ผู้ว่าฯ กทม. สั่งเร่งเดินหน้าโครงการขยายขนาดท่อระบายน้ำ ในถนนจุดอ่อนน้ำท่วมขัง วงเงินกว่า 2,200 ล้านบาท พร้อมยอมรับว่า ไม่สามารถเปลี่ยนท่อระบายน้ำได้ทั้งหมด เนื่องจากติดปัญหาเรื่องสภาพพื้นที่ และการก่อสร้างยังต้องปิดถนน ส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด
ท่อระบายอุดตัน จากเศษดิน และขยะ ประกอบกับมีขนาดเล็กเพียง 60 เซนติเมตร ถือเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ลดประสิทธิภาพการระบายน้ำ ลงสู่คลอง หรืออุโมงค์ยักษ์ เพื่อสูบออกแม่น้ำเจ้าพระยา ทุกครั้งที่เกิดน้ำท่วมขัง จึงต้องดูดเลนออก เพื่อให้น้ำไหลได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
แม้จะมีแนวคิดเพิ่มขนาดท่อระบายน้ำ แต่ก็ยังติดปัญหาเรื่องสภาพพื้นที่ และการก่อสร้างยังต้องปิดถนน ส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด ดังนั้น เทคโนโลยี Pipe Jacking (ไปป์ แจ็คกิ้ง) หรือการดันท่อลอด จึงดูจะเหมาะสมมากที่สุด ซึ่งกรุงเทพมหานคร กำลังเร่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้
ข้อดีของเทคโนโลยี Pipe Jacking คือไม่ต้องเปิดพื้นผิวถนนตลอดทั้งสาย เนื่องจากใช้หัวเจาะขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตรครึ่ง ถึง 2 เมตร เจาะใต้ดินขนาดกับแนวถนน แล้วดันท่อใหม่เข้าไปเรื่อยๆ ถือเป็นอีกหนึ่งความหวังบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขัง
สำนักการระบายน้ำ กทม. เป็นผู้รับผิดชอบโครงการปรับปรุงระบบท่อระบายน้ำ ด้วยเทคโนโลยี Pipe Jacking วงเงินงบประมาณกว่า 2,200 ล้านบาท ในระยะแรกจะเป็นการขยายท่อใหม่ที่มีความกว้างขนาด 1 เมตรครึ่ง ถึง 2 เมตร ครอบท่อระบายน้ำขนาด 60 เซนติเมตรเดิม ส่งผลให้น้ำระบายได้เร็วยิ่งขึ้น โดยเริ่มดำเนินการในถนน 11 สาย ที่เป็นจุดอ่อนการระบายน้ำ เช่น ถนนอโศก สุขุมวิท ทรงวาด ศรีอยุธยา แบริ่ง และงามวงศ์วาน
อย่างไรก็ตาม ถนนในพื้นที่ กทม. มีความยาวทั้งหมด 6,400 กิโลเมตร แต่งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ สามารถปรับปรุงท่อระบายน้ำใหม่ได้เพียง 200 กิโลเมตรเท่านั้น จึงยังจำเป็นต้องอาศัยวิธีการอื่นๆ ช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขัง อย่าง "เครื่องสูบน้ำ" ที่ยังต้องยกให้เป็นพระเอกในเวลานี้
ภาพจาก Youtube : MTS Perforator GmbH