ไม่พบผลการค้นหา
คุยกับ อ.ชลิดาภรณ์ ผู้ให้คำตอบ‘ทวิตรัก’ทางโซเชียลฯ ต่อปัญหาความรักความสัมพันธ์ หลังเกิดกระแสดราม่า ‘คนอะไรเป็นแฟนหมี’ ที่มีประเด็นโรคซึมเศร้าเข้ามาเกี่ยวข้องและหันมามองความรักที่ไม่เคยเป็นเรื่องของคนเพียง 2 คนตั้งแต่ก่อนมีโลกออนไลน์

คุยกับ อ.ชลิดาภรณ์ ผู้ให้คำตอบ‘ทวิตรัก’ทางโซเชียลฯ ต่อปัญหาความรักความสัมพันธ์ หลังเกิดกระแสดราม่า ‘คนอะไรเป็นแฟนหมี’ ที่มีประเด็นโรคซึมเศร้าเข้ามาเกี่ยวข้องและหันมามองความรักที่ไม่เคยเป็นเรื่องของคนเพียง 2 คนตั้งแต่ก่อนมีโลกออนไลน์

 

ใครมองว่าความรักเป็นเรื่องของคน 2 คน คงต้องทำความเข้าใจใหม่ เมื่อได้มาพูดคุยกับ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับคำอธิบายความรักมีความจำเป็นต้องยืนยันผ่านพื้นที่สาธารณะมาทุกยุคสมัย ดังนั้น เมื่อผิดหวังจากความรัก ก็ต้องเผชิญแรงกดดันจากบุคคลที่ 3 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่ในยุคโซเชียลมีเดียได้เปิดความเป็นไปได้ในการด่าทอแสดงความรู้สึก “ล้นเกินความจริง” ได้เสมอ มาทำความเข้าใจเพื่อเตรียมรับมือ  

 

จากกระแสข่าวในโซเชียลฯ แอดมินเพจดัง ‘คนอะไรเป็นแฟนหมี’ ถูกแฟนเก่าโพสต์ตามหา โดยเธอระบุว่า ขณะนี้ต้องเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาลจิตเวชเพราะป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โดยไม่สามารถติดต่อแอดมินเพจดังกล่าวได้ ทำให้ประเด็นโรคซึมเศร้าถูกพูดถึงในวงกว้างอีกครั้ง

 

 

สำหรับความรักของทั้งคู่ เคยถ่ายทอดผ่านบทสัมภาษณ์ของแอดมินว่าเป็นฝ่ายจีบฝ่ายหญิงโดยการวาดรูปฝ่ายหญิงเป็นหมีในลักษณะเดียวกันกับที่นำมาโพสต์ลงแฟนเพจ ซึ่งเนื้อหาได้รับความนิยมถึงขั้นมีการตีพิมพ์เป็นหนังสือ โดยล่าสุดแฟนเพจนี้มีผู้ติดตามถึง 2 ล้านกว่าคน   

 


-ความรักที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องของคน 2 คน กลายเป็นเรื่องที่คนอื่นเข้าไปรับรู้และติดตาม อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร  

 

เราต้องเข้าใจว่า ความรักไม่ใช่เรื่องของคน 2 คน เพราะนับตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งคู่ จนไปถึงการแต่งงานมีครอบครัว ล้วนมีกติกากำกับอย่างเข้มงวด ด้วยความที่มีกติกาจึงทำให้ความรักเป็นปัญหาของคนทุกยุคสมัย เพราะสิ่งที่คุณอยากได้ คุณก็อาจจะไม่ได้เนื่องจากจะเป็นการละเมิดกติกา ทำให้เกิดภาวะเหมือนวิ่งชนกำแพงตลอดเวลา 

 

กติกาเกี่ยวกับความรักมีแตกต่างกันไป เช่น ความรักต้องเป็นเรื่องระหว่างหญิงชายเท่านั้น พอคนรักเพศเดียวกันรักกัน ก็กลายเป็นละเมิดกติกา หรือกติกาที่เชิดชูรักเดียวใจเดียว พอคนมีความสัมพันธ์ซ้อนก็กลายเป็นละเมิดกติกา 

 

จึงมีคนจำนวนไม่น้อย ที่แม้รู้ว่าเป็นการละเมิด แต่ก็ยืนฝืนสู้ ซึ่งก็ต้องวัดดวงว่าจะสู้นานแค่ไหน แต่ละคู่ก็เผชิญความกดดันด้วยดีกรีที่ไม่เท่ากัน 


-ความรักกับเรื่องสาธารณะ


ความรักความสัมพันธ์ เป็นเรื่องที่มีความพยายามจะทำให้เป็นเรื่องสาธารณะมาตลอด เราจะเห็นได้ว่าปัญหาของคู่รักทุกยุคสมัย ตั้งแต่ก่อนที่จะมีโซเชียลมีเดียก็จะมีคำถามถึงเรื่อง “การพาไปออกหน้าออกตา” การไปไหนมาไหนด้วยกันในที่สาธารณะ

คนคบกันก็อยากให้คนอื่นรับรู้เพื่อให้เป็นทางการ ทีนี้ช่องทางการทำให้เป็นทางการมีเพิ่มมากขึ้น ผ่านพื้นที่ใหม่ๆ เช่น โซเชียลมีเดีย 


-ความเสี่ยงเมื่อเรื่องส่วนตัวถูกนำเสนอผ่านโลกโซเชียลฯ 


โซเชียลมีเดียไม่ใช่การแสดงออกซึ่งหน้า ดังนั้น คนจะด่าทอกันแรงมาก คือแสดงออกมากล้นเกินกว่าที่ตัวเองรู้สึกจริง กลายเป็น bullying ทำให้เป็นเรื่องใหญ่มาก 

 

เคยถามนักศึกษาอยู่เสมอว่า เวลาแสดงความเห็นในเฟซบุค เป็นการแสดงตามที่รู้สึกตามจริงหรือแสดงล้นเกินมากกว่าที่ตัวเองรู้สึก หลายคนก็ยอมรับว่าแสดงล้นเกินกว่าที่รู้สึกจริง เพราะเวลาด่ากันซึ่งหน้าจะด่ากันได้แค่ระดับหนึ่งก็ต้องยั้งเอาไว้ แต่สำหรับโซเชียลมีเดียไม่ใช่แบบนั้น 

 

ดังนั้น แม้จะเป็นเรื่องเข้าใจได้ที่คนอยากจะแชร์เรื่องของตัวเองให้คนอื่นรับรู้ด้วย แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า เมื่อโยนเรื่องส่วนตัวลงมาในพื้นที่สาธารณะ ก็ต้องเผชิญทั้งคนชมและคนวิจารณ์ ต้องตระหนักว่าเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง คือทั้งบวกและลบ เป็นอะไรที่ควบคุมไม่ได้ 
 


ต้องเข้าใจด้วยว่าบางคนในสังคมไม่คิดอะไรเยอะ พวกเขาเห็นอะไรก็พร้อมจะตัดสินเลย ไม่ลงไปดูในรายละเอียด ถ้าเราทำถูกใจเขาก็ชม ถ้าเราทำไม่ถูกใจเขาก็วิจารณ์ 


-การเลือกข้างของบุคคลที่ 3 ซึ่งไม่ใช่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง อาจารย์คิดว่าเข้าใจได้หรือไม่ 


สังคมไทยนี่ก็ชอบเลือกข้างเนอะ ไม่เลือกข้างก็ไม่ได้อีก... ความจริงเราสาม��รถที่จะแสดงความเห็นใจคนทั้งคู่ก็ได้ บางคู่แยกทางกัน ต่างคนต่างไป เขาก็มีเหตุผลด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย จะเห็นใจทั้ง 2 ฝ่ายก็ได้นะ คือคุณไม่ใช่เขา คุณไม่รู้รายละเอียด ดังนั้น เวลาปลอบโยนฝ่ายหนึ่งไม่จำเป็นต้องไปด่าอีกฝ่ายก็ได้ 

 

คนที่เป็น “กองเชียร์” มีมาทุกยุคทุกสมัย ชอบที่จะรับรู้เรื่องของคนอื่น แล้วก็เข้าไป “คุ้มกฎ” โดยไม่รู้ตัว กองเชียร์มีหลายบุคคลิก แสดงตัวรักษากติกาความสัมพันธ์ ตั้งแต่ความรักจนไปถึงเรื่องเพศ เป็นแรงกดดันทั้ง ในกรอบและนอกกรอบ 

 

พลังอำนาจของกองเชียร์ คือสร้างแรงกกดดัน ผ่านการตัดสิน ด่าทอ วิพากษ์วิจารณ์ นินทา ประนาม ทั้งที่ในทุกความสัมพันธ์ก็มีปัญหาอยู่แล้ว คุณไม่ได้รู้อะไรมากเท่ากับคนที่อยู่บนความสัมพันธ์ว่าเขาเป็นทุกข์ยังไง 


- โรคซึมเศร้า ในมุมรัฐศาสตร์จะทำความเข้าใจภาวะเช่นนี้อย่างไร


ใครเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ เราจะไม่ไปตัดสิน แต่โดยทั่วๆ ไป ทุกคนก็มีโอกาสที่จะเผชิญความผิดหวังในลักษณะต่างๆ ซึ่งก็ต้องการการคลี่คลายอยู่แล้ว คนผิดหวังกับความรักเป็นเรื่องเกิดขึ้นได้กับทุกคนเพราะเป็นเรื่องใกล้ใจที่สุด 

 

คำถามคือเวลาคนทุกข์ใจเรื่องความรักแล้วมีที่พึ่งพิงให้ได้คิดใคร่ครวญหรือไม่ ถ้าเวลาบอกว่าเป็นทุกข์จากความรัก กลับไปเจอแต่คนบอกว่าไร้สาระ อ่อนแอ ไม่แสดงการยอมรับเพราะไม่ใช่เรื่องที่เกิดกับตัวเอง ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็น เพราะเราควรจะยอมรับและเปิดพื้นที่ให้คนได้รู้สึกอะไรในแบบต่างๆ รวมถึงความโศกเศร้าด้วย 


ใครเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ อาจจะเป็นเรื่องทางการแพทย์ แต่อย่าลืมว่า วิทยาศาสตร์การแพทย์ก็เคยบอกว่าคนรักเพศเดียวเป็น “โรค” มาแล้วในอดีต 


ในมุมรัฐศาสตร์ ศึกษาเรื่องการเมือง เราจะเห็นการต่อสู้กันตลอดเวลา เวลาเราอยู่เป็นชุมชน ก็จะมีคนที่บอกว่า แบบนี้คือ “ปกติ” หรือ แบบนี้คือ “บ้า” เป็นการกำหนดว่าอะไรปกติ ไม่ปกติ หมายความว่าแต่ละคนไม่ได้เลือกเอง ต้องถูกกำหนดให้เป็น ทั้งที่ความรักหรือชีวิตจะเป็นยังไง ก็เป็นเรื่องของตัวคุณ แต่กลับมีคนอื่นมาบอกว่าต้องทำยังไง


-ในทางมานุษยวิทยา ฟังก์ชั่นของจิตแพทย์กับหมอดู มีความคล้ายกันอย่างไร 


คล้ายคลึงกันมากเพราะคนไปหาจิตแพทย์กับหมอดูด้วยคำถามชุดเดียวกัน คือมีคำถามในขณะที่ต้องตัดสินใจว่าสถานการณ์แบบนี้ ควรจะทำอะไร ทำไมจึงเป็นแบบนี้ จะทำอย่างไรดี
  

คนเป็นทุกข์ก็อยากมีที่ได้พักพิง ขณะเดียวกัน ก็อยากได้คำตอบเพราะต้องเจอเรื่องหนักๆ มีความเสี่ยง จึงต้องไปหาคำตอบ 


ซึ่งไม่ว่าจะหาคำตอบจากทางไหน สุดท้ายหนีไม่พ้น อยู่ที่ตัวเราที่จะทำความเข้าใจ จะปล่อยมือจากสถานการณ์อย่างไรก็อยู่ที่เรา 


-ทางออกในภาวะเผชิญปัญหาในจิตใจ  


พื้นที่โซเชียลมีเดีย โหดร้ายกว่าที่คิด คนที่จะช่วยเหลือได้คือเพื่อนในชีวิตจริงเป็นตัวช่วยสำคัญ แล้วก็วัดด้วยว่าใครเป็นเพื่อนคุณในเวลาแบบนี้ 


ปกติคนต้องมีทั้งทุกข์และสุข เพราะเราเป็นมนุษย์จึงรู้สึกแบบนี้ แต่พอแสดงความทุกข์หรือแสดงความสุข ก็ถูกกดดันจากคนคุ้มกฎหรือจากกองเชียร์ในโซเชียลมีเดีย


สถานการณ์แบบนี้ ณ เวลานี้ องค์ความรู้และวิวัฒนาการเทคโนโลยีทำให้คนมีพื้นที่ในการสื่อสารมากขึ้น แต่กลับยากลำบากยิ่งขึ้นหรือมีพื้นที่น้อยลงที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ 

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog