริงๆ แล้วเป็นอะไรกันแน่ ถ้าเป็นซึมเศร้า กินยาแล้วค่อยไปวัด ถ้าไม่เป็น ไปวัดได้เลยไม่เป็นไร

แล้วคนรอบข้างควรอยู่กับผู้ป่วยอย่างไร?

เห็นใจคนรอบข้างมาก จากใจผู้ป่วยเลย เราโชคดีมากที่มีน้องที่เข้าใจ คนรักก็สำคัญมากๆ เคยถามแฟนว่า “รู้สึกอย่างไรเวลาปรี๊ดขึ้นมา” เขาบอกว่าก็ไม่เป็นไร เธออยากปรี๊ดก็ปรี๊ดไป ก็นั่งดู ถ้าเข้าใจแบบนี้ ไม่ต้องวิ่งประกบหรือถามว่าเป็นอะไร มันก็จะช่วยได้ แต่ปัญหาคือผู้ป่วยเองบางครั้งก็ลำไย เกิดอาการแล้วก็หันมาถามว่า “เห็นชั้นมั้ย ดูชั้นอยู่หรือเปล่า” อันนี้คือปัญหา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็คือว่า คุณไม่ได้ผิด ของแบบนี้ทุเลาได้ ไปหาหมอเสีย 

ถ้าถามในมุมของผู้ชาย ให้คิดว่าแฟนคุณมีประจำเดือนตลอดเวลา ก็พอช่วยได้ ก็ปล่อยมันไป วันดีๆ มันก็มีนะคะ คือไม่ต้องเอาเสลี่ยงมาหาม ปรนนิบัติพัดวีก็ไม่ต้อง เช่นถ้าซื้อข้าววางเอาไว้ เขาจะกินก็กิน คุณอย่าเปลี่ยนชีวิตตัวเองไปตามคนป่วย เพราะคุณจะป่วยตามไปด้วย

มีประโยคห้ามพูดกับคนป่วยซึมเศร้าไหม?

มันไม่ถึงกับห้าม แต่เห็นด้วยนะ บางทีเราขี้เกียจอธิบาย เช่น “ซึมเศร้าเหรอ เรื่องนี้มันอยู่ที่ใจ” ไม่ๆๆ มันอยู่ที่สมอง คือระหว่างที่รักษาอยู่เราก็รับมือได้ แต่อย่าทำให้เราไขว้เขวจากจุดที่เป็นอยู่ได้ไหม แต่ไม่ได้ถึงขั้นห้าม ถ้าพูดปุ๊ป จะกรีดข้อมือต่อหน้า มันไม่ขนาดนั้น 

การเซ้าซี้ ถามซ้ำๆ ว่าทำไมไม่ทำอย่างนั้นล่ะ ไม่ทำอย่างนี้ล่ะ กับคนที่เขาพยายามรักษาตัวเองอยู่แล้ว มันเหมือนกับบอกคนที่เป็นมะเร็งซึ่งกำลังฉายแสงอยู่ ให้เขาไปกินน้ำมนต์สิ กินสมุนไพรสิ ถามว่าหวังดีไหม ก็หวังดี แต่เขาก็ฉายแสงอยู่แล้วไง และสำหรับคนที่ป่วยก็ไม่ต้องถ่อมตัวมาก เวลาใครล้อ ก็ล้อกลับ เช่น “ว้าย เป็นบ้า” ใช่เป็นบ้า อยากฆ่าคนจังเลย อย่างนี้ ไม่ต้องถ่อมตัว แล้วเขาจะรู้สึกว่าเราธรรมดา

โรคซึมเศร้ากับไบโพล่าร์ เป็นโรคเดียวกันหรือไม่?

คนละอัน แต่เกี่ยวกัน คือไบโพล่าจะมี cycle ของการซึมเศร้าด้วย แต่ก็มี cycle ของไฮเปอร์ด้วย สามารถผลิตงานทอผ้า 300 ผืนในคืนเดียว แต่พอช่วงดาวน์ก็จะนอนจมกองผ้าไปเลย 

โรคซึมเศร้าคือนั่งร้องไห้ทั้งวันหรือเปล่า?

ไม่ใช่ มันเหมือนกับว่าทุกอย่างบนโลกเป็นความผิดเราไปหมด ถ้าเรากระดิกตัวออกไป ท่อน้ำจะต้องแตก หม้อแปลงจะต้องระเบิด รถจะต้องชนกัน มันจะรู้สึกตัวเล็กๆ เช่น วันนี้เรากลั้นใจจะออกจากบ้าน เพราะเราหิวเหลือเกิน แต่ออกไปแล้วรู้สึกว่า “เหย คนมองเราหมดเลย... ชั้นทำอะไรผิดแน่เลย ไม่เอาดีกว่า กลับเข้าบ้าน เข้าสู่ comfort zone ดีกว่า”

มันเป็นความเหี่ยว ถ้าไม่มีเราโลกคงจะดีกว่านี้ มันไม่ใช่ร้องไห้ ในการจะทำอะไรสักอย่าง ต้องใช้พลังมหาศาลมาก และจะก้มหน้าก้มตาอยู่กับตัวเอง ซึ่งไม่ใช่อาการแบบ introvert อันนั้นยังมีความหิว ยังอยากคุยกับแฟน เพื่อนไลน์มาอยากไลน์ตอบ แต่อันนี้คือไม่ ไม่อยากทำอะไรทั้งสิ้น 

ถ้าเป็นแฟนของผู้ป่วย แล้วทนไม่ไหวจึงเลิกรากันไป ถือเป็นการทำร้ายเขาไหม

จริงๆ การเลือกกันมันไม่มีใครผิด คุณทนไม่ได้ก็ต้องบอกเขาว่าทนไม่ได้ ยังดีกว่าอยู่ด้วยกันแล้วตะโกน “ชั้นทนแกไม่ไหวแล้ว” ใช่...มันทำร้าย แต่ไม่มีการเลิกกันแบบไหน ไม่ทำร้ายนะ อย่าไปรู้สึกผิดเลยค่ะ คุณไม่ได้ใจร้าย คุณไม่ใช่คนโหดเหี้ยม เพราะคุณไม่ใช่มูลนิธิที่จะต้องโอบอุ้มเขา เราเชื่อว่าคนที่มีคำถามแบบนี้ได้พยายามทุกอย่างแล้ว แต่มันไม่ได้จริงๆ ไม่ได้ก็คือไม่ได้ หรือคุณจะปล่อยให้ตัวคุณซึมเศร้าไปอีกคน 

อ่านบทสัมภาษณ์ตอนที่ 2 ที่นี่ http://news.voicetv.co.th/thailand/494950.html


ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Inthira Itr Charoenpura 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog