ชมประตูโขงแบบล้านนา ณ โบราณสถานวัดกากแก้ว คนท้องถิ่นเรียกว่า กู่เจ้าย่าสุตา สันนิษฐานอายุอาจเก่าแก่กว่าโขงวัดพระธาตุลำปางหลวง
ประตูโขงวัดกากแก้ว บนถนนวังเหนือ ใกล้กับสำนักงานป่าไม้จังหวัด นับเป็นหนึ่งในสถานที่น่าเที่ยวชมทางด้านศิลปกรรมของลำปาง
กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อพ.ศ.2523 มีการบูรณะซ่อมแซมเรื่อยมา
สันนิษฐานว่า ประตูโขงแบบล้านนาแห่งนี้ สร้างเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 21 ตอนปลาย หรืออาจสร้างก่อนประตูโขงวัดพระธาตุลำปางหลวงเล็กน้อย
โขงวัดกากแก้วมีสัดส่วนโตกว่าโขงของวัดพระธาตุลำปางหลวง น่าเสียดายที่ส่วนยอดพังทลาย เหลือเพียงส่วนฐานกับส่วนที่เป็นซุ้มประตูทางเข้า ศาสนสถานอื่นๆภายในวัดไม่ปรากฎตัวอาคารแล้ว เหลือแค่แนวกำแพง
มุมมองจากด้านในของวัด วัดกากแก้วไม่ปรากฏประวัติการสร้าง ปัจจุบันเป็นวัดร้าง
ประตูโขงหันหน้าออกถนน โดยหันไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เล็กน้อย ก่อขึ้นบนฐานแปดเหลี่ยม ตัวอาคารย่อมุมสิบสอง มีช่องทางเดินลอดผ่านซุ้มประตู มีบันไดขึ้น-ลงโขง
ระดับพื้นของวัดอยู่ต่ำกว่าระดับถนน ด้านทิศเหนือและทิศใต้ของประตูโขงยังเหลือแนวกำแพงบางส่วน
มุมมองด้านทิศใต้
ซุ้มประตูทางทิศใต้กับทิศเหนือเป็นซุ้มซ้อน 2 ชั้น ลวดลายปูนปั้นยังพอมีให้เห็น
มุมมองด้านทิศเหนือ
ลวดลายประดับบนซุ้มประตูด้านทิศเหนือ ยังหลงเหลือมากกว่าด้านทิศใต้
ทั้งสี่ด้านของประตูโขงทำเสารับซุ้มซ้อนกันสองชั้น ส่วนล่างและส่วนบนของเสาทำทรงงอนโค้งคล้ายจะงอยปากนกแก้ว เป็นที่มาของคำช่างล้านนา เสาปากแล หรือบ้างเรียกว่า เสาขอม
ตามเหลี่ยมผนังทั้งสิบสองเหลี่ยม และบนเสาปากแล ประดับลายกาบบน กาบล่าง และประจำยามอก ลักษณะคล้ายลายกาบที่ประตูโขงวัดพระธาตุลำปางหลวง
กาบบนและกาบล่าง หรือเรียกด้วยคำช่างล้านนาว่า บัวคอเสื้อ และ บัวเชิงล่าง เป็นลายพรรณพฤกษาในกรอบหยักเซาะร่อง ส่วนประจำยามอกเป็นลายก้านขดในกรอบขนมเปียกปูน
ที่สันของผนังอาคารทั้งสี่ด้านประดับประติมากรรมรูปเทวดา
ซุ้มโค้งนับเป็นส่วนที่พึงชม ซุ้มโค้งด้านตะวันออก ลวดลายประดับหลุดร่วงไปจนเกือบหมด
ซุ้มโค้งด้านตะวันตก ปูนปั้นประดับยังหลงเหลือมากกว่าทางฝั่งตรงข้าม
ซุ้มโค้งด้านตะวันตก ซุ้มโค้งหน้ายังเหลือขอบหยัก มีลายปูนปั้นบนพื้นผิวโค้งนูน ทำเป็นลายพรรณพฤกษา
ในส่วนของซุ้มโค้งซ้อน ยังเหลือกรอบโค้งคล้ายลำตัวนาค ปลายกรอบซุ้มเป็นรูปมกรคายนาค ตัวมกรมีขาหน้า มีเกล็ด ข้างลำตัวมีลายก้านขดประดับ ตัวนาคมีหงอน เครา เกล็ดมีลาย และที่ครีบเป็นลายก้านขด
ซุ้มโค้งด้านทิศใต้ ซุ้มโค้งหน้าปรากฏขอบหยักคดโค้ง 8 หยัก มีริ้วสามชั้น มีลายพรรณพฤกษาบนกรอบซุ้ม
ปูนปั้นลอยตัวและกึ่งลอยตัวทำเป็นรูปสัตว์ปีก ชวนให้นึกถึงหงส์ ยืนอยู่เหนือเสาปากแลข้างละตัว และเกาะยืนเรียงเหนือกรอบซุ้มโค้ง หันหน้าเข้าหากลางโค้งซึ่งเป็นแท่งปูนปั้น ภายในบรรจุลายดอกไม้ประดิษฐ์
ในส่วนของซุ้มโค้งซ้อน ปลายกรอบซุ้มเป็นรูปมกรคายนาค
ซุ้มโค้งด้านทิศเหนือ น่าชมเป็นพิเศษ ลายพรรณพฤกษาบนกรอบซุ้มยังมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์
ที่ซุ้มโค้งหน้า ยังเหลือปูนปั้นที่ช่วยให้รู้ว่าปลายกรอบซุ้มทำเป็นหางวัน คือ รูปโค้งคล้ายเลข ๑ ไทย ปูนปั้นรูปนกนั้นยืนอยู่เหนือเสา หน้าหางวัน ภายในหางวันตกแต่งด้วยลายก้านขด
บนถนนวังเหนือ หรือถนนป่าไม้ สายนี้ ทุกเย็นวันศุกร์จัดกิจกรรมถนนสายวัฒนธรรม ติดตลาดขายของกินพื้นเมือง หัตถกรรมพื้นถิ่น ของสะสมแนววินเทจ
ถ้าไปถึงกาดมั่วคัวแลงก่อนเย็นย่ำ ขอแนะนำผู้เยี่ยมเยือน แวะชมความงามของ ‘กู่เจ้าย่าสุตา’.
แหล่งข้อมูล
อุมาพร เสริฐพรรณึก. (2540). การศึกษาประตูโขงแบบล้านนาในจังหวัดลำปาง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ.
ติดตาม ไทยทัศนา ย้อนหลัง
ไทยทัศนา : (1) วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (2) วัดสุวรรณาราม ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (3) วัดราชโอรส ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (4) วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (5) วัดสุวรรณดาราราม อยุธยา
ไทยทัศนา : (6) วัดเสนาสนาราม อยุธยา
ไทยทัศนา : (7) วัดจันทบุรี สระบุรี
ไทยทัศนา : (8) วัดสมุหประดิษฐาราม สระบุรี
ไทยทัศนา : (9) วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (10) วัดบางขุนเทียนใน ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (11) วัดซางตาครู้ส ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (12) วัดบางขุนเทียนนอก ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (13) วัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม
ไทยทัศนา : (14) วัดนิเวศธรรมประวัติ อยุธยา
ไทยทัศนา : (15) สัตตมหาสถาน กรุงเทพฯ เพชรบุรี
ไทยทัศนา : (16) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (17) วัดตองปุ ลพบุรี
ไทยทัศนา : (18) มหาธาตุ ลพบุรี
ไทยทัศนา : (19) จิตรกรรม วัดพุทไธสวรรย์ อยุธยา
ไทยทัศนา : (20) พระปรางค์มหาธาตุ ราชบุรี
ไทยทัศนา : (21) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (22) วัดพระธาตุลำปางหลวง (ตอนที่หนึ่ง)
ไทยทัศนา : (23) วัดพระธาตุลำปางหลวง (ตอนที่สอง)
ไทยทัศนา : (24) วัดพระธาตุลำปางหลวง (ตอนที่สาม)
ไทยทัศนา : (25) วัดพระธาตุลำปางหลวง (ตอนที่สี่-จบ)