ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเมียนมาวิพากษ์วิจารณ์นางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ซึ่งสวมสร้อยคอหยกขนาดใหญ่เข้าร่วมงานเลี้ยงระหว่างการประชุมสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีทั้งเสียงชื่นชมและเสียงตำหนิ

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเมียนมาวิพากษ์วิจารณ์นางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ซึ่งสวมสร้อยคอหยกขนาดใหญ่เข้าร่วมงานเลี้ยงระหว่างการประชุมสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีทั้งเสียงชื่นชมและเสียงตำหนิ

นางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำระหว่างการประชุมสันติภาพเมียนมา ครั้งที่ 2 เมื่อ 24 พฤษภาคม ซึ่งเป็นการเจรจาหารือระหว่างรัฐบาลเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ 17 กลุ่ม เพื่อจะนำไปสู่ข้อตกลงหยุดยิงและวางอาวุธทั่วประเทศ แต่ประเด็นที่ได้รับความสนใจจากชาวเมียนมามากที่สุด คือ 'สร้อยหยก' ซึ่งนางซูจีใส่ในงานเลี้ยง หลังจากมีผู้นำภาพที่นางซูจีใส่สร้อยหยกขนาดใหญ่ไปเผยแพร่ต่อในสื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก

อิรวดี สื่อของเมียนมา รายงานว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กบางคนชมเชยสร้อยคอหยกของนางซูจีว่าเป็น 'สไตล์ที่แปลกใหม่' เพราะชาวพม่าส่วนใหญ่นิยมใส่สร้อยมรกตมากกว่า แต่ผู้ใช้เฟซบุ๊กบางรายบอกว่า 'ยิ้มไม่ออก' เพราะสร้อยหยกทำให้นึกถึงเหมืองหยกในรัฐคะฉิ่น ที่มีความเกี่ยวพันกับอดีตรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งทุจริตมอบสัมปทานให้กับเครือข่ายพวกพ้องของตนเอง ส่วนคนในพื้นที่ซึ่งไม่มีทางเลือกก็ต้องทำงานขุดหยกในเหมืองเพื่อแลกกับค่าแรงที่ต่ำมาก

นอกจากนี้ เหมืองหยกหลายแห่งในรัฐคะฉิ่นยังมีประวัติการกดขี่แรงงานและไม่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยเพียงพอ ทำให้เกิดเหตุเหมืองถล่มหลายครั้งและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ผู้ใช้สื่อโซเชียลจำนวนหนึ่งจึงวิจารณ์ว่าการสวมสร้อยหยกของนางซูจีในการประชุมเพื่อหาทางยุติความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะรัฐคะฉิ่นเป็นหนึ่งในรัฐที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหยกของอดีตรัฐบาลทหาร

(ภาพจาก Irrawaddy: นางอองซานซูจีสวมสร้อยหยกดังกล่าวในงานเลี้ยงอาหารค่ำหลังการประชุมสันติภาพ)

อย่างไรก็ตาม สื่อของเมียนมาระบุว่า นางซูจีอาจได้รับสร้อยหยกเป็นของขวัญ และเป็นสร้อยที่เข้ากับชุดพอดี จึงสวมออกงานโดยไม่คิดอะไร เพราะก่อนหน้านี้นางซูจีเคยให้สัมภาษณ์ว่าเธอมักจะใช้เครื่องประดับเท่าที่มีอยู่ แต่ผู้ที่รู้เหตุผลดีที่สุดก็คงมีเพียงนางซูจีเท่านั้น

ขณะที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ Global Witness รายงานว่า มูลค่าจากธุรกิจหยกในรัฐคะฉิ่นอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาทต่อปี ทำให้นายทุนร่ำรวยจากธุรกิจหยก และรัฐบาลมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการเก็บภาษี แต่ประชาชนในรัฐคะฉิ่นกลับไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ มากนัก เพราะรายได้จากเหมืองหยกไม่ได้ถูกนำไปใช้พัฒนาสิ่งใดในรัฐคะฉิ่น ซึ่งยังเป็นพื้นที่สู้รบระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กับกองทัพเมียนมา ประชาชนจึงขาดแคลนแม้กระทั่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างไฟฟ้าและน้ำประปา และกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากถูกไล่ที่ออกจากเขตสัมปทานเหมืองหยกกลายเป็นผู้พลัดถิ่นไร้ที่อยู่อาศัย

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา โกลบัล วิทเนส เตรียมจัดฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Jade and the Generals ที่โรงแรมพาร์ครอยัลในนครย่างกุ้ง เพื่อบอกเล่าความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจและเหมืองหยกของกลุ่มทหารระดับชั้นนายพลพม่า แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลเมียนมาออกคำสั่งมายังโรงแรมให้ยกเลิกการจัดงานดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าการพูดคุยเรื่องเหมืองหยกยังเป็นประเด็นต้องห้ามในเมียนมา 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog