‘ให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร’ คือ 1 ในหลัก 6 ประการหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 : ในโอกาสวันคล้ายวันเกิดผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มาทบทวนความมุ่งหวังของ ‘คณะราษฎร’ ผู้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย
11 พฤษภาคมของทุกปี คือ วันปรีดี พนมยงค์ อันเป็นวันคล้ายวันเกิด 11 พฤษภาคม 2443 ของนายปรีดี หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือนและผู้ประศาสน์การ “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” อันเป็นชื่อเดิมของ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ในปัจจุบัน
ในอดีตวันที่ 11 พฤษภาคม สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือ “วันแรกพบ” นักศึกษาชั้นปี 1 ซึ่งถือว่าเป็น “เพื่อนใหม่” จะเข้าไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน หนึ่งในกิจกรรมคือการเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถานที่ซึ่งมีความสำคัญ สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์การเมืองไทย
การตั้งใจใช้คำเรียก “เพื่อนใหม่” มีนัยยะถึงความเสมอภาค จึงไม่ใช้คำว่า “น้องใหม่” ดังเช่นมหาวิทยาลัยอื่นๆ
นับแต่เปลี่ยนการเปิดเทอมเป็นระบบใหม่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ “วันแรกพบ” ถูกเลื่อนออกไปไม่ใช่วันที่ 11 พฤษภาคมตามเดิมและสถานที่จัดงานก็ได้ย้ายไปจัดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ขณะที่งานรำลึกวันปรีดี พนมยงค์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ยังคงดำเนินต่อไปเช่นเดียวกันทุกปี โดย 11 พ.ค. 60 งานเริ่มเวลา 7.30 น. ที่ลานปรีดี เริ่มจากพิธีทำบุญ จากนั้น อธิการบดีกล่าวรำลึกถึงอาจารย์ปรีดี, พิธีวางพานพุ่มสักการะ,มอบโล่ “ปรีดี พนมยงค์” แก่นักศึกษาดีเด่นประจำปี, มอบทุน “ปาล พนมยงค์” จากนั้น เวลา 9.30 -12.00 น. มีกิจกรรมอภิปราย “แนวคิดปรีดี พนมยงค์ กับบทเรียนและพัฒนาการประชาธิปไตย” ที่ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ มธ.ท่าพระจันทร์
ก่อนจะถึงวันปรีดี พนมยงค์ ในวันพรุ่งนี้ (11 พฤษภาคม 2560) มาทบทวนหลัก 6 ประการของคณะราษฎร กับ ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผู้เขียนหนังสือ 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ (1932 Revolution and the Aftermath) จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
อนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ ที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และ ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนา 2475 ผ่านสถานที่และสัญลักษณ์ที่เราสามารถมองเห็นได้ในปัจจุบัน ตามหลัก 6 ประการอันประกอบด้วย หลักเอกราช หลักความปลอดภัย หลักเศรษฐกิจ หลักสิทธิเสรีภาพ หลักเสมอภาค และหลักการศึกษา
1) หลักเอกราช จะเห็นได้จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เหตุที่มีหลักนี้เพราะก่อนหน้านั้น สยามมีเอกราชไม่สมบูรณ์ เป็นกึ่งอาณานิคม นับแต่ทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ปี 2398 ซึ่งเราอธิบายว่านั่นคือ เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต แต่ความจริงคือ เสียเอกราชด้านการศาลและศุลกากรกับให้กับประเทศคู่สัญญา เช่น สหรัฐ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น รวม 14 ประเทศ แปลว่ามหาอำนาจโลกมีอำนาจเหนือสยาม 84 ปี
ขณะที่เราถูกอบรมบ่มเพาะว่าไม่เคยเสียเอกราช แต่ถ้าย้อน 100 ปีที่แล้ว เราเป็นกึ่งอาณานิคม เอกราชไม่สมบูรณ์ ต่อมามีการแก้ไขสำเร็จในสมัยรัฐบาลคณะราษฎร ดังนั้น เมื่อวางหลักหมายอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2482 คณะราษฎร จึงประกาศให้วันนี้เป็นวันชาติและเฉลิมฉลองเอกราชอันสมบูรณ์ มีหลักความทรงจำเป็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นความสำเร็จของหลักเอกราชที่คณะราษฎรนำมา
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สร้างขึ้นโดยมีองค์ประกอบเป็นสัญลักษณ์ตัวเลข 24 มิถุนา 2475 หลัก 6 ประการ รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย
ปีกทั้ง 4 ด้านของอนุสาวรีย์ มีความสูง 24 เมตร ตัวเลขมาจากวันที่ 24 ส่วนเดือน มิ.ย. ในปีนั้นคือเดือนที่ 3 เพราะนับตามปีศักราชเดิมจะเริ่มเดือนเม.ย.เป็นเดือน 1 เมื่อ มิ.ย.เป็นเดือนที่ 3 เลข 3 ถูกนำมาสร้างเป็นพานแว่นฟ้ามีความสูง 3 เมตร ด้านบนของพานแว่นฟ้า คือ รัฐธรรมนูญ
ส่วนตัวเลขปี 2475 แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ความยาวจากจุดกึ่งกลางอนุสาวรีย์ มาถึงขอบวงกลมมีความยาว 24 เมตร และรอบอนุสาวรีย์จะมี ปืนใหญ่โบราณ 75 วางเรียงรอบวงกลมอนุสาวรีย์ โดยหันปากกระบอกปืนลงดิน รวมเป็นเลขปี 2475
สำหรับหลัก 6 ประการคณะราษฎร หรือนโยบาย 6 ข้อนี้ สัญลักษณ์คือตัวป้อมตรงกลางสูง 6 เมตรและมีประตูป้อม 6 ด้าน
ทั้งหมดอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย การมีรัฐธรรมนูญในสมัยนั้นถือเป็นเรื่องทันสมัยมาก คือการมีประชาธิปไตย แต่สมัยนี้ไม่ว่าจะปกครองระบอบอะไรก็มีรัฐธรรมนูญ
สำหรับการเปลี่ยนแปลง คณะราษฎร ไม่ได้มุ่งเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อย่างเดียว เพราะ ปรีดี พนมยงค์ มองการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคือ กุญแจ ที่จะไขไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ดังนั้น คณะราษฎร จึงไม่ได้คิดแค่ไปสวมอำนาจทางการเมือง แต่ต้องการสร้างสังคมไทยให้มีความ civilization
2) หลักความปลอดภัย ในสังคมสมัยก่อนนั้น ความปลอดภัย เป็นเรื่องชนชั้น Elite ของสังคม ดังนั้น คณะราษฎร บอกว่า ทุกคนต้องได้รับการรักษาความปลอดภัยเท่าเทียมกัน กระบวนการนี้ นำไปสู่กระบวนการยุติธรรมของสังคมไทย ตำรวจ อัยการ ศาล เรือนจำ ทำอย่างไรให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับการปฏิบัติจากรัฐอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ได้รับสิทธิในการประกันตัว หลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
3) หลักเศรษฐกิจ หลักนี้ ปรีดี พนมยงค์ ให้ความสำคัญในฐานะเป็นผู้นำฝ่ายพลเรือน เพราะมองว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เป็นกุญแจที่จะนำไปสู่เปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เนื่องจากก่อนหน้านั้น คนไม่เท่ากัน ชนชั้นปกครองได้ประโยชน์ สูงสุด เช่น ในระบอบก่อน 2475 จะมีการเก็บภาษีชายฉกรรจ์อายุ 18-60 ปี คนละ 6 บาท แต่คนที่อยู่ในสถานะข้าราชการระดับสูง เครือข่ายข้าราชการ ไม่อยู่ในระบบการเก็บภาษีนี้ เงินภาษีนี้ มีมูลค่า 10 เปอร์เซ็นต์ของ รายรับรัฐบาล
เรามักเข้าใจว่าสังคมไทยอุดมสมบูรณ์ แต่สมัยก่อนมีการเก็บภาษีผลไม้ยืนต้น มะม่วง มะพร้าว มังคุด ทุเรียน แม้แต่หมาก พลู แม้แต่จะไปจับสัตว์น้ำ ยังต้องจ่ายค่าเรือ ภาษีแห เพราะรากฐานระบอบโบราณยืนอยู่บนแนวคิดแผ่นดินนี้เป็นของใคร
คณะราษฎรเปลี่ยนแนวคิดนี้ เมื่อเป็นของประชาชนจึงไม่เก็บภาษีการทำมาหากิน
รัฐบาลยกเลิกการเก็บภาษีแบบเดิมและพัฒนาการเก็บภาษีที่ปัจจุบันคือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
หลักเศรษฐกิจที่เป็นแก่นของคณะราษฎร คือ การวางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ ดังนั้น จึงกลายเป็นปมปัญหาทางการเมือง ที่ฝ่ายระบอบเก่า ทำให้การวางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติเป็น “คอมมิวนิสต์” เป็นการทำลายแผนการสร้างสังคมไทยใหม่ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของระบอบเดิมไว้ ขณะนั้น พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ออกกฎหมายคอมมิวนิสต์ เป็นครั้งแรก เพื่อจัดการ ปรีดี พนมยงค์ คนเดียว
แต่คณะราษฎร ก็สามารถกลับมามีพลังทางการเมืองได้ใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่โดยวางเป้าจะสร้างเทศบาลทั้งประเทศ คือการปกครองท้องถิ่นที่คนท้องถิ่นลุกขึ้นมาเป็นฝ่ายบริหารเอง โดยกระบวนการเลือกตั้งท้องถิ่น ผลักดันการสร้างเทศบาล ตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ เทศบาลสุไหงโกลก ซึ่งมีทางรถไฟสายใต้ต่อจากหาดใหญ่ไปที่ชายแดนมาเลเซีย ต่อมาเพียง 10 ปี สุไหงโกลก ก็มีประชากร แออัดและมั่งคั่ง
รัฐบาลคณะราษฎร ยกให้สุไหงโกลกเป็นเทศบาล ในวันที่ 24 มิ.ย 2483 ครบรอบ 1 ปีวันชาติไทย ซึ่งวันชาติไทยประกาศครั้งแรก ปี 2482
การสร้างระบบเทศบาลให้มีทั้งประเทศ ถูกแช่แข็งหลังการรัฐประหารของทหาร 2490 และรัฐบาลทหารสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนรัชต์ ได้ใช้วิธีแต่งตั้งข้าราชการประจำ ไปเป็นนายกเทศมนตรี ดังนั้น ระบบเทศบาลที่คณะราษฎรมุ่งหวังว่าจะเป็นรากฐานพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนทั้งประเทศโดยประชาชนเป็นผู้ร่วมดำเนินการ ของแต่ละชุมชนทั้งตัวเมืองและตำบล ถูกพังทลายการกระจายอำนาจลงโดยรัฐทหาร ในรอบ 70 ปีที่ผ่านมา
4) หลักสิทธิเสรีภาพ ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก คณะราษฎรเขียนเรื่องเสรีภาพของประชาชนไว้มาตราเดียว ไม่จำเป็นต้องขยายความเหมือนรัฐธรรมนูญของรัฐทหารไว้หลายมาตรา เพราะคำว่า เสรีภาพ มันหมายถึง สิ่งที่ทุกคนคิดและฝันอยู่ในสมอง ในหัวของตน เมื่อสามารถพูด เมื่อสามารถเขียน สามารถแสดงออกทางภาษาท่าทางได้ โดยไม่ไปกระทบคนอื่น จึงเป็นการมีเสรีภาพ
แต่ปัจจุบันลองถามตัวเราว่า เราจะวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ ได้หรือไม่
5) หลักเสมอภาค เป็นนโยบายที่คณะราษฎร มุ่งตอบต่อสังคมว่า คนเท่ากัน ดังนั้น เมื่อคนเท่ากัน ทุกคนย่อมได้รับทุกสิ่งและโอกาสที่เท่าเทียมกัน เช่น โลกโบราณถือว่า “ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน” สังคมไทยจึงให้ผู้หญิงเกาะท่านเจ้าพระยาซึ่งมีหลายเมีย
แต่คณะราษฎร เลิกระบบหลายเมียและให้ผู้หญิงเท่ากับผู้ชาย ให้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยใช้เกณฑ์อายุ แต่เรื่องนี้ ผู้หญิงไทย ไม่ถูกทำให้ตระหนักว่าการปฏิวัติ 2475 มีผลต่อชีวิตผู้หญิงอย่างไร
หลังการรัฐประหาร 2490 ผู้หญิงไทยถูกทำให้เชื่อว่า ด้อยกว่าผู้ชาย จึงปรากฏนิยาย เช่น สี่แผ่นดิน
6) หลักการศึกษา หลักการศึกษาของคณะราษฎร คือทำให้คนไทยทั้งประเทศ เรียนจบป. 4 โดยการออกกฎหมายบังคับ หมายความว่า เมื่อรัฐบาลใหม่ มีนโยบายด้านการศึกษา บังคับเรียนจบป. 4 ก็ต้องเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา ต้องสร้างครู จึงเกิดโรงเรียนฝึกหัดครูจำนวนมาก เกิดวิทยาลัยครู ต่อมาเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ
รัฐบาลต้องสร้างโรงเรียนลงไปถึงระดับตำบลและหมู่บ้าน รัฐบาลต้องผลิตตำราแจกนักเรียน ดังนั้น งบประมาณด้านการศึกษาจึงเพิ่มมากกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชที่มีงบประมาณน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ก่อน 2475
หลักการศึกษานี้ก่อเกิด มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง(มธก.) เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาขั้นสูงของประเทศแห่งที่ 2 ต่อจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในปีที่เปิดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองประเทศมีประชากร 12 ล้านครึ่ง จุฬาฯ รับนิสิตได้ 160 คนต่อปี ดังนั้น มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จึงเป็นมหาวิทยาลัยเปิด เพื่อรับคนที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษา ซึ่งเป็นสามัญชนทั้งประเทศ
ปรีดี พนมยงค์ อธิบายการกำเนิดของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองว่า “...มหาวิทยาลัยย่อมอุปมา ประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา...”
อนุสาวรีย์ ปรีดี พนมยงค์ ตั้งอยู่หน้าตึกโดม ซึ่งเป็นด้านหน้าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะที่ปัจจุบันเราจะรู้สึกว่าด้านหน้ามหาวิทยาลัยคือหอประชุมใหญ่ฝั่งตรงข้ามสนามหลวง แต่ความจริงเมื่อแรกสร้างมหาวิทยาลัย ด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปรีดีสร้าง มธก. โดยซื้อที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา
การก่อตัวของเมืองบางกอกจะอยู่ริมแม่น้ำ เช่น ตั้งแต่ท่าพระจันทร์ ไปถึงปากคลองตลาด จะเป็นที่ดินราคาแพง เป็นที่เจ้านายอยู่ริมแม่น้ำ การวางอนุสาวรีย์ปรีดี ไว้ริมน้ำ ด้านหน้ามหาวิทยาลัยจึงเป็นจุดสำคัญ แต่ปัจจุบันเราเดินอยู่ด้านหลังอนุสาวรีย์ปรีดี อาจทำให้ไม่เข้าใจการก่อตัว
ตึกโดมเดิมเป็นอาคาร 4 หลัง แล้วปรีดีให้เชื่อมต่อเป็นหลังเดียว ส่วนสนามฟุตบอลในสมัยก่อนเป็นวังหน้า เล่ากันว่าสถาปนิคออกแบบตึกโดมมีปลายแหลม เปรียบเหมือนดินสอปลายแหลมก็คือปัญญา ให้นักศึกษาจดจารเรื่องราว มีท้องฟ้าเปรียบเหมือนสมุดบันทึกเรื่องราวไม่มีวันจบ
มธก. จึงผลิตปัญญาชน เพื่อสนับสนุนการสร้างระบอบใหม่ หลังปฏิวัติ 2475
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผลผลิตการปฏิวัติ 2475 เป็นลูกของ 2475 และรัฐธรรมนูญ เพราะปรีดี เลือกวันสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นวันที่ 27 มิ.ย. 2477 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2 ปี ซึ่งวันที่วันที่ 27 มิ.ย. เป็นวันที่มีรัฐธรรมนูญฉบับแรก
ปรีดี จึงสร้างสัญลักษณ์ตราธรรมจักรเพราะมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มาจากธรรมจักรของพุทธศาสนา ที่อธิบายว่าจะผลิตนักศึกษาที่มีปัญญาและเที่ยงธรรม
ส่วนคำว่า การเมือง มีสัญลักษณ์คือรัฐธรรมนูญบนพานแว่นฟ้า แบบเดียวกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นำมาใส่ธรรมจักร
พานแว่นฟ้า คือ พานที่คณะราษฎร ได้ถวายแต่รัชกาลที่ 7 ทรงลงพระปรมาภิไธย จึงเป็นการยืนยันว่า ระบอบการเมืองใหม่ ได้เกิดขึ้นจากคณะราษฎร