กองทุนการออมแห่งชาติ จับมือสำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯ เพิ่มช่องทางรับสมัครสมาชิกในพื้นที่ห่างไกล ตั้งเป้าสิ้นปีนี้มีสมาชิกเพิ่มเป็น 1 ล้านคน ด้านผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบภาคประชาชน สมุทรปราการ เสนอแก้ไข พ.ร.บ.กอช. ปลดล็อคข้อกำหนดอายุสมาชิก เปิดทางเลือกการออมแก่ประชาชน ไม่ควรจำกัดเพียง 15-60 ปีเท่านั้น
นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เปิดเผยว่า ปัจจุบันกองทุนมีสมาชิกแล้ว 531,000 ราย เงินกองทุนเกือบ 3 พันล้านบาท และปีนี้ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนสมาชิกเป็น 1 ล้านราย เพราะแรงงานนอกระบบที่ไม่มีเงินเดือนในประเทศไทยมีประมาณ 20 ล้านราย ซึ่งในจำนวนนี้ มองว่ามีคนที่มีศักยภาพจะออมได้ราว 10 ล้านราย ดังนั้นจึงต้องการชักชวนเข้ามาเป็นสมาชิกกอช. เพื่อให้มีเงินเก็บออมไว้ใช้ในบั้นปลายชีวิต
ขณะที่สมาชิกของกองทุนฯ ปัจจุบัน เกือบร้อยละ 60 เป็นเกษตรกร อาศัยอยู่ในอีสานมากที่สุด และตามมาด้วยเหนือ กลาง ใต้ ที่ผ่านมาการนำเงินไปฝากเข้ากองทุนฯ ของสมาชิกก็ต้องนำไปที่ธนาคาร 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งรวมกันแล้วมีกว่า 3,000 สาขาทั่วประเทศ
แต่สำหรับประชาชนในหมู่บ้านที่ห่างไกล การนำเงินมาส่งเข้ากองทุนฯ ที่ธนาคารอาจทำให้เสียเวลาและทรัพย์สิน ดังนั้นปีนี้ กองทุนฯ จึงจะทำเอ็มโอยูกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เพื่ออาศัยกองทุนหมู่บ้านเป็นแหล่งกระจายข้อมูล พร้อมกับรับฝากเงินให้กับประชาชนตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มนี้มีหลักประกันในอนาคต
ส่วนอีกกลุ่มเป้าหมายที่จะชักชวนเข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนคือ กลุ่มนักเรียน เพราะตามกฎหมายสมาชิกมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ดังนั้น จึงจะทำงานร่วมกับโรงเรียนเพื่อปลูกฝังนิสัยรักการออมให้กับเยาวชนต่อไป ส่วนการปรับเปลี่ยนข้อกำหนดอายุในการสมัครสมาชิกก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้
ด้านนางอุบล ร่วมโพธิ์ทอง ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบภาคประชาชน สมุทรปราการ ในฐานะตัวแทนกลุ่มออมทรัพย์สัจจะชุมชนไทยเกรียง กล่าวว่า ปัจจุบันในกลุ่มออมทรัพย์ฯ มีสมาชิกราว 400 คน ออมได้ขั้นต่ำคนละ 100 บาทต่อเดือน และไม่เกิน 1,000 บาทต่อเดือน แต่มีสมาชิกที่เป็นสมาชิกกอช. เพียงร้อยละ 10 ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่เป็นผู้มีอายุเกิน 60 ปี หรือมีสิทธิประกันสังคมอยู่แล้ว จึงไม่เข้าเงื่อนไขสมัครสมาชิกกอช.
ทั้งนี้ จุดเริ่มการรวมตัวเป็นกลุ่มออมทรัพย์ฯ มาจากกลุ่มคนงานไทยเกรียงเมื่อปี 2545 พอออกมาจากงานก็ไม่มีเงิน มีแต่หนี้สิน จะกู้แบงก์ก็กู้ไม่ได้ เพราะไม่มีสลิปเงินเดือน ไม่มีคนค้ำประกัน ดังนั้นจึงรวมตัวกันเป็นกลุ่มออมทรัพย์ฯ ขึ้นมา ปัจจุบันกลุ่มฯ มีเงินหมุนเวียน 2 ล้านบาท ไม่มีหนี้สูญเลย เพราะให้กู้น้อย แต่ให้ออมเยอะ เพื่อให้สมาชิกมีเงินพอใช้ในชีวิตหลังวัยเกษียณ
การกระตุ้นให้ประชาชนไทยออมเงินมากขึ้น เป็นผลจากสถานการณ์การเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทยมีอัตราเร่งที่สูงมาก ข้อมูลจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ระบุว่า ในปี 2558 ประชากรไทยมีจำนวน 65.1 ล้านคน ในจำนวนนี้มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 11 ล้านคน หรือร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยได้กลายเป็นสังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี 2548 คือมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 10 ในอัตราเร่งที่เพิ่มขึ้นเร็วมากถึงร้อยละ 4 ต่อปี และตามประมาณการประชากรของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ระบุว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์คือมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร ภายในปี 2564 หรืออีกเพียง 4 ปีนับจากนี้
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังทำสถิติ เป็นประเทศที่มีประชากรสูงวัยมากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 18 ขณะที่อินโดนีเซียซึ่งมีประชากรมากที่สุดในอาเซียนถึง 258 ล้านคน มีประชากรสูงวัยร้อยละ 8 เท่านั้น