ไม่พบผลการค้นหา
นีล อาร์มสตรอง คือมนุษย์คนแรกของโลกที่ได้เหยียบพื้นผิวของดวงจันทร์

นีล อาร์มสตรอง คือมนุษย์คนแรกของโลกที่ได้เหยียบพื้นผิวของดวงจันทร์ เขาคนนี้คือแรงบันดาลใจสำคัญ ที่ทำให้ใครหลายคน หันมาสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับอวกาศ ซึ่งก่อนหน้าที่เขาจะเสียชีวิตนั้น เขาได้ให้สัมภาษณ์เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลของนายบารัก โอบามา หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการด้านอวกาศมากขึ้น เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ในการเป็นผู้นำด้านอวกาศเช่นในอดีต ติดตามได้จากรายงาน

 

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ปี 2512 คนทั่วโลกกว่า 600 ล้านคน ต่างก็เฝ้าติดตามการถ่ายทอดสด การเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ของนีล อาร์มสตรอง นักบินอวกาศชาวอเมริกัน ที่เดินทางขึ้นไปปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์ พร้อมด้วยนักบินอวกาศอีก 3 คน นั่นก็คือ เอดวิน อัลดริน และ ไมเคิล คอลลินส์ ด้วยยานอพอลโล 11 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอพอลโล โครงการที่ถูกผลักดันโดยประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี เพื่อการส่งมนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์ให้สำเร็จ พร้อมกับนำตัวอย่างของหิน และดินบนดวงจันทร์กลับมาทำการทดลองบนโลก

 

การที่นีล อาร์มสตรอง สามารถขึ้นไปเหยียบพื้นผิวของดวงจันทร์ได้เป็นผลสำเร็จนั้น คือความภาคภูมิใจของชาวอเมริกัน และคนทั้งโลก อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้คนทั่วไป หันมาให้ความสำคัญและสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และอวกาศมากยิ่งขึ้น โดยอาจจะเรียกได้ว่า อาร์มสตรอง และโครงการอพอลโล คือจุดเริ่มต้น ในการเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนมีความฝัน ที่จะขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ หรือออกไปท่องอวกาศ 

 
ซึ่งในช่วงเวลานั้น ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการอพอลโล เช่น หนังสือ  โมเดลของยานอพอลโล 11  ภาพถ่ายของนักบินอวกาศ รวมถึงภาพความประทับใจอื่นๆจากโครงการอพอลโล ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก ที่ยอมลงทุนซื้อของเหล่านี้ เก็บสะสมเอาไว้ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์แห่งมวลมนุษยชาติ
 
 
หลังจากที่นีล อาร์มสตรอง เดินทางกลับมายังโลก ทุกคนได้ยกย่องให้เขาเป็นวีรบุรุษ โดยสื่อมวลชนจำนวนมาก ต่างก็สนใจเรื่องราวชีวิตส่วนตัว พร้อมกับต้องการรับทราบประสบการณ์ของการเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์เป็นครั้งแรก แต่อาร์มสตรองกลับไม่ค่อยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก จนเขาได้รับฉายาจากสื่อมวลชน ว่าเป็นคนสันโดษ แตกต่างจากเอดวิน อัลดริน นักบินอวกาศอีกคนหนึ่ง ที่เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์เป็นคนที่สอง ที่เขามักจะชอบถ่ายทอดเรื่องราว และประสบการณ์ที่เขาได้ไปพบเจอมา ระหว่างการปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์ 
 
 
โดยอัลดรินให้สัมภาษณ์แบบติดตลกว่า สิ่งหนึ่งที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือนาซา ตัดสินใจผิดพลาดมากที่สุด ก็คือการไม่ยอมส่งใครก็ตาม ที่สามารถสื่อสารกับคนบนโลก ให้เข้าใจถึงสิ่งที่พวกเขาได้ไปพบเจอมาบนดวงจันทร์ ขึ้นไปปฏิบัติภารกิจในครั้งนั้น ซึ่งนอกจากการส่งวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ และนักบินขึ้นไปแล้วนั้น นาซา ควรส่งนักเขียน นักประพันธ์ หรือศิลปิน ที่จะทำหน้าที่ในการถ่ายทอดเรื่องราว หรือสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดในโครงการอพอลโล 11 ให้คนทั่วไปได้รับรู้ และเข้าถึงได้โดยง่าย ซึ่งเรื่องราวที่ปรากฏออกมาจากภารกิจในครั้งนั้น ล้วนเป็นเรื่องราวในแง่มุมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ขาดมิติทางด้านวรรณกรรม และศิลปะ และนี่อาจเรียกได้ว่าเป็นข้อผิดพลาดประการหนึ่งของนาซา
 
 
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งกลับมองว่า ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ที่เกิดขึ้นกับโครงการอพอลโลนั้น อีกแง่หนึ่งอาจกลายเป็นจุดสิ้นสุดของการสำรวจด้านอวกาศ เพราะสหรัฐฯถือเป็นฝ่ายที่กุมชัยชนะอย่างเด็ดขาดในโครงการสำรวจอวกาศ ที่ในช่วงนั้นเกิดการแข่งขันอย่างเข้มข้นกับอดีตสหภาพโซเวียต และเป็นธรรมดาที่ว่า ผู้ที่ชนะแล้วจะไม่มีความรู้สึกว่าต้องแข่งขันต่อไป
 
 
ซึ่งก่อนหน้านี้ อาร์มสตรองเคยออกมาตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลของนายบารัก โอบามา ไม่ค่อยให้ความใส่ใจกับโครงการพัฒนาด้านอวกาศมากนัก และตัดลดงบประมาณที่จะสนับสนุนโครงการต่างๆของนาซาไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งเขามองว่า นโยบายในลักษณะนี้ไม่ค่อยถูกต้องนัก เพราะการพัฒนาโครงการด้านอวกาศ ถือเป็นสิ่งจำเป็น ที่จะช่วยกระตุ้นแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่ อีกทั้ง การที่นาซาถูกลดบทบาทไปเป็นอย่างมากในระยะหลัง ยังเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า สหรัฐฯไม่ใช่ผู้ที่ครองความยิ่งใหญ่ด้านอวกาศเช่นในอดีต แต่หากว่ารัฐบาลและสภาคองเกรส หันมาร่วมมือกัน และพัฒนาโครงการด้านอวกาศมากกว่านี้ ก็อาจทำให้สหรัฐฯ ก้าวขึ้นมาเป็นชาติผู้นำทางด้านอวกาศได้อีกครั้ง
 
 
บทสัมภาษณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อราว 3 เดือน ก่อนหน้าที่อาร์มสตรองจะเสียชีวิต ซึ่งนักประวัติศาสตร์อวกาศชาวอังกฤษคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากที่อาร์มสตรองเสียชีวิตแล้วนั้น จะเหลือมนุษย์เพียงแค่ 8 คนบนโลกนี้เท่านั้น ที่เคยเดินทางไปเหยียบพื้นผิวของดาวดวงอื่น ซึ่งแต่ละคน ก็ล้วนมีอายุมากแล้ว และหากว่าพวกเขาเหล่านี้เสียชีวิตไป โลกของเราก็จะขาดบุคคลที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ให้คนรุ่นหลังได้ฟัง หรืออาจเปรียบเทียบได้กับการขาดจิ๊กซอว์ ที่จะมาเติมเต็มประวัติศาสตร์อวกาศ ระหว่างช่วงเวลาเมื่อ 50 ปีก่อน กับโลกในปัจจุบัน ดังนั้น การสูญเสียบุคคลเหล่านี้ไป จึงเท่ากับเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของโลก
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog