ไม่พบผลการค้นหา
ตวงพร อัศววิไล รายงานบรรยากาศ ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ตามรอยพระอริยสงฆ์ลุ่มน้ำโขง วันที่ 3

เข้าสู่วันที่ 3 ของ "ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ตามรอยพระอริยสงฆ์ลุ่มน้ำโขง" คณะสงฆ์จาก 5 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนามและไทย ปักกลดพักแรมคืนที่ 2 ที่วัดพูส่าเหล้า แขวงจำปาสัก สปป.ลาว

จากนั้นในช่วงเช้าเดินทางมาถึง "วัดหลวงปากเซ" มีพิธีต้อนรับขบวนธรรมยาตราอย่างสมเกียรติ โดยพระอาจารย์ใหญ่มหางอน ประธานองค์การพุทธศาสนาลาวสัมพันธ์เป็นประธานในพิธี

นายบัวลิน วงพะจัน รองเจ้าแขวงจำปาสัก กล่าวต้อนรับว่า แขวงจำปาสักเป็นดินแดนแห่งอริยสงฆ์ที่สำคัญ มีพระอริยสงฆ์ที่เป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนตั้งแต่ในอดีตกาล คือ "เจ้าราชครูโพนสะเม็ก" หรือ "พระครูขี้หอม" สมเด็จพระมหาญาณเถระ" หรือ สมเด็จสำเร็จลุน. รวมถึงประธานองค์กรพุทธศาสนาลาวสัมพันธ์องค์ที่ 2 , องค์ที่ 3 และองค์ที่ 4 คือพระอาจารย์ใหญ่ ดร.มหาผ่อง สะมาเลิก ที่เป็นที่เคารพนับถือของคนไทยด้วย โดยท่านเป็นผู้จุดประกายให้เกิดโครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน

สำหรับประวัติของสมเด็จพระมหาญาณเถระ กตปุญโญ หรือสมเด็จลุน เกิดเมื่อปี พ.ศ.2396 ที่เมืองโพนทอง แขวงจำปาสัก บรรพชาเป็นเณรเมื่ออายุ 12 ปี ลักษณะพิเศษคือ มีความจำเป็นเลิศ ท่านอุปสมบทเมื่ออายุ 20 ปี เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัย เน้นการปฏิบัติ แตกฉานในทุกศาสตร์จนสามารถแต่งตำราได้จำนวนมาก ทั้งตำราเกี่ยวกับพุทธศาสนา ตำราสมุนไพร และมีชื่อเสียงเลื่อเรื่องอิทธิฤทธิ์ ปาฎิหารย์ ท่านละสังขารเมื่ออายุ 108 ปี

ส่วนเจ้าราชครูโพนสะเม็ก หรือ"พระครูขี้หอม" เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ลาวยุคที่แผ่ราชอาณาจักรครอบคลุม 2 ฝั่งโขง ท่านเป็นผู้ทำให้ราชอาณาจักรลาวที่มี 2 ราชอาณาจักร คือ ล้านช้างหลวงพระบาง และล้านช้างเวียงจันทน์ กลายเป็น  3 อาณาจักรอิสระ ที่เพิ่มข้นมาคือ อาณาจักรจำปาสัก

พระครูขี้หอม เกิดในสมัยพระเจ้าสุริยวงศ์ธรรมิกราชแห่งราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ท่านบวชเมื่ออายุ 13 ปี มีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัยตั้งแต่เป็นเณร กิตติศัพท์เลื่องลือไปถึงพระเจ้ากรุงเวียงจันทน์ ท่านเป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนลาว และสร้างวัดวาอารามหลายแห่ง ที่สำคัญท่านพระครูยังมีส่วนบูรณะ"พระธาตุพนม"ด้วย

พุทธศาสนิกชนชาวลาวมีความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อพระพุทธศาสนา จึงอยู่กันอย่างสงบร่มเย็น โครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ตามรอยพระอริยสงฆ์ลุ่มน้ำโขง ถือเป็นการเปิดหน้าศักราชใหม่ของ สปป.ลาว เพราะเป็นโครงการที่ศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติให้ความเห็นชอบและให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

ดร.สมอก กิ่งสะดา  "รองประธานศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติ" ขอบคุณคณะพระสงฆ์ 5 ประเทศ อุบาสก-อุบาสิกาที่มีความสามัคคีใช้"พุทธศาสนา"ในการเชื่อมความสัมพันธ์  ประชาชนสปป.ลาวจำนวนมากที่มาร่วมงานธรรมยาตรามาด้วยความศรัทธา ทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างฉันมิตร

ที่ สปป.ลาวยังมีประเพณีถวาย "นมสด" รดต้นพระศรีมหาโพธิ์ มีความหมายถึงการมอบกาย วาจา ใจอันบริสุทธิ์ถวายแก่พุทธศาสนา มีตำนานเล่าขานว่าในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงมีความเลื่อมใสในพุทธศาสนา เมื่อถึงวันพระแปดค่ำ และสิบห้าค่ำจะเสด็จไปประทับปฏิบัติธรรมที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์เดือนละหลายวัน ทำให้พระมเหสีองค์หนึ่งไม่พอใจ นางจึงสั่งให้คนรับใช้นำ "น้ำร้อน" ไปรดที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์จนตาย

เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงทราบเรื่อง จึงตั้งปณิธานว่าจะปฏิบัติธรรมใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์จนกว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์จะฟื้นคืนมาใหม่ และทรงโปรดให้ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์เยียวยาต้นพระศรีมหาโพธิ์ และขุดหน่ออ่อนๆ ของต้นพระศรีมหาโพธิ์คิดมาบริบาลด้วยการให้ปุ๋ย และ "น้ำนม" ไม่นานนักหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ก็เติบโตแข็งแรง แตกกิ่งก้านสาขา

จุดสุดท้ายก่อนออกเดินทางจาก สปป.ลาวคณะธรรมยาตรา 5 แผ่นดินได้แวะชมความงดงามของ "ปราสาทวัดพู" ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก จุดเด่นของปราสาทวัดพู คือ "บาราย" คือ สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ขนาดใหญ่ โดยน้ำศักดิ์สิทธิ์นึ้จะใช้ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา

ปราสาทวัดพูได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมร ก่อสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 หากจะศึกษาความเป็นมาของปราสาทวัดพูและชมโบราณวัตถุจะต้องเดินทางไปที่ "พิพิธภัณฑ์วัดพู" จะมีการรวบรวมข้อมูลและนำเสนออย่างละเอียด

จากนั้นคณะธรรมยาตราเดินทางด้วยรถบัสต่อไปอีก 4 ชั่วโมงไปยังด่านตรอเปียงเกรียล มุ่งหน้าไปยังจังหวัดสตึงแตรง ราชอาณาจักรกัมพูชา ภาพประวัติศาสตร์อีกภาพที่จะถูกจารึกคือ ภาพคณะสงฆ์จาก 5 ประเทศเดินธรรมยาตราข้ามสะพานเซกง ข้ามแม่น้ำเซกงเพื่อไปยังวัดโปธิเญียน

ที่วัดโปธิเญียนเป็นสถานที่ปักกลดพักค้างแรมของคณะพระสงฆ์จาก 5 แผ่นดิน  โดยมีพิธีมอบเสาเสมาธรรมจักร ธงฉัพพรรณรังสีและธงธรรมยาตรา ทั้งยังมีการปลูกหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ จากพุทธคยา ประเทศอินเดียเป็นสัญลักษณ์ด้วย

ธรรมยาตรา 5 แผ่นดินวันที่ 3 ผ่านไปแล้ว 3 ประเทศ เริ่มจากประเทศไทย ต่อมายัง สปป.ลาว และราชอาณาจักรกัมพูชา กงล้อแห่งธรรมได้ขับเคลื่อนแล้วอย่างไร้พรมแดน

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog