ค้นพบทาร์เซียร์ สัตว์คล้ายลิง เพิ่ม 2 ชนิดบนเกาะสุลาเวสี อินโดนีเซีย นักอนุรักษ์ชี้คนเรายังรู้น้อยมากเกี่ยวกับความหลากหลายทางพันธุกรรมของไพรเมท
ไมรอน เชเกล นักไพรเมทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน รายงานในวารสาร Primate Conservation ว่า ตนกับคณะนักวิจัยร่วมได้ค้นพบทาร์เซียชนิดใหม่ 2 ชนิดในป่าของเกาะสุลาเวสี ตอนกลางของหมู่เกาะอินโดนีเซีย ทั้งสองชนิดมีรูปร่างหน้าตาแทบเหมือนกัน แต่เสียงร้องผิดกัน
เขาตั้งชื่อแต่ละชนิดตามนามของนักวิทยาศาสตร์ผู้อุทิศตนศึกษาทาร์เซีย ชนิดแรกให้ชื่อว่า Gursky’s spectral tarsier ตามนามของ Dr. Sharon Gursky อีกชนิดชื่อว่า Jatna’s tarsier ตามนามของ Dr.Jatna Supriatna
ทาร์เซียเป็นสัตว์จำพวกไพรเมท มีลักษณะกึ่งลิงกึ่งลีเมอร์ ตัวเล็ก สูง 6 นิ้ว หนัก 100-150 กรัม ขาหลังและเท้ายาว หางเรียว นิ้วยาว ขนปุยคล้ายกำมะหยี่ ขนด้านหลังเป็นสีน้ำตาลอมเทาหรือน้ำตาลเข้ม ส่วนท้องเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองหรือเทา
พวกมันหากินกลางคืน ล่าเหยื่อจำพวกนกขนาดเล็ก หนู และกิ้งก่า ดวงตาเมื่อเทียบกับลำตัวนับว่ามีขนาดใหญ่มากกว่าดวงตาของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใดๆ และใหญ่กว่าสมองของมันเองเสียอีก ทาร์เซียสามารถหันคอมองได้ 180 องศาแบบเดียวกับพวกนกเค้า
มันเป็นนักไต่ชั้นเยี่ยม นักโดดชั้นยอด สามารถกระโดดได้ 40 ช่วงของความสูงลำตัว สัตว์พวกนี้จัดอยู่ในวงศ์ Tarsiidae ซึ่งถือกำเนิดมานาน 45 ล้านปีแล้ว พบได้เฉพาะตามหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สุมาตรา บอร์เนียว สุลาเวสี และฟิลิปปินส์
การค้นพบเพิ่มอีก 2 ชนิดในครั้งนี้ทำให้สัตว์จำพวกไพรเมทในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นเป็น 80 ชนิด และนับเป็นทาร์เซียชนิดที่ 10 และที่ 11 ที่พบในสุลาเวสีและเกาะใกล้เคียง
รัสส์ มิตแตร์ไมเออร์ รองประธานบริหารขององค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ Conservation International บอกว่า ทาร์เซียทั้งสองชนิดนับเป็นไพรเมทที่เพิ่งพบเป็นชนิดที่ 80 และที่ 81 ของโลกนับแต่ขึ้นศตวรรษใหม่เป็นต้นมา สะท้อนว่า เรายังรู้น้อยมากเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ.
Photo : AFP (files)