สัมภาษณ์แบบจัดเต็ม!! ฟังการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ภายหลังจาก ‘หมุดคณะราษฎร’ หายไปอย่างลึกลับและมีการแทนที่ด้วย ‘หมุดหน้าใส’ อย่างไร้ที่มาและยังคงเป็นปริศนา
ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผู้เขียนหนังสือ 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ (1932 Revolution and the Aftermath) พิมพ์โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ พาไปดูตำแหน่งหมุดเดิมพร้อมเล่าประวัติศาสตร์หมุดคณะราษฎร ย้อนอดีตเคยถูกถอดครั้งแรกในยุคจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งมีมาตรา 17 อันเป็นบิดาของมาตรา 44 ในปัจจุบัน และถูกถอดเป็นครั้งที่ 2 ในยุคนี้ ติดตามการวิเคราะห์ข้อความบนหมุดใหม่อันไม่สะท้อนอุดมการณ์ที่มองไปข้างหน้า
จากเดิมตรงนี้มีหมุดสำริด ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นที่รำลึกการปฏิวัติในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยมีรัฐธรรมนูญ ให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งปีนี้ครบรอบ 85 ปีของการเปลี่ยนระบอบทางการเมือง
-จุดวางหมุดคณะราษฎรมีความหมายอย่างไร
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร เมื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี(ต่อจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา) มีความคิดว่าน่าจะสร้างหลักหมายตรงจุดที่สำคัญที่สุดของเช้าวันที่ 24 มิถุนายน จึงมีการสร้างหมุดขึ้นมาแล้ววางไว้จุดนี้ วันที่ 10 ธ.ค. ปี 2479 ตามเจตจำนงของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา
เหตุที่ต้องเป็นจุดนี้เพราะเคยเป็นจุดที่พระยาพหลพลพยุหเสนา เดินออกมาในท่ามกลางทหารที่กำลังยืนอยู่ แล้วอ่านประกาศแถลงการณ์ของคณะราษฎร ขณะทำการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ช่วงเช้าย่ำรุ่งหรือราว 6 โมงเช้า ณ จุดนี้ นี่คือจุดยืนของพระยาพหลพลพยุหเสนา มันหมายถึง รอยเท้า
เราลองจินตนาการดู 85 ปีที่แล้ว พระยาพหลพลพยุหเสนายืนอยู่จุดนี้ แล้วก็ประกาศเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญของประเทศ
ตอนนั้น สไตล์ของการสร้างจะแตกต่างจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่สร้างอีก 3 ปีต่อมา ขณะที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นอนุสาวรีย์โดดเด่น บนถนนราชดำเนิน แต่หมุดเหมือนวางอยู่บนพื้นธรรมดา
ที่น่าสนใจคือ “หมุด 2475” หรือ “หมุดคณะราษฎร” พระยาพหลพลพยุหเสนาเรียกหมุดตรงนี้ว่า “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ด้วยเหตุนี้ หมุดจึงเขียนว่า “24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” คำว่า คณะราษฎร เป็นชื่อคนกลุ่มหนึ่งที่มีสมาชิกเพียง 102 คนเท่านั้น
คณะราษฎรไม่ใช่คณะใหญ่โต เพราะภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นระบอบปิด การเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องเป็นการเคลื่อนไหวแบบลับ จึงต้องมีสมาชิกที่จำกัดและไว้วางใจได้ เป็นผลมาจากเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น 20 ปี มีเหตุการณ์หนึ่งที่เราเรียกว่า กบฏยังเติร์ก หรือกบฏปี 2455 หรือกบฏหมอเหล็ง ที่มีคณะทหารจำนวนมากในกรุงเทพมหานคร ต้องการเปลี่ยนระบอบทางการเมือง
ปีนั้น เป็นปีที่ 2 ในสมัยรัชกาลที่ 6 คณะทหารต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้เป็นประชาธิปไตยในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่เหตุการณ์ครั้งนั้น คณะทหารล้มเหลว เนื่องจากว่า มีความลับรั่วไหลจากสมาชิกคนหนึ่ง ก็เลยกลายเป็นกบฏไป
20 ปีต่อมา คณะราษฎรก็สร้างตัวเอง แต่จากเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีก่อน ทำให้เกิดการปิดลับมาก การปิดลับนี้ทำให้เกิดการคัดสรรสมาชิกแบ่งเป็นฝ่ายพลเรือน 50 คน อีกกลุ่มเป็นฝ่ายทหาร 52 คน ทหารบก 34 คน ที่เหลือเป็นทหารเรือ ตอนนั้นยังไม่มีทหารอากาศ
คณะราษฎรจึงเป็นข้าราชการประจำรุ่นใหม่ ที่ถูกสร้างขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 5 และคณะราษฎรมีคณะทหารร่วมอยู่ด้วย แต่ไม่มีกำลังอาวุธ ไม่ได้บังคับหน่วยทหาร ส่วนใหญ่เป็นครูอาจารย์โรงเรียนต่างๆ ที่สอนนายทหาร
-วิเคราะห์ข้อความบน ‘หมุดหน้าใส’ หมุดใหม่ที่มาแทน ‘หมุดคณะราษฎร’
หมุดนี้ก็ดูใกล้เคียงกับหมุดคณะราษฎร 2475 ถ้าดูจากภาพก็ดูเหมือนเป็นหมุดโลหะแผ่นหนึ่ง แต่เมื่อมามองดูใกล้ๆ ก็ดูเหมือนเป็นร่อง เป็นกรอบ เป็นวงกลมแล้วมีชิ้นส่วนอย่างน้อยๆ 4 ชิ้นมาประกอบกัน
ตัวอักษรตรงกลาง “ขอประเทศสยามจงเจริญ” ต้องพิจารณาว่า การใช้คำว่าประเทศ และการใช้คำว่า สยาม นั้นเป็นการย้อนยุค
รัฐบาลกรุงเทพฯ ยอมรับเป็นชื่อประเทศสยามเมื่อปี พ.ศ. 2398 ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อต้องทำสนธิสัญญากับอังกฤษ ต่อมาชื่อประเทศสยามถูกเปลี่ยนแปลงในปี พ.ศ. 2482 ในสมัยจอมพล ป. หรือ หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลคณะราษฎร ผู้สร้างระบอบประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญ ได้เปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย
ดังนั้น ประเทศสยามได้สิ้นไปแล้ว ในปี พ.ศ. 2482 ช่วงของประเทศสยามมีเพียง 84 ปีเท่านั้น การที่ใช้คำว่าประเทศสยาม เท่ากับย้อนยุคไป ในขณะที่เราอยู่ในช่วงของประเทศไทย
คำว่า “ขอให้ประเทศสยามจงเจริญ ยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใส” อันนี้แปลกมากเลยนะครับ เมื่อใช้คำว่า สุขสันต์หน้าใส สุขสันต์เป็นคำใหม่ของโลกยุคของพวกเรา เมื่อกว่าค่อนศตวรรษมาแล้ว คำว่า สุขสันต์ เราเอามาใช้แทนคำฝรั่งว่า happy เราจะแปลคำว่า Happy New Year เป็น สุขสันต์ปีใหม่ หรือคำว่า Happy Birthday เป็น สุขสันต์วันเกิด
คำว่า หน้าใส มันก็ทำให้คิดถึง จารึกในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ที่มีคำเรียกว่า ไพร่ฟ้าหน้าใส แต่ทีนี้จะใช้คำว่าไพร่ฟ้าก็ไม่ได้ กลับมาใช้คำว่าประชาชน
ประชาชน เป็นคำที่ถูกใช้หลังการปฏิวัติ 2475 เพราะว่าก่อนปฏิวัติ 2475 เราเป็นประเทศสยาม เราจะต้องเรียกคนในแผ่นดินนี้ว่า “ราษฎร” ด้วยเหตุนี้ คณะราษฎร หรือชื่อว่า the People’s Party จึงตั้งชื่อตัวเองว่า คณะ หรือ party ซึ่งแปลว่า คณะ ตอนนั้นคำว่า พรรคการเมือง ยังไม่มี เพราะเป็นยุคสมัยที่ห้ามมีการเมืองของประชาชน
ส่วนยุคนั้น people ใช้คำว่า ราษฎร ซึ่งเป็นผู้ถูกปกครองในสมัยของประเทศสยาม แต่พอบอกว่า ประเทศสยามแล้วบอกให้ประชาชนหน้าใส มันคนละยุคสมัยกัน เอามาอยู่ด้วยกันได้อย่างไรก็ไม่ทราบ ส่วนคำว่า “เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน” เป็นคำที่เราคุ้นๆ
คำว่า ไพร่ฟ้าหน้าใส อาจจะตีความได้ว่ามีความสุขสดชื่น ทว่าคำนี้มาจากจารึกพ่อขุนรามคำแหงที่ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ถกเถียงกันว่าเป็นจารึกจริงในสมัยสุโขทัยหรือของปลอม
แต่โดยทั่วๆ ไปบนหมุดหน้าใส เราเห็นแค่สิ่งที่พยายามจะบอกว่า บ้านเมืองดูดีนะ แต่เราไม่เห็นอุดมการณ์ที่มองไปข้างหน้า นี่คือหลักหมายของหมุดนี้
คำในวงกลมเหมือนเป็นการเอาคำที่ปิ๊ง มาไว้ร่วมกัน ทั้ง 3 อันจึงขัดแย้งกันเอง ไม่ได้ไปตามยุคสมัยใดๆ ทั้งสิ้น เหมือนกับบอกว่า ไพร่ฟ้าหน้าใส... เอ๊ะ!! แล้วจะเป็นอุดมการณ์ ทางการเมืองเป็นอย่างไร
เราอ่านแล้วก็จะไม่รู้ถึงการมองไปข้างหน้า วิชั่นที่จะมีไปข้างหน้า ในขณะที่หมุดของคณะราษฎร บอกว่า เขาได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ ซึ่งเป็นวิชั่นที่มองไปข้างหน้า นี่คือความแตกต่างกันนะครับ
-นี่เป็นครั้งแรกที่หมุดคณะราษฎรถูกถอดออกไปหรือไม่
นี่เป็นครั้งที่ 2 ที่หมุดคณะราษฎรได้ปลิวหายไปจากจุดที่ตั้ง ครั้งแรกเป็นช่วงรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มีลักษณะเป็นรัฐทหารแบบเบ็ดเสร็จที่สุด เพราะมีมาตรา 17 เป็นเสมือนบิดาของมาตรา 44 ในปัจจุบัน
ในปี 2503 จอมพลสฤษดิ์ ได้ยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน ซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นโดยคณะราษฎรในปี 2482 และในช่วงนี้เอง น่าจะเป็นช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ได้สั่งให้มีการเอาหมุด 2475 ออกไป
การที่จอมพลสฤษดิ์ สั่งให้เอาหมุดคณะราษฎรนี้ออกไป มีความหมายสำคัญคือหมุด 2475 เป็นการยืนยันว่า การสร้างประชาธิปไตยจะต้องมีรัฐธรรมนูญ ในความหมายของคณะราษฎรคือ เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง
แต่จอมพลสฤษดิ์ต้องการปกครองในแบบรัฐบาลทหาร ที่มีรัฐธรรมนูญชั่วคราว มีมาตราเพียง 20 มาตรา และมีมาตรา 17 ที่มีความหมายอย่างยิ่งก็คือ คำสั่งหรือการกระทำของนายกฯ ถือเป็นกฎหมาย
มาตรา 17 ก็คือ บิดาของมาตรา 44 ในปัจจุบัน ดังนั้น การมีหมุด 2475 ของคณะราษฎรอยู่ตรงนี้ จึงเหมือนเสี้ยนตำฝ่าเท้าของรัฐบาลทหาร เพราะรัฐบาลทหารต้องการที่จะยืดเวลาของการมีรัฐธรรมนูญ
ด้วยเหตุนี้ การร่างรัฐธรรมนูญในยุคสมัยของจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม กิตติขจร จึงกินเวลาเกือบ 10 ปี ก็เท่ากับว่า ในช่วงของการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ก็ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง รัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหารจะใช้วิธีการ selection ก็คือ แต่งตั้ง คัดสรร สรรหา ในขณะที่รัฐบาลของคณะราษฎร ทำการปฏิวัติ 2475 เพื่อใช้ election ว่าด้วยการเลือกตั้งเป็นหลัก
ดังนั้น หลังการปฏิวัติ 2475 เราจึงเห็นความพยายามที่จะกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเทศบาลเพื่อให้บริหารงานชุมชนของตนเอง คณะราษฎรมุ่งเน้นการสร้างเทศบาลและมีเป้าหมายที่จะสร้างเทศบาลให้ครบทุกตำบล ทั้งประเทศ 4,000 กว่าแห่ง แต่ภายใต้สถานการณ์สงคราม และต่อมาการรัฐประหารปี 2490 ทำให้การสร้างเทศบาลหยุดชะงัก นี่คือหลักหมายหนึ่งเมื่อยุค 50-60 ปีที่แล้ว ที่จอมพลสฤษดิ์ได้เอาหมุด 2475 ออกไป แต่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ได้เก็บหมุดไว้ ก็เลยเป็นความโชคดีของสังคมไทย เพราะพอจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิต หมุดนั้น ก็ถูกนำกลับมาวางไว้ตรงจุดเดิม
จอมพลสฤษดิ์เสียชีวิตปลายปี 2506 ปัจจัยอันหนึ่งที่ทำไมจอมพลสฤษดิ์ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จสูงมาก เป็นปัจจัยที่เราไม่รู้คือ หลังรัฐประหารปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ต้องไปรักษาตัวเกือบ 1 ปีที่สหรัฐ เนื่องจากมีโรค และหมอบอกว่า จอมพลสฤษดิ์จะมีอายุอีกเพียง 5 ปีเท่านั้น ดังนั้น ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ความรุนแรงในแบบต่างๆ มันจึงเกิดขึ้นได้ เพราะผู้นำประเทศรู้ว่า จะมีชีวิตอีกเพียง 5 ปีเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นการกระทำที่ บางทีเราอธิบายเหตุผลไม่ได้ในยุคนั้น
หมุดกลับมาในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งมีการประนีประนอมมากขึ้น และอีกอย่างคือ ในยุคต้นของจอมพลถนอม สงครามเวียดนามยังไม่ระเบิดตัว จึงเห็นลู่ทางว่า รัฐบาลเผด็จการจะต้องทำการเลือกตั้งในอนาคตอันไม่ไกลมากนัก นั่นคือสถานการณ์ตอนนั้นที่หมุดสามารถกลับมาได้
หมุดก็อยู่เรื่อยมาจนกระทั่งวันนี้หมุดหายไปอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในความหมายอันสำคัญคือ หมุดอาจจะหายไปเฉยๆ หรือว่าถูกเก็บไว้หรือถูกทำลาย หรือโยนเข้าเตาเผาไฟไปเรียบร้อยหลอมละลายแล้วก็ได้
แต่ผมคิดว่า หมุดนี้อยู่มานาน อย่างต่อเนื่องถึงกว่า 50 ปี มันจึงเป็นหมุดที่สามารถประทับความรับรู้กับคนเป็นจำนวนมาก
ผมขอยกตัวอย่างความรับรู้ หากหมุดนี้ไม่มีความสำคัญ และหายไป หนังสือพิมพ์วันนี้เกือบทุกฉบับจะไม่ลงเรื่องหมุดนี้เลย ถ้ามันเป็นเรื่องเล็กๆ
นั่นหมายความว่า เรื่องราวที่กลายเป็นภาพข่าวหน้า 1 ตัวใหญ่ที่สุดของหนังสือพิมพ์ เช่นไทยรัฐ เป็นตัวชี้ว่า หมุดนี้ได้รับความสนใจทั้งประเทศ และอีกอันหนึ่ง ที่ผมอยากชี้ก็คือ เมื่อมีการรับรู้ว่าหมุดหายไป เพียงแค่ในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง ความรับรู้ก็แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งกระบวนการนี้เองทำให้เกิดการตั้งคำถามมากมาย โลกที่เปลี่ยนแปลงไป โลกโซเชียลมีเดีย ทำให้เราเห็นความหมายอันสำคัญตลอด 50 ปีที่ผ่านมาของหมุดคณะราษฎรและการปฏิวัติ 2475
เมื่อครั้งจอมพลสฤษดิ์ได้ขึ้นสู่อำนาจ และในปี 2503 จอมพลสฤษดิ์ได้ยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน ซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นโดยคณะราษฎรในปี 2482 เมื่อย้อนกลับไปในปี 2482 จะมีวันที่สำคัญมาก 2 วัน คือ 24 มิถุนา เป็นวันชาติที่มีวันหยุด 3 วัน อีกวันก็คือวันที่ 10 ธันวา ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญ มีวันหยุด 3 วันเช่นกัน
วันสำคัญในรอบปีที่คณะราษฎรให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นการสร้างชาติ ก็คือ การปฏิวัติ 2475 กับการใช้รัฐธรรมนูญ 10 ธันวา เราลองคิดถึงการมีวันหยุด 3 วัน มันเหมือนงานสงกรานต์ปัจจุบัน มันจะกลายเป็นงานรื่นเริง โดยเฉพาะวันที่ 8-10 ธันวา คือวันหยุดที่เป็นทางการ ลานแห่งนี้ จึงกลายเป็นลานออกร้านหน้าหนาว เพื่อฉลองวันรัฐธรรมนูญ จะมีความรื่นเริงมาก
แต่หลังการรัฐประหารปี 2490 มีการฟื้นฟูระบอบเก่า การรัฐประหารครั้งนั้น นำมาสู่การสร้างอำนาจทหาร การสร้างความเชื่อให้กลับไปคืนเหมือนก่อนหน้าปี 2475 เรื่องราวจึงค่อนข้างต่อสู้กันและมีการผลิตหนังสือสร้างเรื่องราวใหม่ๆ ว่าด้วยคณะราษฎรเป็นพวกไม่ดีอย่างโน้นอย่างนี้ ทำให้ประเทศชาติต้องล้มระเนระนาดกัน
คณะราษฎร ซึ่งถูกกำจัดไปแล้วตั้งแต่ปี 2490 จึงค่อยๆ หมดบทบาทไป จนกระทั่งเมื่อจอมพลสฤษดิ์รัฐประหาร และขับไล่จอมพล ป พิบูลสงครามซึ่งเป็นคณะราษฎรคนสุดท้ายออกจากอำนาจทางการเมือง หลังจากนั้น จอมพลสฤษดิ์ก็ทำให้วันชาติ 24 มิถุนา สูญสิ้นไป
วันชาติไทย มีกำเนิด ปี 2482 และมีมรณะปี 2503 และช่วงนี้เอง น่าจะเป็นช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ ได้สั่งให้มีการเอาหมุด 2475 ออกไป เพราะจอมพลสฤษดิ์ จะเน้นเรื่องการปกครองโดยไม่มีรัฐธรรมนูญ แต่หมุด 2475 กลายเป็นเหมือนเสี้ยนหนามตำเท้า แต่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ได้เก็บหมุดนี้ไว้ หลังสิ้นจอมพลสฤษดิ์ จึงเอาหมุดมาฝังไว้ ณตรงจุดเดิม ที่เคยเกิดขึ้นในปี 2479
-หมุดคณะราษฎรจะมีโอกาสกลับมาอีกครั้งไหม
คำถามอันแรกคือ หมุดยังอยู่หรือเปล่า หมุดถูกทำลายแล้วหรือยัง ถ้าถูกทำลายแล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป แต่หมุดเป็นหลักหมายที่มีภาพ มีเรื่องราววางไว้ในทุกอณู หมุดสามารถทำขึ้นมาใหม่ได้ในแบบของเดิม การที่หมุดจะกลับมาที่นี่ จะต้องมีพิธีกรรมที่สำคัญ เพราะหมุดนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตยที่ก่อสร้างกันมาในรอบ 85 ปี การหายของหมุดจึงกระตุ้นพลังจิตวิญญาณของความอยากได้ประชาธิปไตย การเลือกตั้งกลับมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากคนไม่ได้คุยกันมา 3 ปีแล้ว
-สถานที่บริเวณโดยรอบหมุดมีความหมายอย่างไร
ลานตรงนี้เราเรียกว่าลานพระบรมรูปทรงม้า หรือ ลานพระราชวังดุสิต นี่เป็นการสร้างเมืองใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมองออกไปจากลานพระบรมรูปทรงม้าจะเห็นถนนราชดำเนิน เป็นผลจากรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปในปี 2440 ก็คือ 120 ปีที่แล้ว เสด็จประพาสหลายประเทศ หลายเมืองหลวง และสิ่งที่เห็นก็คือแต่ละเมืองใหญ่ จะต้องมีถนนสายสำคัญเส้นใหญ่ของเมือง
รัชกาลที่ 5 จึงนำต้นแบบการสร้างถนนจากยุโรปมาสร้าง โดยการเชื่อมระหว่างถนนตรงที่เป็นหัวมุมของพระราชวังหลวง ผ่านสนามหลวง แล้วมาถนนราชดำเนินกลาง และมาสู่ถนนราชดำเนินนอก ช่วงระยะถนนเพียง 3 กิโลเมตร นี่ก็คือการสร้างพระราชวังใหม่นอกเมืองหลวง เมืองหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็คือ เมืองที่มีคลองผดุงกรุงเกษมคั่นอยู่ ที่ริมคลองก็คือทำเนียบรัฐบาล ถ้าข้ามคลองมาแล้วก็ถือว่าอยู่นอกกรุง
รัชกาลที่ 5 ขยายออกมาเพราะต้องการสร้างพระราชวังใหม่ ซึ่งอยู่ด้านเหนือของเมืองหลวงหรือกรุงเทพฯ เดิม ตามโลกตะวันตก ดังนั้น พระราชวังใหม่จึงกินพื้นที่เยอะมาก ในพระราชวัง มีวังต่างๆ และมีสวนสัตว์ดุสิตด้วย สวนสัตว์ดุสิต เป็นสวนสัตว์ที่อยู่ในพระราชวัง
รวมทั้ง เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ปี 2450 รัชกาลที่ 5 ก็ต้องการสร้างวังอีกแห่ง คือ พระที่นั่งอนันตสมาคม โปรเจ็คนี้ เป็นโปรเจ็คที่ใหญ่มาก เพราะว่ารัฐบาลกรุงเทพฯ ในขณะนั้น ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า Government House แต่เพื่อปรับตัวเองให้เป็น modern ตามโลกตะวันตก กลายเป็นการบริหารแบบโลกสมัยใหม่ จะต้องมี Government House หรือว่าทำเนียบรัฐบาล
พระที่นั่งอนันตสมาคมถูกสร้างขึ้นมา โดยเป็นหินอ่อนสั่งจากอิตาลีทั้งหมด และข้อสำคัญคือ อาคารหลังนี้เป็นอาคารที่ใช้คอนกรีตเสริมเหล็กแห่งแรก เมื่อใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก จึงทำให้อาคารแห่งนี้สูงใหญ่ได้ เป็นอาคารแบบยุโรปโดยไม่ต้องสร้างยอดชฎาแบบของไทยแท้แบบเดิม
พระที่นั่งอนันตสมาคม สร้างเสร็จกลางถึงปลายรัชกาลที่ 6 แต่ก็ไม่ได้ถูกใช้เลย ด้วยเหตุนี้ เมื่อพันเอกพระยาพหล อ่านประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 พันเอกพระยาพหล ก็นำคณะของตนเอง เข้าสู่ประตูของพระที่นั่งอนันตสมาคม แล้วก็ใช้ขวานจามประตูของพระที่นั่ง เพราะยามไม่ยอมให้กุญแจ นั่นคือความรุนแรงที่สุดของการปฏิวัติ 2475 ในบริเวณตรงนี้
วันที่ 28 มิถุนายน 2475 พระที่นั่งก็ถูกแปลงสภาพให้เป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ประชุมครั้งแรกที่พระที่นั่งอนันตสมาคมนั่นคือ Parliament แห่งแรกของไทย ซึ่งต่อมามีเลือกตั้งครั้งแรกปี 2476 ความทรงจำของคนรุ่นก่อนก็คือ พื้นที่ตรงนี้เหมือนเป็นพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ public ขนาดใหญ่ เรามีพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพราะประชาธิปไตยต้องมาจากการเลือกตั้ง นั่นคือ ที่ที่ ส.ส. จากจังหวัดต่างๆ ถูกเลือกเข้ามา ให้เป็นรัฐบาลของประชาชน
ในตอนนั้น วังปารุสกวัน คือ ทำเนียบรัฐบาล ที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลคนแรก หรือต่อมาก็คือนายกรัฐมนตรี จะทำงานที่นั่น ตั้งแต่ 28 มิถุนายน รวมถึงพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ทำงานที่นี่
จนกระทั่ง หลวงพิบูลสงครามขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงซื้อและย้ายทำเนียบไปอยู่ทำเนียบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
เมื่อเรามาที่ลานแห่งนี้ เราจึงเห็นจุดกำเนิดประชาธิปไตยไทย ณ หมุด 2475 เราเห็นที่ทำงานของผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นอำนาจอธิปไตยของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง นี่คืออาณาบริเวณโดยรอบ
และเราจะเห็นพระบรมรูปทรงม้า แสดงถึงการเข้าสู่โลกความเป็นตะวันตกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากประพาสยุโรป ครั้งแรกและครั้งที่ 2 ห่างกัน 10 ปี พระองค์ทรงเห็นกษัตริย์ยุโรป ทรงม้าหลายเมือง พระองค์มีพระราชประสงค์ว่า ให้มีพระบรมรูปของพระองค์ทรงม้า ไว้ที่ใจกลางสำคัญของเขตพระราชวังใหม่ของพระองค์ซึ่งอยู่ตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร พระบรมรูปจึงประดิษฐานอยู่ที่นี่
นี่เป็นความหมายอันสำคัญของหมุด 2475 และลานพระบรมรูปทรงม้า
-พลังในเชิงสัญลักษณ์ เมื่อถอดหมุดไป จะมีผลกับพลังประชาธิปไตยในประเทศหรือไม่
การถอดหมุด 2475 ไปเพียงภายในไม่กี่วัน แล้วทำให้เกิดเรื่องราว talk of the town การที่หมุดเล็กๆ หมุดหนึ่ง สามารถกลายเป็น talk of the town ได้ มันมีความหมายถึงพลังแฝงของมัน มีทั้งกลุ่มคนที่พยายามจะบอกว่า มันเป็นเพียงหมุดที่ไม่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย เป็นเพียงโลหะอันหนึ่ง
แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่า หมุดนี้มีความสำคัญ เพราะนั่นคือหลักหมายของความจดจำ ทั้ง 2 ฝ่าย คงต้องอธิบายกันอีกนาน และข้อสำคัญก็คือ เรื่องนี้ สร้างผลกระทบต่อรัฐบาลปัจจุบัน และกลายเป็นผลกระทบต่อประเทศไทยในมุมมองของโลกใบนี้ เพราะการที่สามารถขุดหมุดขุดถนนกลางกรุงเทพฯ ได้โดยไม่สามารถตอบได้ว่าใครทำ ทั้งที่ทำเนียบรัฐบาลตั้งอยู่ตรงนี้ ห่างจากหมุดไปไม่ไกล กองทัพภาคที่ 1 หน่วยตำรวจแถวนี้ จะไม่ทราบเลยหรือว่าหมุดนี้ใครเป็นคนขุดไป และโดยรอบมีการติดตั้งกล้อง CCTV เต็มไปหมด เราจะไม่รู้เลยหรือว่าใครขุดหมุดคณะราษฎรไป
นอกจากนั้นเรื่องราวของหมุด ก็จะกลายเป็นประเด็นข่าวระดับโลกว่าประเทศไทยสามารถทำลายอดีต ทำลายประวัติศาสตร์ของตนเองได้ ภายใต้รัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหาร ซึ่งทั่วโลกคงตกใจ เพราะห���กเกิดสิ่งเหล่านี้ได้ เรื่องอื่นๆ ก็เกิดขึ้นได้หมด นี่ก็คือความหมายอันสำคัญของการถอดหมุด
ส่วนจะสามารถทำลายพลังของประชาธิปไตยหรือไม่นั้น การถอดหมุดกลับช่วยกระตุ้นให้เกิดการอยากรู้เกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎรเพิ่มขึ้น ผมคิดว่าแทนที่หมุดใหม่จะทำลายพลังของประชาธิปไตยไป หมุดนี้กลับกลายเป็นเครื่องหมายกระตุ้น เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เรามายังหมุดนี้ เราเห็นหมุดนี้ เราก็ต้องตั้งคำถามว่า หมุดนี้ใครเอามา แล้วทำไมต้องโยนหมุดของคณะราษฎรออกไป
แค่เริ่มต้นคำถาม หมุดนี้ก็กลายเป็นหมุดแห่งปัญหา หมุดนี้กลับกลายเป็นหมุดของการกระตุ้นเตือนให้เกิดพลังประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะพลังประชาธิปไตยมาจากการตั้งคำถาม ไม่ใช่เกิดจากความเงียบ เมื่อไหร่ก็ตามที่ประชาชนอยู่ภายใต้ความเงียบโดยไม่มีคำถาม นั่นไม่ใช่พลังแน่ๆ แต่เมื่อไหร่หมุดนี้ก่อให้เกิดคำถามตลอดเวลา ว่าทำไมต้องทำให้เกิดขึ้น แค่หมุดเล็กๆ แค่นี้ชิงอะไรกันมากมายนัก
ผมคิดว่าคำตอบนี้ไม่ง่ายเลย นี่คือพลังด้านกลับที่หมุดอันใหม่ลืมคำนึงถึง และเมื่อมายืนอยู่ตรงนี้ เรื่องราวก็ย้อนกลับไปอีกว่า นี่คือจุดที่พระยาพหลพลพยุหเสนา ยืนประกาศเพื่อเปลี่ยนระบอบทางการเมือง มันก็เลยกระตุ้นคำถามกลับไปอีกว่าพระยาพหลคือใคร บุคคลที่หายสาบสูญไปแล้ว นายกรัฐมนตรีที่ไม่มีใครจำ กลับมายืนอยู่ต่อหน้าเราเหมือนปีศาจตนหนึ่งที่มาทวงถามประชาธิปไตยให้กับประชาชน