พรุ่งนี้ จีนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมโครงการ '1 เข็มขัด 1 ถนน' หรือโครงการสร้างเส้นทางการค้าเชื่อมต่อยุโรปและเอเชียเข้าด้วยกัน เช่นเดียวกับเส้นทางสายไหมในอดีต ครอบคลุม 60 ประเทศ ซึ่งหากประสบความสำเร็จ จีนจะกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก
ในวันพรุ่งนี้ (14 พฤษภาคม) จีนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับสูง เวทีข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นการหารือกับผู้นำจาก 28 ประเทศ ถึงโครงการ '1 เข็มขัด 1 ถนน' ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางการค้าระหว่างยุโรปกับเอเชียเข้าด้วยกัน คล้ายกับเส้นทางสายไหมในอดีต โดยโครงการนี้ใช้งบประมาณกว่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ ประกอบด้วยถนนสายใหม่ เส้นทางรถไฟความเร็วสูง โรงไฟฟ้า ท่อส่งน้ำมัน ท่าเรือและท่าอากาศยาน รวมไปถึงระบบโทรคมนาคม ซึ่งเชื่อมโยง 60 ประเทศในทวีปเอเชีย ยุโรป ภูมิภาคตะวันออกกลาง และทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกาเข้าด้วยกัน
โดยนายชาส ฟรีแมน อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เปิดเผยต่อสำนักข่าวเอ็นบีซีว่า ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่อยู่ในเส้นทางของโครงการ '1 เข็มขัด 1 ถนน' คิดเป็นร้อยละ 55 ของเศรษฐกิจโลก และโครงการนี้ครอบคลุมผู้คนถึงร้อยละ 70 ของประชากรโลก รวมถึงแหล่งพลังงานร้อยละ 75 ของแหล่งพลังงานทั่วโลก ดังนั้น หากโครงการ '1 เข็มขัด 1 ถนน' ประสบความสำเร็จจะทำให้ถนนทุกสายในภูมิภาคยูเรเซียมุ่งหน้าสู่กรุงปักกิ่งของจีน และทำให้จีนกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้ นายฟรีแมนยังระบุอีกว่า โครงการ '1 เข็มขัด 1 ถนน' เป็นโครงการสร้างภูมิศาสตร์ทางการเมืองเพื่อเศรษฐกิจโลกอย่างแท้จริง โดยไม่มีการนำปัจจัยทางการทหารและความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้อง
ในปัจจุบัน จีนมีเส้นทางรถไฟที่มีความยาวกว่า 20,000 กิโลเมตร ซึ่งนับว่ายาวที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม จีนได้วางแผนขยายเส้นทางรถไฟให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายในปี 2025 ซึ่งหมายความว่า หากการสร้างระบบคมนาคมพื้นฐานตามโครงการ '1 เข็มขัด 1 ถนน' แล้วเสร็จ จะทำให้จีนมีระบบคมนาคมพื้นฐานรวมกันกว่า 80,000 กิโลเมตร
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนได้ใช้เงินลงทุนกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาเส้นทางและระบบคมนาคมใน 20 ประเทศ เช่น การลงทุนสร้างท่าเรือกวาดาร์ในปากีสถาน ซึ่งเป็นการเปิดเส้นทางการค้าจากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนไปยังทะเล นอกจากนี้ จีนได้เข้าไปลงทุนในโครงการท่อส่งน้ำมันจีน-เมียนมา ซึ่งนับเป็นการบุกเบิกเส้นทางบกเส้นทางแรกจากจีนสู่ตะวันออกกลาง โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา รวมไปถึงโครงการลงทุนในท่าเรือไพรีอัสของกรีซ ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าหลักสู่ยุโรปกลาง โดยมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายเบลเกรด-บูดาเปสรองรับ
สำหรับการประชุมระดับสูง เวทีข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 ที่จะเริ่มต้นขึ้นในวันพรุ่งนี้ จีนได้ส่งคำเชิญไปยังผู้นำของ 28 ประเทศ รวมถึงนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย และรัฐมนตรีของเกาหลีเหนือ ขณะที่สหรัฐฯ จะส่งนายแมทท์ พอททิงเกอร์ ที่ปรึกษาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี และผู้อำนวยการอาวุโสด้านเอเชียตะวันออกของสภาความมั่นคงแห่งชาติเข้าร่วมสังเกตการณ์
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กลับมองว่า การที่รัฐบาลสหรัฐฯ ส่งนายพอททิงเกอร์ ซึ่งมีตำแหน่งไม่สูง เมื่อเทียบกับตัวจากประเทศอื่นๆ เข้าสังเกตการณ์ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ให้ความสำคัญกับโครงการ '1 เข็มขัด 1 ถนน' ของจีนมากนัก
ขณะที่ภาคเอกชนในสหรัฐฯ กลับมองว่า แม้รัฐบาลสหรัฐฯ จะขาดความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมกับโครงการนี้ แต่บริษัทสัญชาติอเมริกันมีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมโครงการอย่างแน่นอน เพราะโครงการ '1 เข็มขัด 1 ถนน' ของจีนจะก่อให้เกิดตลาดขนาดใหญ่สำหรับสินค้าด้านเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ นอกจากนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ยังจะช่วยสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้อัฟกานิสถานและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันกลาง ซึ่งเป็นประเทศต้นกำเนิดของขบวนการก่อการร้าย ในแง่นี้ หลายฝ่ายจึงมองว่า โครงการ '1 เข็มขัด 1 ถนน' เป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ
สำหรับผู้นำประเทศอาเซียนที่ได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมการประชุมได้แก่ นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย, นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย, นายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์, นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของพม่า และสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา
แม้ว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยจะไม่ได้รับคำเชิญ แต่กระทรวงการต่างประเทศได้ออกมายืนยันว่า จีนไม่ได้เพิกเฉยต่อความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทย เพราะมีการส่งคำเชิญมายังรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 6 คน ได้แก่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายอาคม เติมพิทยา ไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงตัวแทนของกระทรวงการคลัง