ไม่พบผลการค้นหา
สัมภาษณ์แพทย์ในระบบราชการ หลังกระแสข่าวชะตากรรมบุคลากรสาธารณสุข อาชีพที่มีหน้าที่ดูแลสุขภาพประชาชน ตกเป็นข่าวสะท้อนการมีปัญหาคุณภาพชีวิตเสียเอง มาทบทวนอัตรากำลัง ภาระงานและ ‘โครงการ 30 บาท’ ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไร  

สัมภาษณ์แพทย์ในระบบราชการ หลังกระแสข่าวชะตากรรมบุคลากรสาธารณสุข อาชีพที่มีหน้าที่ดูแลสุขภาพประชาชน ตกเป็นข่าวสะท้อนการมีปัญหาคุณภาพชีวิตเสียเอง มาทบทวนอัตรากำลัง ภาระงานและ ‘โครงการ 30 บาท’ ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไร    


ฟังประสบการณ์แง่คิดจาก นพ.สุรัตน์ ตันติทวีวรกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลกระบี่ ผู้นำในโครงการเครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะ (คศน. 042) แพทย์ที่ยังอยู่ในระบบราชการ ขณะที่อาชีพนี้สามารถทำรายได้อย่างมากในเอกชน 

– สัดส่วนแพทย์พยาบาลที่ต้องดูแลประชาชนในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดแตกต่างกันอย่างไร 

 

ถ้าดูจากสถิติของหมอทั้งประเทศ ตอนนี้เรามีหมอ 30,000 กว่าคน  การกระจายในภาครัฐ 25,000 คน เอกชนประมาณ 6,000 คน อยู่ในกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 18,000 คน อยู่นอกกระทรวงสาธารณสุข ประมาณ 7,000 คน 

 

ขณะที่ประชากรมี 65 ล้านคน สัดส่วนหมอ 1 คนต้องดูแลคนไข้ประมาณ 2,125 คน แต่สัดส่วนการกระจาย 

 

ปรากฏว่า หมอในกรุงเทพฯ 1 คนดูแลคนไข้ 700 คน ส่วนหมอต่างจังหวัดดูแลคนไข้  1 ต่อ 2,600 คน ซึ่งเกินกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ

 

ส่วนพยาบาลทั้งประเทศรวมทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวนประมาณ 150,000 – 160,000 คน อัตราส่วน 1 คนดูแลคนไข้ 430 คน แต่พยาบาลที่อยู่ใน กรุงเทพฯ 1 คนดูแลคนไข้ 200 คน  พยาบาลต่างจังหวัด 1 คนดูแลคนไข้ 480 คน แตกต่างกัน 1 เท่า ปัญหาการกระจายตัวบุคลากร ก็ยังมีปัญหาอยู่ เพราะอยู่ในกทม.กับปริมณฑลเยอะกว่า ดังนั้น ในต่างจังหวัดจะรับภาระมากกว่า 

 

จะเห็นได้ว่า ในกรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลเอกชนเยอะ จำนวนหมออยู่เอกชนเยอะ ขณะที่ต่างจังหวัด โรงพยาบาลเอกชนมีไม่มาก ส่วนใหญ่จะเป็นโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลชุมชนตามอำเภอ หมอที่อยู่ตามโรงพยาบาลชุมชนดูแลคนไข้เยอะ 

 

แต่ถ้าดูโรงพยาบาลภาครัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ใน กทม. ก็มีคนไข้ไม่น้อย เช่น รพ.ราชวิถี รพ.เด็ก รวมถึง รพ.สังกัด กทม. รพ.กลาง รพ.เลิดสิน คนไข้ก็เยอะเพราะต้องส่งจากต่างจังหวัดเข้ามาในกรุงเทพฯ ฉะนั้น ภาระงานเยอะ แม้บุคลากรเยอะจริง แต่ภาระงานก็เยอะเป็นเงาตามตัว      

 

จริงๆ แล้ว สัดส่วนของหมอที่ดูแลคนไข้ ถ้าดูปัจจุบันเทียบเมื่อ 10 ปีที่แล้วจะพบว่า 10 ปีที่แล้ว เราต้องดูแลคนไข้ 1 ต่อ  3,000 คน พอมีการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ก็ทำให้จำนวนหมอเพิ่มขึ้น จากเดิมสมัยผมเรียน แต่ละปีอาจจะมีไม่ถึง 1,000 คน ตอนนี้เรียนจบ 1,000 กว่าคนต่อปี สัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 1 ต่อ 3,000 คน เป็น 1 ต่อ 2,800-2,500 คน ตอนนี้ก็ดีขึ้นหน่อย 1 ต่อ 2,200 แต่การกระจายตัว ก็ยังกระจุกตัวอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล


 
-การจัดสรรบุคลากรเป็นอย่างไร ทำไมกระทรวงสาธารณสุขจึงไม่สามารถกระจายแพทย์ไปต่างจังหวัดได้ทั่วถึง

 

ใน 1 ปี หมอที่เรียนจบจะมีส่วนหนึ่งที่ไปอยู่กระทรวงอื่นด้วย เช่น กระทรวงกลาโหมเป็นหมอทหาร หรืออยู่โรงพยาบาลสังกัด กทม. หมอบ���งส่วนผลิตจากเอกชนและบางส่วนจบจากมหาวิทยาลัยของรัฐบาลแต่เขาไม่ประสงค์จะรับราชการ ก็ไปทำงานเป็นหมอเอกชน 

 

ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขเป็นส่วนหนึ่งที่มีหมอเข้ามาในระบบ แต่การกระจายไม่ได้อยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขอย่างเดียว อยู่ที่การตัดสินใจของหมอแต่ละคน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขมีอยู่ในมือประมาณ 1,000 กว่าคน(ต่อปี) การกระจายเบื้องต้น จะให้ลงทุกจังหวัด แล้วดูว่าแต่ละจังหวัดขาดแคลนหมอมากน้อยแค่ไหน ดูตามจำนวนประชากร ถ้าประชากรเยอะ ก็เอาหมอไปเยอะกว่าจังหวัดที่ประชากรน้อย  

 

-วิธีการกระจาย


 
อันดับแรกกระทรวงมีการกึ่งๆ บังคับให้เข้าระบบราชการ พอเข้าระบบราชการ เขาก็จะกำหนดว่า ถ้าจบใหม่ต้องใช้ทุนอย่างน้อย 3 ปี คือคุณหมอ 1 คน จบมา ต้องอยู่ต่างจังหวัดอย่างน้อย 3 ปี ถ้าออกก่อนต้องชดใช้เงินเป็นหลักแสน ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ตรึงคนให้อยู่ต่างจังหวัด อยู่ชนบทให้มากขึ้น 

 

พอพ้น 3 ปี บางคนก็ลาออก บางคนก็อยู่ต่อ ถ้าอยู่ต่อก็อยู่จังหวัดหรืออยู่ชุมชนนั้น เป็นหมออาวุโสหรือเป็นผู้อำนวยการ 

 

บางคนเข้ามาเรียนต่อเฉพาะทาง เช่น ผ่าตัด อายุรกรรม เด็ก เรียนเฉพาะทางถ้ายังสังกัดราชการก็เรียนต่อได้ยังไม่ออกจากระบบราชการ เพียงแต่อาจจะเปลี่ยนที่ทำงาน เมื่อก่อนอยู่ต่างอำเภอ พอเป็นแพทย์เฉพาะทาง ก็อยู่โรงพยาบาลจังหวัด ก็ยังอยู่ในระบบ แต่คนที่ออกไปก็จะไปอยู่เอกชนเสียส่วนใหญ่ 

 

-ทำไมหมอไม่อยากอยู่ต่างจังหวัด 

 

ถามว่าทำไมไม่อยากอยู่ต่างจังหวัด มีหลายประเด็นนะ ระหว่างหมอสมัยก่อนกับหมอสมัยนี้ ผมก็ยังไม่แน่ใจนะว่า attitude หรือเจตคติของเขาเป็นอย่างไร คือ เด็กๆ บางคนสมัยนี้อาจจะรักสบาย พอรักสบายปุ๊บ อยู่ต่างจังหวัดอาจจะไม่สะดวกสบายเหมือนกรุงเทพฯ ปริมณฑล ก็เลยไม่ค่อยอยากอยู่ แล้วก็ส่วนหนึ่งถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ หรือปริมณฑล อาจจะมีเอกชนให้ทำ มีโอกาสที่จะสร้างรายได้ ตรงนั้นน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ก็อาจจะเป็นแค่ส่วนหนึ่ง

– ตั้งแต่มีโครงการ “30 บาทรักษาทุกโรค” มีประชาชนเข้าไปใช้บริการเยอะ ขณะที่แพทย์ในต่างจังหวัดยังมีจำนวนน้อย คุณหมอคิดว่าเป็นปัญหาหรือเปล่า  

 

นโยบาย 30 บาท ส่วนตัวผมมองว่าเป็นเรื่องการบริหารจัดการ วัตถุประสงค์ของการสร้างนโยบายเพื่อสร้างความเสมอภาค การเข้าถึงของประชาชนทุกคน เพราะคนไทยรายได้ต่างกัน คนที่มีรายได้น้อยเมื่อก่อนก็กลัวเสียค่าใช้จ่ายเยอะก็ไม่กล้าเข้าโรงพยาบาล
 
พอมี 30 บาทเข้ามา ก็ช่วยให้มีความเสมอภาคในการเข้าถึงมากขึ้น เมื่อประชาชนเข้าถึงมากขึ้น ก็ต้องยอมรับว่า คนมาใช้บริการมากขึ้น แต่ด้วยบุคคลากรมีอยู่อย่างจำกัด อาจจะต้องรับมือกับคนที่เข้ามามากขึ้น เป็นเงาตามตัวไป คนมากขึ้นงานก็มากขึ้น ก็ต้องทำงานหนักมากขึ้น
 
แต่อย่างไรก็ตาม ภาระงานที่หนัก ถ้าเรามีเจตนคติที่ดี มีทัศนคติที่ดีในการทำงาน เป็นหมอ ยังไงก็ต้องดูแลช่วยเหลือคนไข้ จะมามากน้อยแค่ไหนก็ต้องรับรักษา 

 

-มีปัญหาจากโครงการ 30 บาทอย่างไร

 

ในความเห็นผมนะ อาจจะไม่ถูกทั้งหมด ผมว่า ความชัดเจนในบางเรื่อง เช่น คำว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” มันเป็นชื่อประชานิยม คนทั่วไปก็อาจจะเข้าใจว่า ทุกโรคเสีย 30 บาทหรือไม่เสียตังค์เลย แต่จริงๆ แล้ว มันจะมีเงื่อนไขในแต่ละโรคว่า คนไข้สามารถใช้ได้เฉพาะบางโรค ส่วนบางโรคใช้ไม่ได้ เช่น ศัลยกรรมความงามใช้ไม่ได้แน่ เพราะไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์ที่ 30 บาทเขาคุ้มครอง แต่ชาวบ้านบางคนอาจจะไม่ทราบ เราผู้ให้บริการก็ต้องมาชี้แจง รวมถึงยาบางตัวเป็นยาราคาแพง ก็ต้องมีการพูดคุยกัน แต่ชาวบ้านบางคนก็เข้าใจว่าต้องได้หมด 

 

อาจจะเป็นเรื่องความชัดเจนในการสื่อมากกว่าก็เลยทำให้ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ให้บริการต้องมาคุยกัน แต่จริงๆ แล้ว ผมคิดว่าโดยเนื้อของ 30 บาท ผมก็คิดว่าช่วยประชาชนได้เยอะระดับหนึ่งใน 10 ปีที่ผ่านมา

 

-ที่โรงพยาบาลกระบี่ มีลักษณะเฉพาะอย่างไร 

 

กระบี่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ประชากรเกือบ 500,000 คน นักท่องเที่ยวมาเป็นล้าน มีแรงงานต่างด้าวด้วย มีโรงพยาบาลจังหวัด 1 โรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลกระบี่ และอำเภอต่างๆ มีโรงพยาบาลอำเภอ ซึ่งศักยภาพในการดูแลคนไข้ต่างจากโรงพยาบาลจังหวัด เพราะไม่มีหมอเฉพาะทาง การผ่าตัดจึงทำไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าเป็นผ่าตัดใหญ่ต้องดมยาสลบต้องมาที่ โรงพยาบาลกระบี่ที่เดียว ส่วนโรงพยาบาลชุมชนจะทำคลอดได้และอย่างอื่นเล็กๆ น้อยๆ ส่วนโรงพยาบาลเอกชน เพิ่งจะมี ก็พอที่ช่วยกระจายคนไข้ที่มีเงินไปที่เอกชนได้ แต่ภาระงานส่วนใหญ่ จะอยู่ที่โรงพยาบาลรัฐบาล 

 

-บุคลากรโรงพยาบาลกระบี่


 
โรงพยาบาลกระบี่ มี 340 เตียง ถ้าคิดแบบคร่าวๆ พยาบาลควรจะมี 340 คน คือ 1 ต่อ 1 แต่ที่ รพ.กระบี่มีพยาบาล 260 คน ซึ่งถ้าคำนวณภาระงานที่คนไข้เข้ามารักษาที่โรงพยาบาลกระบี่ ควรจะมีพยาบาลเท่าไหร่ ก็ควรจะมีพยาบาลอยู่ 550 คน หมายความว่า ที่เรามี 260 เราขาดไปครึ่งหนึ่ง อันนี้เป็นภาระงานที่ทำให้ผมเองก็เห็นใจเขานะ พยาบาลต้องขึ้นเวร 24 ชม. ต้องดูแลคนไข้หนักมากขึ้น รพ.กระบี่เองก็มีพยาบาลน้อยกว่าที่ควรจะมีประมาณเกือบครึ่งหนึ่ง 

 

-วิชาชีพอื่นๆ เพียงพอไหม

 

ถ้าอยู่ในวิกฤตจริงๆ ก็มีแพทย์กับพยาบาลซึ่งยังขาดพยาบาลมากสุด ส่วนเทคนิคการแพทย์ เภสัช หรือ ทันตแพทย์ เริ่มจะเพียงพอแล้ว อัตราส่วนจะไม่ขาดมาก 

 

- ปัญหาคุณภาพชีวิตบุคลากรสาธารณสุข

 

เราทำงานบริการดูแลคนไข้ 24 ชั่วโมง ไม่ใช่ 16.30 น.แล้วเลิกงาน การขึ้นเวรต้อง 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว เวรหนึ่งก็ 8 ชั่วโมง 16.30-00.30 น. นั่นคือเวรบ่าย พอ 00.30-8.30 ก็เป็นเวรดึก

 

ถ้าอยู่โรงพยาบาลชุมชน มีหมออยู่แค่ 2 คน เขาจะสลับเวรกันคนละวัน เข้าเวรคนละวันหมายความว่า พอตรวจคนไข้ตั้งแต่เช้าถึงเย็นหลัง 16.30 น. ถึงเช้า เขาก็ต้องอยู่เวร แปลว่า ถ้ามีคนไข้มาก็ต้องตามไปดู หรือคนไข้ปั๊มหัวใจก็ต้องตามไปดู อาจจะไม่ได้นอน หรือนอนน้อย แต่พอเช้า 8.30 คุณหมอต้องอาบน้ำแต่งตัว ไปตรวจคนไข้ตามปกติ เหมือนกับเมื่อคืนนี้ไม่มีอะไรเกิดขึ้น อันนี้ก็จะเป็นเรื่องของคุณภาพชีวิตที่ถ้ามีหมอมากขึ้นก็จะแบ่งปันเวลา ทำให้มีเวลามากขึ้นได้ 

 

- ข้อถกเถียงเรื่องทำงาน 24 ชั่วโมงมีจริงหรือไม่ คุณหมอคิดอย่างไร 

 

ถ้าโรงพยาบาลไหนมีหมอจำนวนน้อย เช่น 2-3 คน ก็ต้องอยู่เวรสลับกัน เฉลี่ยคนละ 10 วัน ส่วนที่บอกว่า 24 ชั่วโมง คือ ทำงานช่วงเช้า 8.30-16.30 ตรวจคนไข้หรือผ่าตัด นั่นคือนั่งทำงานหรือเดินตรวจคนไข้ในตึก พอช่วงบ่ายไม่ถึงขนาดต้องอยู่ตลอด บางคนถ้าอยู่รพ.ชุมชน ก็อาจจะอยู่บ้านได้ ออกไปกินข้าว พักผ่อน เล่นกีฬาได้ แต่ถ้ามีคนไข้ฉุกเฉินหรือมีเคสฉุกเฉินก็สามารถจะตามมาดูได้ ถ้าจัดสรรปันส่วนก็มีเวลาพักได้ หรือสลับกันได้ ถ้าต้องอยู่ 24 ชั่วโมงก็จะทำให้คุณภาพการทำงานลดลง ผมคิดว่าอยู่ที่การจัดการเวลาของแพทย์ด้วย 

 

ส่วนโรงพยาบาลที่มีแพทย์คนเดียว ก็เป็นไปได้เช่นกัน และคนไข้ก็อาจจะมาเวลาไหนก็ได้ โอกาสที่หมอถูกตาม ก็เป็นไปได้ ช่วงเช้าตรวจคนไข้เป็นหวัดเจ็บคอ ไม่ฉุกเฉิน แต่หลังเวลาราชการส่วนใหญ่ถ้าเขาฉุกเฉินจริงๆ เช่น ปวดท้อง มีบาดแผล เขาจึงจะมา เราอาจจะไม่ได้อยู่โรงพยาบาลตลอดเวลา แต่มาโดยการตามให้มาดู

 

-คุณหมอมาจากฝั่งผู้ให้บริการสู่ตำแหน่งบริหาร มีอะไรอยากจะผลักดัน 

 

ผมเป็นหมอหูคอจมูก เป็นหมอผ่าตัด เคยต้องอยู่เวรคนเดียว เคยอยู่เวร on call ที่ตามได้ตลอด 24 ชม.ทั้งเดือน ทำงานรวมตั้งแต่จบแพทย์เฉพาะทางก็เกือบ 20 กว่าปี ทำงานบริหารประมาณเกือบ 10 ปี เราก็เข้าใจว่าปัญหาการทำงาน อันที่ 1) พอเราเป็นหมอ การอยู่เวรหรือการดูแลคนไข้ 24 ชั่วโมง มันปฏิเสธไม่ได้ เป็นงานที่จะต้องทำอยู่แล้ว


 
อันที่ 2) ต้องพยายามปรับตัวเองให้เข้าใจว่า ความสุขในการทำงานมันอยู่ตรงไหน ถ้าเอาภาระงานมาเป็นความทุกข์ก็อาจจะทำให้เราไม่สามารถที่จะเดินไปข้างหน้าได้ 

 

ความสุขการทำงานขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย 1) อยู่ในตัวเราเอง มองว่าภาระงานนั้นทำให้มีความสุขไหม ถ้ามีความสุขถึงแม้ภาระงานจะเยอะ เราก็เต็มใจที่จะทำ ปัจจัยที่ 2) คือ ปัจจัยภายนอก เช่น นโยบาย ภารงานอัตรากำลัง ซึ่งก็ต้องแก้ในเชิงระบบว่าต้องทำยังไงให้มีหมอเข้าอยู่ในระบบให้มากขึ้น หรือให้มีพยาบาลในระบบมากขึ้น ปัจจัยที่ 3) มาจากพันธุกรรมซึ่งแก้ไม่ได้  มี 2 เรื่องที่แก้ได้คือปัจจัยภายในและภายนอก 

 

-7วิชาชีพทางการแพทย์ ยื่นกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการบรรจุ คุณหมอคิดอย่างไร  

 

ผมไม่ได้อยู่สภาวิชาชีพตรงนั้น ถ้าความเห็นส่วนตัวคือ การบรรจุเป็นข้าราชการก็เป็นเรื่องความมั่นคงของชีวิต มีเงินเดือนประจำแน่นอน มีสวัสดิการของรัฐที่มาช่วยดูแล ทั้งค่ารักษาพยาบาลและอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้คนอยู่ในระบบมากขึ้น เพราะว่าแม้เงินเดือนข้าราชการจะน้อยกว่าเอกชนแต่ในระยะยาว ความยั่งยืน เขาก็จะพอใจมากกว่า 

 

ต่อให้ไปอยู่เอกชนแม้เงินเดือนมากกว่า แต่เมื่ออายุการทำงานมากขึ้นงานหนักเหมือนเดิมอาจจะไม่ไหว อาจจะลาออก ฉะนั้น ความมั่นคงในชีวิตอาจจะไม่เท่าข้าราชการ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หลายคนอยากบรรจุเป็นข้าราชการ 

 

-ปัญหางบประมาณและอัตราตำแหน่งที่จะรองรับ 

 

กพ. ต้องคุยกับสำนักงบฯ ส่วนตัวผมก็เห็นด้วยนะอย่างวิชาชีพพยาบาล ก็ดูแลคนไข้ 24 ชั่วโมง การบรรจุแต่ละปีค่อนข้างจะยังน้อยอยู่ ฉะนั้น ให้เขาบรรจุก็สร้างความมั่นคงให้ชีวิตของเขาและอย่างน้อยเราก็มั่นใจว่า พยาบาลในระบบราชการมีมากขึ้น การดูแลคนไข้ก็น่าจะดีขึ้น เขาไม่ออกจากระบบ 

 

-ปัญหาการให้บริการการแพทย์ นอกจากงบประมาณและกำลังคน

 

เรื่องงบฯ กับเรื่องคน เป็นเรื่องผู้บริหารมองดู เฝ้าดูอยู่ ผมว่าไม่ได้เป็นปัญหาภาพหลักของการให้บริการทางการแพทย์ 

 

จริงๆ แล้วในความเห็นส่วนตัว ผมว่าปัจจุบันหมอพยาบาลกับคนไข้ เดี๋ยวนี้ มีเรื่องการฟ้องร้องมากขึ้น ปัญหาตรงนี้ ถ้าหมอหรือผู้ให้บริการทางการแพทย์ มีความสัมพันอันดีกับผู้ป่วย คุยดีๆ อธิบายดีๆ เห็นเขาเป็นญาติคนหนึ่ง ปัญหาการฟ้องร้องหรือไม่เข้าใจกันก็จะลดลง 

 

ส่วนเรื่องเงิน เรื่องงบประมาณ เราบริหารจัดการได้ แต่เรื่องบริหารความสัมพันระหว่างผู้รับบริการกับผู้ให้บริการอันนี้สำคัญสุด เพราะเป็นเรื่องของการสร้างความศรัทธา 

 

-เคยคิดจะไปอยู่ รพ.เอกชนไหม 

 

โดยส่วนตัวไม่เคยเลย เป็นอุดมการณ์ของตัวเองตั้งแต่เรียนจบ อยากจะทำงานในระบบราชการ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ในประเทศไทยเรายังไม่ร่ำรวย คนไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชน เขาก็ไม่ได้มีตังค์มาจ่ายหรอก 

 

ถ้าเรา 1 คนอยู่ในระบบ ก็สามารถที่จะช่วยคนไข้ที่เข้าไม่ถึงหรือมีฐานะทางการเงินน้อย ได้รับการรักษา ผมเห็นว่า ชาวบ้านจะได้ประโยชน์มากกว่า 

 

อีกประเด็นหนึ่ง ถ้าไม่มีคนอยู่ในระบบราชการ ถ้าไม่เข้ามาสัมผัสเอง เราก็จะไม่เห็นว่าอะไรคือปัญหา ผมมองไปข้างหน้า พอเราโตขึ้นก็จะรู้ว่าอะไรคือปัญหา และเราสามารถที่จะช่วยแก้ปัญหานั้นได้


 
-อุดมคติของหมอคืออะไร ทำได้จริงไหม 

 

พูดแล้วอาจจะเวอร์ไปนะ คือเราเกิดอยู่บนแผ่นดินไทย เราก็ต้องทำงานตอบแทนคุณแผ่นดิน คำว่าคุณแผ่นดินคือ เราเรียนมาแล้ว เราก็ใช้ความรู้ความสามารถตรงนั้นให้ดีที่สุด เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศของเรา ปัจจุบันก็รับราชการอยู่ ยังไม่คิดจะลาออก รับราชการมา 22-23 ปีแล้ว

 

-มีอะไรเป็นอุปสรรค ต่อการทำตามอุดมคติ


ก็มีบ้างระหว่างทาง ช่วงที่เป็นแพทย์เฉพาะทางอยู่คนเดียวทั้งโรงพยาบาล ภาระงานเยอะ เคยท้อเหมือนกัน แต่ก็ไม่ตัดสินใจจะออกนะ เรื่องทางการเงินส่วนตัวก็ไม่ได้เป็นประเด็นหลัก เพราะเงินที่ราชการให้มา เงินค่าตอบแทนอะไรต่างๆ ถ้าเราใช้อย่างพอเพียง เราก็อยู่ได้อยู่แล้ว ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร 
 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog