ไม่พบผลการค้นหา
วอยซ์ทีวี รวบรวมเหตุผลที่ว่าทำไมเวลาประชาชนไปขอภาพจากกล้องวงจรปิดของ กทม. มักได้คำตอบว่า 'กล้องเสีย'

วอยซ์ทีวี รวบรวมเหตุผลที่ว่าทำไมเวลาประชาชนไปขอภาพจากกล้องวงจรปิดของ กทม. มักได้คำตอบว่า 'กล้องเสีย'

หลายครั้งหลายคราที่อ่านข่าวพบกรณีญาติผู้เสียหาย หรือผู้เสียชีวิต ขอภาพกล้องวงจรปิด ของกรุงเทพฯ เพื่อตามหาคนร้าย หรือหาเบาะแส แต่คำตอบที่ได้รับ เจ้าหน้าที่มักระบุว่า "กล้องเสีย" หรือ "ไม่ได้บันทึกภาพไว้" คำตอบนี้สะท้อนไปที่ ประสิทธิภาพกล้อง CCTV 53,249 ตัว คุ้มค่ากับงบประมาณที่ติดตั้งหรือไม่   หรือ การเว้นว่างของการปฎิบัติของเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฎิบัติการควบคุมระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด

เช่นกรณี สมชัย เลิศสุกิจจา บุตรชายผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ บริเวณ ปากซอยสาธุประดิษฐ์ 15  ซึ่งตรงนั้นมีกล้อง CCTV กทม. 4 ตัวในเสาต้นเดียวกัน และหน้าปากซอยสาธุประดิษฐ์ 20 มีอีก 4 ตัว แต่จากการประสานขอสำเนาภาพจากศูนย์ปฎิบัติการควบคุมระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ศาลาว่าการกทม กลับได้คำตอบว่า "กล้องเสีย"

แม้ว่าภายหลัง ทางครอบครัวเลิศสุกิจจาจะได้รับคลิปที่บันทึกเหตุการณ์จากกล้องซีซีทีวี จุดที่ใกล้เคียงอีกตัว ถัดไป300 เมตร โดยได้รับคำชี้แจงว่า เสา 1 ต้น ฟิวส์ไฟฟ้าขาด และอีกต้น กล่องบันทึกภาพมีปัญหา   แต่คำถามได้เกิดขึ้นแล้วว่า  จะต้องเป็นข่าวก่อนถึงได้ภาพ ทุกกรณีหรือไม่

ย้อนดูงบประมาณ ติดตั้งกล้อง "CCTV มหานครแห่งความปลอดภัย"

กรุงเทพมหานครภายใต้การบริหารงานของ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ 2 สมัยติดต่อกัน ซึ่งปัจจุบันเป็นอดีตผู้ว่าฯ นโยบายที่เน้นมาตลอด 8 ปี คือการติดตั้งกล้องซีซีทีวี มีเป้าหมาย 50,000 ตัว ภายในปี 2560 

ทั้งนี้ ขอยกตัวอย่าง งบประมาณจ้างเหมาจัดซื้อติดตั้งกล้องซีซีทีวี ที่ผู้เขียนหาได้   เช่น 
ปี 2552  (25 ธ.ค.50 - พ.ย. 2552) ทำสัญญาจ้างเหมา 4 โครงการ มูลค่า รวม 327,604,069 บาท  แบ่งเป็น
1.) 106,900,000 บาท
2.) 67,800,000 บาท
3.) 66,240,000 บาท 
4.) 86,664,069.85 บาท

ซึ่งขณะนั้น มี กล้องจริง  2,046 ตัว  และ กล้องดัมมี่  1,325 ตัว (อ้างอิง : มติชน)

ปี 2553-2554  รวมมูลค่า   2,385,036,951 บาท  ติดตั้ง 10,000ตัว  ว่าจ้างผ่านบริษัทเอกชน 11 ราย (อ้างอิง : สำนักข่าวอิศรา

ในช่วงสมัยที่ 2  งบประมาณปี 2554-2560  กทม. จัดทำสัญญาจัดซื้อ  9 สัญญา ติดตั้งกล้อง 12,319 ตัว วงเงิน 1,035,929,400 บาท  และกำลังจะติดตั้งที่บึงหนองบอน 50 ตัว หลังจัดซื้อในปี 2560

ด้าน นายสมชาย ตกสิยานันท์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบจราจร สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพฯ อธิบายว่า ปัจจุบันกล้องซีซีทีวีได้ติดตั้งทั่วทุกเขตของกรุงเทพมหานครแล้ว จำนวน 53,249 ตัว แบ่งเป็นกล้องที่มีการเชื่อมโยงสัญญาณภาพไฟเบอร์ออฟติก ซึ่งจะเชื่อมภาพไปยังสถานีตำรวจ 88 แห่งทั่วกทม. และมีคลังเก็บฟุตภาพที่สำนักงานเขตและ ศูนย์ปฎิบัติการควบคุมระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ที่ศาลาว่าการก.ท.ม. จำนวน 14,845 ตัว คิดเป็นร้อยละ 27.88 ส่วนอีก 38,404 ตัว คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 72.12  เป็นระบบ Stand alone มีตัวบันทึกภาพในกล่องแผงวงจรที่เสา  ทั้งนี้ยืนยันว่า กล้องซีซีทีวีของ ก.ท.ม. ทุกตัวเชื่อมระบบไฟฟ้าและบันทึกภาพได้ ไม่มีกล้องดัมมี่หรือกล้องตาบอดอีกต่อไป

เมื่อไม่มี กล้องตาบอด ทำไมขอภาพกล้องวงจรปิด กทม. มักไม่มีภาพ

เมื่อกล้องซีซีทีวี กทม. ทำงานได้ทุกตัว  แต่เหตุใดยังมีเสียงที่ส่งผ่านโซเชียลมีเดียว่า กล้องซีซีทีวี กทม.ไม่บันทึกภาพ ซึ่งนายสมชายได้ชี้แจงว่า มีสัดส่วนร้อยละ20 ของผู้มาขอภาพเท่านั้น ที่ไม่ได้ภาพไป โดยส่งเอกสาร ยกตัวอย่างสถิติผู้ขอภาพใน 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.60)  ระบุว่า ร้อยละ 80  ได้ภาพไป

 

กล้องที่มีปัญหา ส่วนใหญ่ระบบ Stand alone สัดส่วนร้อยละ 72.12 ทั่วกทม.

จากข้อมูล กองพัฒนาระบบจราจร ยอมรับว่า กล้องที่ไม่ได้บันทึกภาพ หรือมีปัญหา ส่วนใหญ่เป็นกล้องซีซีทีวี ระบบ Stand alone จำนวน 38,404 ตัว สัดส่วนร้อยละ 72.12 ของกล้องกทม. มีความบกพร่องในอุปกรณ์หลายสาเหตุ เช่น ฟิวส์ไฟฟ้าขาด ตัวบันทึกภาพชำรุด  เป็นไปตามสภาพการติดตั้งและใช้งานมานาน  โดยการดูแลรักษา ทางบริษัทผู้รับเหมาติดตั้งจะดูแล 2 ปี หลังจากนั้น กทม.ได้จ้างบริษัทเอกชน ตรวจสอบและซ่อมแซมในวงรอบ 15 วันทุกจุด โดยแต่ละบริษัทที่รับผิดชอบจะต้องมีกล้องสำรอง ร้อยละ 6 ของจำนวนที่รับผิดชอบ โดยสามารถสลับเปลี่ยนได้ทันที  แน่นอนว่ามีโอกาสที่กล้องจะเสียในช่วงวงรอบหลังตรวจสอบแล้ว เฉลี่ยไปเกิน ร้อยละ 5-6 

 

 

อัศวิน เร่ง! ให้ส่งภาพกล้องCCTV  ภายใน3วัน

"ขอภาพกล้องวงจรปิด ต้อง 7 วันขึ้นไป ตามระบบข้าราชการ"  ในแง่ผู้เสียหาย อาจทำให้คดีล่าช้า ทางนายสมชาย ระบุว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการก.ท.ม.คนปัจจุบัน ย้ำว่า ต้องส่งภาพให้ประชาชนภายใน 3 วันโดยภาพกล้องที่เชื่อมระบบไฟเบอร์ออฟติกและระบบStand alone  สามารถติดต่อขอสำนักงานเขต หรือ ศูนย์บริหารจัดการกล้องวงจรปิดใน 12 สำนักงานเขต ดังนี้  
กรุงเทพเหนือ -  จตุจักร
กรุงเทพกลาง  -  ราชเทวี ห้วยขวาง
กรุงเทพใต้ - พระขโนง  บางคอแหลม 
กรุงเทพตะวันออก  - มีนบุรี บึงกุ่ม
กรุงธนบุรีใต้  -  ราษฎ์บูรณะ  บางบอน
กรุงธนบุรีเหนือ - บางพลัด จอมทอง 

แต่ทั้งนี้จะได้ภาพรวดเร็ว หากประชาชนจดเลขที่ของกล้องที่เสา และระบุพิกัดชัดเจน อีกทั้ง กล้องบางตัว บันทึกภาพ ได้ แค่ 7 วันย้อนหลัง และบางตัว บันทึกภาพ ได้ 30 วันย้อนหลัง ดังนั้นหลังเกิดเหตุ ต้องรีบติดต่อขอภาพก่อนถูกลบไป ส่วนปฏิบัติได้จริงหรือไม่ อยู่ที่การกำกับการของเจ้าหน้าที่ที่มีความใส่ใจประชาชนผู้เสียภาษีมากน้อยขนาดไหน 

ขยายเครือข่ายกล้องเอกชน ถึงไหน!

ใน 6 นโยบายของการพัฒนากรุงเทพฯ ที่กำหนดให้กรุงเทพปลอดภัยจะเชื่อมโยงสัญญาณภาพกล้องวงจรปิดของเอกชนทั่วกรุงเทพฯที่มีประมาณ 200,000 ตัว ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียง จนถึงขณะนี้ผ่านมา 4 ปี  อยู่ในระหว่างการประสานงานหารือ  โดยนำร่อง"กลุ่มผู้ประกอบการสี่แยกราชประสงค์" แต่ยังพบอุปสรรค กล้องกทม.กับเอกชนมีระบบไม่เหมือนกัน ต้องหา Software มาเชื่อมระบบ  

งบประมาณจัดซื้อCCTV คุ้มค่ากับภาษีที่จ่ายไปหรือไม่

เมื่อรวมงบประมาณ จัดซื้อกล้องซีซีทีวี ตามข้อมูลที่หาได้  มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท  กับสัดส่วนกล้องซีซีทีวี Stand alone ร้อยละ 72.12 ที่ยังไม่เชื่อมระบบออนไลน์ ขั้นตอนการตรวจสอบสภาพพร้อมใช้ อยู่ในวงรอบ 15 วัน ที่อาจมีบางตัวระบบอุปกรณ์เสียในช่วงวงรอบ เป็นเรื่องปกติ หรือ ต้องรับผิดชอบมากขึ้น เมื่อเหตุการณ์อุบัติเหตุ หรืออาชญากรรมไม่ได้เลือกวันเวลาในการเกิดเหตุได้ เมื่อ กรุงเทพมหานคร ประกาศให้เป็นมหานครแห่งความปลอดภัย  น่าจะเป็นการบ้านอีกข้อที่กรุงเทพมหานครต้องแก้โจทย์ แก้ปัญหา เพื่อคุณภาพชีวิตของประชากรกรุงเทพ กว่า 5.7 ล้านคนได้อุ่นใจ

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog