ลวดลายประดับประตูโขง วัดไหล่หิน จังหวัดลำปาง มีจุดเด่นแตกต่างจากที่อื่นๆ คือ ตกแต่งด้วยตุ๊กตาดินเผา มีเจ้าลิงเยี่ยมหน้าผลุบโผล่ นกคุ้มยืนเหนือหลังคาปราสาทจำลอง
วัดไหล่หิน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง มีความน่าสนใจที่วิหารและประตูโขง พระอารามแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ 23 มีนามเรียกขานหลายชื่อ เช่น วัดไหล่หินแก้วช้างยืน วัดไหล่หินหลวง ชาวบ้านรุ่นก่อนๆเรียกว่า วัดป่าหิน หรือวัดม่อนหินแก้ว ชื่อทางการในปัจจุบันคือ วัดเสลารัตนปัพพตาราม
ไม่ปรากฎประวัติวัดเมื่อแรกสร้าง มีจารึกเขียนบนแผ่นไม้ในวิหาร บันทึกการบูรณะปฏิสังขรณ์วิหารเมื่อจ.ศ.1045 ตรงกับปีพ.ศ.2226 หรือเมื่อกว่า 300 ปีก่อน สันนิษฐานว่า ประตูโขงหน้าวิหารคงสร้างในคราวเดียวกัน
ประตูโขงวัดไหล่หินเป็นอาคารขนาดเล็ก สูงประมาณ 5 เมตร ไม่ย่อมุม เจาะช่องทางเดินด้านทิศตะวันออก-ตะวันตก ใต้วงโค้งเหนือช่องทางเดินมีหน้าบัน ปรากฎรูปพระธรรมจักร
ตัวอาคารฉาบปูน ตกแต่งด้วยงานปูนปั้น ลวดลายประดับได้รับอิทธิพลจากโขงวัดพระธาตุลำปางหลวง แผกต่างเพิ่มเติมตรงที่มีการใช้เซรามิคตกแต่ง
อาคารด้านตะวันออกและตะวันตกทำเสาปากแล 2 ชั้นรองรับซุ้มซ้อน ด้านเหนือและด้านใต้ทำเสาชั้นเดียวรองรับซุ้มเดี่ยว
ส่วนยอดทำเป็นทรงปราสาท ปลียอดตั้งบนฐานทรงเหลี่ยม ปลายสุดเป็นยอดบัว
ประตูโขงมีปูนปั้นประดับ ทั้งในส่วนผนัง เสาปากแล และซุ้มโค้ง
ผนังมีการปรับแต่งเหลี่ยมผนังด้านล่างให้เป็นปากแล (ปากนกแก้ว) เหลี่ยมผนังเว้าเข้าเล็กน้อย ประดับลายกาบบน และกาบล่าง เป็นลายก้านขดภายในกรอบหยัก ประจำยามอกที่กลางผนังเป็นลายพรรณพฤกษาในกรอบขนมเปียกปูนขอบหยัก
บนกำแพงข้างประตูโขงทั้งสองด้าน ประดับลายปูนปั้นนูนต่ำรูปกินรี
เสาปากแลประดับลายกาบบนและลายกาบล่าง ลักษณะคล้ายกับลายที่ส่วนผนัง ในช่วงกลางของเสาไม่มีประจำยามอก
ซุ้มโค้งเหนือเสาปากแล ประดับปูนปั้นทั้งสี่ด้าน ด้านตะวันออกและตะวันตกประดับทั้งบนซุ้มโค้งหน้าและซุ้มโค้งซ้อน
ภาพระยะใกล้ของซุ้มด้านตะวันตก ซุ้มโค้งหน้าทำกรอบซุ้มเป็นหยักทางด้านล่าง ช่วงโค้งพอกนูน แต่งลายดอกไม้สี่กลีบ กลางดอกไม้ติดกระเบื้องเคลือบสี (ยังเหลือเล็กน้อยบนซุ้มด้านตะวันออก) ปลายกรอบซุ้มเป็นหางวัน (ลักษณะคล้ายตัวเลข ๑ ไทย) บรรจุลายก้านขด
เหนือเสาปากแล ใกล้กับปลายซุ้มโค้งหน้า มีกินนรกินรีฟ้อนรำอยู่หน้าหางวัน
ภาพระยะใกล้ของซุ้มด้านตะวันออก ซุ้มโค้งซ้อนทำปลายกรอบซุ้มเป็นมกรคายนาคสามเศียร ตัวนาคมีเกล็ดและครีบ ยอดซุ้มเป็นหางนาคเกี้ยว มีดอกไม้แปดกลีบ ทำด้วยกระเบื้องดินเผา แทรกอยู่
เหนือซุ้มโค้งหน้ามีหงส์นั่งเรียงราย หันหน้าเข้าหาส่วนกลางโค้งซึ่งประดับปูนปั้นคล้ายกลีบบัว
ส่วนยอดเป็นรูปจำลองของปราสาท มี 4 ชั้น ชั้นที่หนึ่งเป็นหลังคาเอนลาด ประดับสันหลังคาด้วยตัวลวง เป็นสัตว์คล้ายงู มีเกล็ด ครีบ เครา หงอน และขา
สังเกตให้ดี เหนือซุ้มโค้งซ้อนด้านทิศตะวันตก มองเห็นลิงหัวแหลม ตาโปน โผล่หน้าจ้องมองอย่างอยากรู้อยากเห็น
ในชั้นที่สองเหนือสันหลังคาลาด มีดินเผารูปบุคคลแต่งกายทรงเครื่อง นั่งพับขาพนมมือ
ทุกชั้นและทุกด้านมีแผงปูนปั้นทำเป็นซุ้มหน้านาง สื่อแสดงความเป็นปราสาท ด้านหลังของซุ้มหน้านางมีแท่งเสาทรงเหลี่ยม แต่งปลายคล้ายบัวตูม
ที่ย่อมุมของชั้นที่สามและปลียอด ประดับกาบ ภายในกรอบประดับลายพรรณพฤกษา
ที่ปลายสันหลังคาชั้นที่สี่ ประดับรูปหงส์ทั้งสี่มุม หันหน้าเข้าหาอาคาร
16
ภาพระยะใกล้ของส่วนยอดชั้นที่สอง สาม และสี่ ทางด้านตะวันออก มองเห็นตุ๊กตาดินเผารูปนกคุ้ม ยืนแอบอยู่เหนือหลังคาลาดของซุ้มประตู ถัดขึ้นไปอีกชั้นมีรูปบุคคล ทรงเครื่องคล้ายผ้านุ่งมีลาย
โขงวัดไหล่หิน นับเป็นแบบอย่างดั้งเดิมที่เหลืออยู่น้อยแห่ง ของงานศิลปกรรมล้านนา ประเภทซุ้มประตู.
แหล่งข้อมูล
สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์, ม.ล. (2545). เที่ยววัดเที่ยววา ชมปูนปั้นล้านนา. กรุงเทพฯ : สายธาร.
อุมาพร เสริฐพรรณึก. (2540). การศึกษาประตูโขงแบบล้านนาในจังหวัดลำปาง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ.
ติดตาม ไทยทัศนา ย้อนหลัง
ไทยทัศนา : (1) วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (2) วัดสุวรรณาราม ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (3) วัดราชโอรส ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (4) วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (5) วัดสุวรรณดาราราม อยุธยา
ไทยทัศนา : (6) วัดเสนาสนาราม อยุธยา
ไทยทัศนา : (7) วัดจันทบุรี สระบุรี
ไทยทัศนา : (8) วัดสมุหประดิษฐาราม สระบุรี
ไทยทัศนา : (9) วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (10) วัดบางขุนเทียนใน ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (11) วัดซางตาครู้ส ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (12) วัดบางขุนเทียนนอก ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (13) วัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม
ไทยทัศนา : (14) วัดนิเวศธรรมประวัติ อยุธยา
ไทยทัศนา : (15) สัตตมหาสถาน กรุงเทพฯ เพชรบุรี
ไทยทัศนา : (16) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (17) วัดตองปุ ลพบุรี
ไทยทัศนา : (18) มหาธาตุ ลพบุรี
ไทยทัศนา : (19) จิตรกรรม วัดพุทไธสวรรย์ อยุธยา
ไทยทัศนา : (20) พระปรางค์มหาธาตุ ราชบุรี
ไทยทัศนา : (21) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (22) วัดพระธาตุลำปางหลวง (ตอนที่หนึ่ง)
ไทยทัศนา : (23) วัดพระธาตุลำปางหลวง (ตอนที่สอง)
ไทยทัศนา : (24) วัดพระธาตุลำปางหลวง (ตอนที่สาม)
ไทยทัศนา : (25) วัดพระธาตุลำปางหลวง (ตอนที่สี่-จบ)
ไทยทัศนา : (26) ประตูโขง วัดกากแก้ว นครลำปาง