วิหารต่างๆในวัดพระธาตุลำปางหลวงมีอายุหลายร้อยปี เป็นแหล่งชุมนุมศิลปกรรมแบบล้านนาหลากรูปแบบ ตั้งแต่พระพุทธรูป ลายทองประดับ ปูนปั้น จนถึงจิตรกรรม
นอกจากวิหารหลวงแล้ว ภายในเขตพุทธาวาสยังมีวิหารอีก 4 หลัง ได้แก่ วิหารพระพุทธ วิหารพระเจ้าศิลา วิหารต้นแก้ว และวิหารน้ำแต้ม อีกทั้งยังมีอาคารอื่นๆ อาทิ อุโบสถ หอพระพุทธบาท
ผังเขตพุทธาวาส วัดพระธาตุลำปางหลวง
วิหารพระพุทธ
ทางทิศใต้ของพระธาตุเจดีย์เป็นที่ตั้งของวิหารพระพุทธ หรือวิหารลายคำ โดดเด่นด้วยลายประดับสีทองบนพื้นสีแดง ทั้งบนผนังด้านนอก-ด้านใน และต้นเสา นับเป็นตัวอย่างลวดลายลงรักปิดทองแบบล้านนาที่หาชมได้ไม่มากแห่งนัก
สันนิษฐานว่า วิหารพระพุทธสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ผ่านการบูรณะซ่อมแซมเรื่อยมา
ตัวอาคารมีขนาด 5 ห้อง สร้างครึ่งปูนครึ่งไม้ ปิดล้อมด้วยผนังโดยรอบ ช่วงห้องหน้าเป็นมุขโถง ล้อมด้วยกำแพงเตี้ยๆ หลังคาลดชั้นด้านหน้าและหลัง ด้านละ 1 ชั้น แต่ละชั้นมีผืนหลังคา 2 ตับ
ประตูทางเข้าหลักมีซุ้มประตูก่ออิฐถือปูน เป็นซุ้มซ้อน 3 ชั้น ประดับลวดลายปูนปั้นลงรักปิดทอง กรอบซุ้มเป็นวงโค้งกรอบหยัก ปลายกรอบซุ้มเป็นรูปตัวเหงา หน้าบันใต้กรอบซุ้มเป็นลายใบไม้
หน้าบัน คำช่างล้านนาเรียกว่า หน้าแหนบ ประดับด้วยลายแกะไม้ประดับกระจกจีน เป็นลายประเภทพรรณพฤกษา ดอกไม้ใบไม้ ลายประแจจีน
พระประธานประดิษฐานในห้องที่สี่ของวิหาร ช่วงเสาคู่หน้าพระประธานมีการทำหน้าแหนบ หน้าแหนบปีกนก ด้านล่างของหน้าแหนบทั้งสองมีโก่งคิ้ว ทั้งหมดนี้ช่วยขับเน้นความโดดเด่นของพระประธาน
พระประธานมีนามว่า พระเจ้าองค์หลวงเมืองเขลางค์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อพระพุทธ ภายในห้องส่วนนี้ตกแต่งด้วยลายคำ และภาพอดีตพุทธเจ้า
พระประธานปางมารวิชัย เป็นศิลปะแบบเชียงแสน บนฝ้าเพดานเหนือองค์พระประดับไม้แกะสลักเป็นลายดอกไม้ อยู่ภายในกรอบตาราง
วิหารพระเจ้าศิลา
ทางทิศตะวันตกของพระธาตุเจดีย์เป็นที่ตั้งของวิหารพระเจ้าศิลา หรือวิหารละโว้ เป็นวิหารโถง ขนาด 5 ห้อง สองห้องด้านหลังก่อผนังทึบ ห้องส่วนที่เป็นโถงมีฝาหยาบปิดลงมา หลังคาลดชั้น
หน้าแหนบทิศตะวันออกตกแต่งด้วยลวดลายแกะสลักไม้ ลงรักปิดทองประดับกระจก ตรงกลางเป็นรูปเทวดา ซ้ายกับขวาเป็นรูปไก่ ซึ่งเกี่ยวพันกับไก่ขาวในตำนานเมืองกุกุตตนคร ต้นกำเนิดของนครลำปาง
ลักษณะลวดลายประดับโดยรวมเป็นแบบรัตนโกสินทร์
ลายหน้าแหนบปิดจั่วเป็นลายเทวดาประทับยืนทำท่าอัญชลี โดยรอบเป็นลายเครือเถา (บน) ส่วนลายหน้าแหนบใต้ขื่อหลวงเป็นลายเทวดาประทับยืน ในมือดูคล้ายถือสิ่งของซึ่งไม่มีปรากฏแล้ว สันนิษฐานว่าเป็นพระขรรค์
คันทวย คำช่างล้านนาเรียกว่า นาคทัณฑ์ ที่เสาคู่หน้าของวิหาร เป็นลวดลายภาพบุคคลมีเขี้ยว เข้าใจว่าเป็นยักษ์ นอกนั้นเป็นรูปกินรี พญาลวง และตัวเหงาประกอบลายพรรณพฤกษาและกระหนก
ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปางนาคปรก ทำด้วยหินสีเขียว ประดิษฐานภายในมณฑป ที่เรียกว่า โขงพระ
วิหารน้ำแต้ม
ทางทิศเหนือของพระธาตุเจดีย์เป็นที่ตั้งของวิหารน้ำแต้ม สันนิษฐานว่าสร้างในปีพ.ศ. 2016 เมื่อหล่อพระเจ้าสามหมื่นทอง พระประธานในวิหาร
วิหารน้ำแต้มเป็นอาคารโถงแบบล้านนา ขนาด 5 ห้อง ปิดทึบที่ห้องสุดท้าย หลังคาลดชั้น แต่ละชั้นมีผืนหลังคา 2 ตับ หลังคาคลุมต่ำเตี้ยแจ้
ผนังด้านข้างอาคารส่วนโถงเป็นฝาหยาบ บนฝาหยาบมีภาพจิตรกรรม เสาหลวงเป็นเสาไม้กลม ตกแต่งด้วยลายคำ
ผนังท้ายวิหารประดับลายลงรักปิดทองบนพื้นสีแดง รูปต้นพระศรีมหาโพธิ์ 3 ต้น ด้านบนเป็นลายพระอาทิตย์และพระจันทร์ ลายนกร่อน ลายเทวดากระทำอัญชลี ลายเครือเถา
พระประธานมีชื่อว่า พระเจ้าสามหมื่นทอง สร้างราวปีพ.ศ. 2044 ประดิษฐานบนฐานชุกชีประดับลวดลายลงรักปิดทอง
ด้านหน้าของยกพื้นห้องท้ายวิหารทั้งสองด้าน ประดับลายสิงห์เทินหม้อปูรณฆฏะ คำช่างเรียกลายหม้อดอก
ผนังด้านข้างเป็นลายหม้อดอก อันหมายถึงหม้อมีน้ำเต็ม เรียกกันว่า หม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์
บนฝาหยาบเขียนภาพนางสามาวดี และประวัติพระอินทร์ นับเป็นจิตรกรรมฝาผนังแบบล้านนาในสภาพดั้งเดิมที่หาชมยาก น่าเสียดายว่าภาพลบเลือนไปมากตามกาลเวลา
วิหารต้นแก้ว
ทางทิศเหนือของวิหารหลวง ด้านหน้าของวิหารน้ำแต้ม เป็นที่ตั้งของวิหารต้นแก้ว ไม่ปรากฏประวัติการสร้าง
วิหารต้นแก้วเป็นวิหารโถง หลังคาลดชั้น แต่ละชั้นมีผืนหลังคา 2 ตับ ลักษณะการประดับส่วนหลังคาคล้ายกับโบสถ์วิหารทางภาคกลาง
เสาหลวงของวิหารเป็นเสาไม้กลม ไม่มีลวดลายประดับ
พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ด้านหน้ามีพระนอนขนาดเล็ก
นอกจากวิหารต่างๆโดยรอบพระธาตุเจดีย์ทั้งสี่ด้านแล้ว ยังมีอาคารอื่นๆ อาทิ พระอุโบสถ หอพระพุทธบาท ตั้งอยู่ในเขตพุทธาวาสด้วย
อุโบสถ
อุโบสถตั้งอยู่ทางทิศใต้ของหอพระพุทธบาท เป็นอาคารแบบมีผนังปิดล้อมทั้งสี่ด้าน มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือ หลังคาลดชั้น ด้านหน้าลด 1 ชั้น ด้านหลังลด 1 ชั้น แต่ละชั้นมีผืนหลังคา 2 ตับ
หอพระพุทธบาท
หอพระพุทธบาทตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวิหารพระเจ้าศิลา ไม่ปรากฏปีที่สร้าง พระพุทธบาทองค์นี้เป็นรอยพระพุทธบาทเดี่ยว แรกก่อขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 1992 ตัวอาคารมีบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออก
เมื่อออกจากเขตพุทธาวาสทางด้านทิศใต้ เดินไปตามทาง ผู้เยี่ยมเยือนจะพบพิพิธภัณฑ์เครื่องไม้ ภายในจัดแสดงงานช่างเนื่องในพุทธศาสนานานารูปลักษณ์ เช่น พระพุทธรูปไม้ แผงพระพิมพ์ สัตตภัณฑ์ (เชิงเทียน) ปราสาทจำลอง
อาคารที่น่าแวะชมอีกหลังคือ วิหารพระแก้ว เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าแก้วมรกต
พระเจ้าแก้วมรกตประทับภายในปราสาท เก็บรักษาภายในห้องกระจก
พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองลำปางองค์นี้เป็นศิลปะเชียงแสน ขัดสมาธิราบ หน้าตักกว้าง 6 นิ้วครึ่ง สูงจากฐานถึงเศียร 8 นิ้ว
วัดพระธาตุลำปางหลวงแลล้วนไปด้วยศิลปกรรมเก่าแก่ หลังจากสักการะพระธาตุเจดีย์ กราบนม��สการพระเจ้าล้านทอง ผู้เยี่ยมเยือนลองเดินชมดูเถิด.
แหล่งข้อมูล
พรรณนิภา ปิณฑวณิช. (2546). การศึกษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมวัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ.
ติดตาม ไทยทัศนา ย้อนหลัง
ไทยทัศนา : (1) วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (2) วัดสุวรรณาราม ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (3) วัดราชโอรส ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (4) วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (5) วัดสุวรรณดาราราม อยุธยา
ไทยทัศนา : (6) วัดเสนาสนาราม อยุธยา
ไทยทัศนา : (7) วัดจันทบุรี สระบุรี
ไทยทัศนา : (8) วัดสมุหประดิษฐาราม สระบุรี
ไทยทัศนา : (9) วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (10) วัดบางขุนเทียนใน ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (11) วัดซางตาครู้ส ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (12) วัดบางขุนเทียนนอก ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (13) วัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม
ไทยทัศนา : (14) วัดนิเวศธรรมประวัติ อยุธยา
ไทยทัศนา : (15) สัตตมหาสถาน กรุงเทพฯ เพชรบุรี
ไทยทัศนา : (16) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (17) วัดตองปุ ลพบุรี
ไทยทัศนา : (18) มหาธาตุ ลพบุรี
ไทยทัศนา : (19) จิตรกรรม วัดพุทไธสวรรย์ อยุธยา
ไทยทัศนา : (20) พระปรางค์มหาธาตุ ราชบุรี
ไทยทัศนา : (21) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (22) วัดพระธาตุลำปางหลวง (ตอนที่หนึ่ง)