ในวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี กำหนดให้เป็นวันแรงงานแห่งชาติ และทุกปีเครือข่ายแรงงานไทยจะออกมาขับเคลื่อน เรียกร้องสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของแรงงานไทย เช่นกลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยที่ออกมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2518 แต่จนถึงขณะนี้คุณภาพชีวิตของแรงงานไทยยังคงติดกับดักรายได้น้อยเช่นเดิม
ชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ผู้ที่ออกมาเรียกร้องค่าแรงให้กับแรงงานไทยตั้งแต่ปี 2518 จนถึง 2556 จากเรียกร้องค่าแรง 18 บาท จนเป็น 300 บาท จะเห็นได้ว่า ค่าแรงมีการขยับขึ้นปีละไม่ถึงหลักร้อยบาท และล่าสุด คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบประกาศคณะกรรมการค่าจ้างในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ฉบับที่ 8 เพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 305-310 บาท หรือเพิ่มขึ้น จากปี 2556 5-10 บาท และการประกาศขึ้นค่าจ้างนั้นคำนึงถึงสภาวะเศรษฐของแต่ละจังหวัด ซึ่งกลุ่มเครือข่ายแรงงานมองว่าไม่ตอบโจทย์ (รายละเอียดเพิ่มเติม : อัตราค่าจ้าง กระทรวงแรงงาน)
ขณะที่ กลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สำรวจอัตรารายได้ค่าจ้างที่แรงงานอยู่ได้ ขั้นต่ำอยู่ที่ 360 บาท และศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุ ผลสำรวจ ค่าแรงขึ้นต่ำที่แรงงานไทยอยู่ได้ ในปี2560 อยู่ที่ 410 บาท
แต่รายได้จริงแล้วของแรงงานไทยยังมีบางกลุ่ม เช่น แรงงานด้านบริการ เช่น แม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัย แรงงานนอกระบบ หรือ ลูกจ้างชั่วคราว ได้รายไม่ถึง 300 บาทต่อวัน นอกจากนี้ในกลุ่มแรงงานในระบบ ร้อยละ 30 ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่มีการปรับโครงสร้างเงินเดือน หรือเรียกได้ว่า ทำงานมา 10 ปี ยังคงได้รายได้เท่าเดิม หรือปรับขึ้นในหลักสิบบาท เช่น กลุ่มแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ,อุตสาหกรรมเซรามิก ,งานบริการ เป็นต้น ส่วนอีกร้อยละ 70 ซึ่งประกอบด้วย แรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องยนต์ ,เครื่องใช้ไฟฟ้า บริษัท จะมีสวัสดิการปรับโครงสร้างเงินเดือน
วันแรงงาน ร้องเพิ่มค่าแรงทุกปี กับดัก "ค่าจ้าง" 42 ปี
ชาลี ลอยสูง ระบุว่า หากให้ประเมินคุณภาพชีวิตแรงงานไทยในรอบ หลายสิบปี มีคุณภาพชีวิตไม่ต่างกัน เพราะยังคงติดกับดัก "ค่าจ้างขั้นต่ำ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ผู้จ้างจ่ายขั้นต่ำ ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปทุกปี จำเป็นต้องมีการเรียกร้องให้ปรับแก้ทุกปี
หากคำนวน รายได้ 300 บาท กับการดำรงชีวิตในเมือง แต่ละวัน จะมีค่าพาหนะไป-กลับ(รถประจำทาง) เฉลี่ยวันละ 60 บาท , ค่าอาหารเช้า 50 บาท, อาหารกลางวัน 50 บาท , ค่าอาหารเย็นที่ซื้อไปทานร่วมกันในครอบครัว 50-70 บาท จะเหลือเงินจากค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต เพียง 80-100 บาท เท่านั้น ยังไม่นับรวม ค่าเช่าบ้าน, ค่ารักษาพยาบาล ,ค่าการศึกษา
ที่ผ่านมา การเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นไปตามอัตราเงินเฟ้อแต่ละปีในประเทศไทย เพื่อให้สวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตแรงงานไม่อยู่ในสภาวะลำบากมากไปกว่านี้ แต่ด้วยนิยามคำว่า ค่าแรงขั้นต่ำ กลับเป็นกับดักเสียเอง เมื่อถูกกำหนดในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ที่ให้นายจ้างต้องให้ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไป และแรงงานส่วนใหญ่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำสุด ซึ่งสวนทางกับสภาพเศรษฐกิจ ในปีนี้ กลุ่มเครือข่ายแรงาน จึงเสนอวิธีแก้ที่กฎหมาย ด้วยเปลี่ยนนิยามเป็น "ค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม" ที่คำนวนแล้วว่า แรงงาน 1 คน ต้องมีรายได้สามารถเลี้ยงดูคนในครอบครัวได้ 2 คน หรือเปลี่ยนนิยาม ให้เป็นกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้า ซึ่งต้องมีการปรับโครงสร้างเงินเดือน และต้องเท่ากันทั่วประเทศ ถ้าหากปรับแก้กฎหมายได้ และบังคับใช้อย่างจริงจัง เครือข่ายแรงงานไทยจะไม่ต้องออกมาเรียกร้องปรับค่าจ้าง ซึ่งเสมือนเป็นการแก้ปัญหาปลายทาง
10 ข้อเรียกร้อง ประจำปี 2560
กลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และเครือข่ายแรงงานไทย ได้รวมรวมความต้องการแรงงานไทย เพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลภายในการนำของพลเอกประยุทธ ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยจุดประสงค์หลัก การให้รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองคืการแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และอนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง ที่รัฐบาลไทยหลายสมัยบ่ายเบี่ยงมากว่า 60 ปี ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ได้ลงสัตยาบันแล้ว อีกทั้ง ควรมีกองทุนประกันความเสี่ยง กรณีที่บริษัทปิดตัวแล้วหนี ทิ้งให้แรงงานไม่ได้รับค่าจ้าง
ของขวัญที่แรงงานไทยอยากได้
ทีมข่าววอยซ์ทีวี ได้รวบรวม มุมมองความเห็น ต่อของขวัญที่แรงงานไทยอยากได้ โดยเก็บเสียงสะท้อนจากแรงงานไทยที่กำลังดำเนินทำกิจกรรม วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคมนี้ โดยพวกเขามาร่วมเสนอข้อเรียกร้องที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเสียงสะท้อนของแรงงานไทย ในฐานะผู้ที่ขับเคลื่อนเรียกร้องสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตของแรงงานไทย โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำที่ต้องเผชิญปัญหานี้แบบวนซ้ำ ทั้งนี้ การแก้ปัญหาต้องอาศัย 3 ภาคส่วน คือ รัฐบาลต้องเข้ามาช่วย ส่งเสริมสนับสนุนแรงงาน ทำงานเชิงรุกในการสำรวจปัญหา หาวิธีป้องกันด้วยการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง , ส่วนที่สอง คือนายจ้าง ต้องมองชีวิตลูกจ้างบนความเท่าเทียมของสังคม ลูกจ้างต้องมีสวัสดิการที่คุ้มค่ากับผลประกอบการ ดูแลอนาคตคุณภาพชีวิตของแรงงานหลังเลิกจ้าง และสาม ลูกจ้าง ต้องปรับปรุงตัวเองให้เท่าทันความต้องการแรงงานในตลาดไทยแลนด์ 4.0 ต้องรับผิดชอบ พัฒนาตัวเองสม่ำเสมอ