เที่ยวชมวัดคู่บ้านคู่เมืองเขลางค์นคร วิหารหลวงสร้างแบบล้านนา พระธาตุเจดีย์รับอิทธิพลศิลปกรรมแบบสุโขทัย
ศาสนสถานที่โดดเด่นที่สุดในวัดพระธาตุลำปางหลวง คือ พระธาตุเจดีย์ อันเป็นสถาปัตยกรรมประธานของวัด มีพระวิหารหลวงตั้งอยู่ทางตะวันออกของเจดีย์
เดินผ่านประตูโขงเข้าสู่เขตพุทธาวาส มองเห็นเจดีย์พระธาตุลำปางหลวง อยู่ทางด้านหลังของวิหารหลวง
พระธาตุเจดีย์
พระธาตุเจดีย์องค์ปัจจุบันสถาปนาขึ้นใหม่เมื่อช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 จารึกระบุประวัติการบูรณะครั้งสำคัญเมื่อพ.ศ.2019
พระธาตุเจดีย์เป็นทรงระฆังกลม ส่วนฐานชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียง 3 ชั้น รองรับฐานปัทม์สี่เหลี่ยมยกเก็จซ้อนกันสองฐาน
เหนือขึ้นไปเป็นฐานเขียง 2 ชั้นในผังกลม องค์ระฆังรองรับด้วยลวดบัวเรียงซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น มีรูปทรงเอนลาดแบบชุดบัวถลา ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะสุโขทัย
ที่ส่วนฐานของพระธาตุเจดีย์ (ล่าง-ขวา) ประดับแผ่นทองดุนลาย รูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ลายดุนมีหลายแบบ เช่น ลายธรรมจักร ลายทรงกลมเกลี้ยง
ที่ส่วนกลาง (ล่าง-ซ้าย) เหนือจากชั้นบัวถลาของส่วนฐานคือ บัวปากระฆัง ทำเป็นลายปูนปั้นรูปกลีบบัว องค์ระฆังกลมป้าน ปากระฆังผายออก รอบองค์ระฆังคาดประดับด้วยประจำยามอก
ที่ส่วนยอด เหนือองค์ระฆังเป็นบัลลังก์ทรงกลม ซ้อนลดหลั่นกันสองชั้น เหนือก้านฉัตรเป็นบัวฝาละมี โดยรอบบัวฝาละมีทำชายห้อยลงมา มองดูคล้ายฉัตร ตั้งต่อขึ้นไปด้วยปล้องไฉนและปลียอด ที่ปลายสุดประดับฉัตร
แต่ละด้านของทิศทั้งสี่โดยรอบพระธาตุเจดีย์ ประดิษฐานหอบูชา เรียกว่าหอยอ เป็นเรือนไม้โถงตั้งบนฐานก่ออิฐถือปูน บางทิศมีหอยอมากกว่าหนึ่งหลัง
ทางทิศใต้ของพระธาตุเจดีย์ มีซุ้มประตูทรงยอดมณฑป ด้านหน้าซุ้มมีปูนปั้นทวารบาลยืนบนหลังสิงห์
พระวิหารหลวง
วัดพระธาตุลำปางหลวงมีวิหารมากถึง 5 หลัง คือ วิหารหลวง วิหารพระพุทธ วิหารพระเจ้าศิลา วิหารต้นแก้ว และวิหารน้ำแต้ม ทุกวิหารล้วนมีศาสนวัตถุที่น่าดูน่าชม ในตอนนี้ ขอเริ่มกันที่วิหารหลวงก่อน
วิหารหลวงมีขนาดใหญ่นับได้ 9 ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าสร้างพร้อมกับการหล่อพระประธานในวิหารหลวง คือ พระเจ้าล้านทอง เมื่อพ.ศ.2106 และบูรณะครั้งใหญ่ในปี 2466
หลังคาลดชั้นทางด้านหน้า 2 ชั้น ลดชั้นทางด้านหลัง 1 ชั้น ในแต่ละชั้นมีผืนหลังคา 3 ตับ
ด้านข้างอาคารเปิดโล่งอย่างที่เรียกว่า วิหารโถง มีผนังไม้ที่เรียกว่า ฝาย้อยหรือฝาหยาบ ปิดลงมาตามแนวความสูงของเสาราวครึ่งหนึ่ง
บนพื้นผิวของฝาย้อยด้านในปรากฏภาพจิตรกรรมแบบพม่าผสมผสานลีลาพื้นบ้าน เขียนขึ้นเมื่อพ.ศ.2470 ปัจจุบันตัวภาพค่อนข้างลบเลือน
จิตรกรรมเป็นภาพเล่าเรื่อง ทศชาติชาดก และพุทธประวัติ
ฝ้าเพดานเป็นไม้ มีดาวเพดานในแต่ละช่วงเสา
ลายดาวเพดานตรงกลางทำเป็นรูปสัตว์และสัตว์ในเทพนิยาย เช่น แพะ สิงห์ กินรี
ในตอนหน้า เราจะเดินชมวิหารอื่นๆกัน.
แหล่งข้อมูล
พรรณนิภา ปิณฑวณิช. (2546). การศึกษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมวัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (2556). ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน.
ติดตาม ไทยทัศนา ย้อนหลัง
ไทยทัศนา : (1) วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (2) วัดสุวรรณาราม ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (3) วัดราชโอรส ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (4) วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (5) วัดสุวรรณดาราราม อยุธยา
ไทยทัศนา : (6) วัดเสนาสนาราม อยุธยา
ไทยทัศนา : (7) วัดจันทบุรี สระบุรี
ไทยทัศนา : (8) วัดสมุหประดิษฐาราม สระบุรี
ไทยทัศนา : (9) วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (10) วัดบางขุนเทียนใน ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (11) วัดซางตาครู้ส ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (12) วัดบางขุนเทียนนอก ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (13) วัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม
ไทยทัศนา : (14) วัดนิเวศธรรมประวัติ อยุธยา
ไทยทัศนา : (15) สัตตมหาสถาน กรุงเทพฯ เพชรบุรี
ไทยทัศนา : (16) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (17) วัดตองปุ ลพบุรี
ไทยทัศนา : (18) มหาธาตุ ลพบุรี
ไทยทัศนา : (19) จิตรกรรม วัดพุทไธสวรรย์ อยุธยา
ไทยทัศนา : (20) พระปรางค์มหาธาตุ ราชบุรี
ไทยทัศนา : (21) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (22) วัดพระธาตุลำปางหลวง (ตอนที่หนึ่ง)
ไทยทัศนา : (23) วัดพระธาตุลำปางหลวง (ตอนที่สอง)