ไม่พบผลการค้นหา
แอนโทนี เดวิส นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงชี้แถลงการณ์ล่าสุดจากบีอาร์เอ็น ส่งสัญญาณทั้งทางบวก และไม่พอใจต่อกระบวนการรวมถึงคนกลางอย่างมาเลเซียในการทำหน้าที่ที่ผ่านมา 

แอนโทนี เดวิส นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงชี้แถลงการณ์ล่าสุดจากบีอาร์เอ็น ส่งสัญญาณทั้งทางบวก และไม่พอใจต่อกระบวนการรวมถึงคนกลางอย่างมาเลเซียในการทำหน้าที่ที่ผ่านมา 


นักวิเคราะห์ความมั่นคง แอนโทนี เดวิสรายงานว่าแถลงการณ์ล่าสุดของกลุ่มบีอาร์เอ็นทำให้กระบวนการสันติภาพใต้ในขณะนี้ไม่มีทางไป  ว่า “ตัวแทน” บีอาร์เอ็นระบุไม่มีคนของตนในกลุ่มมารา ปาตานี หากจะเจรจากันจริงต้องให้ตัวแทนระหว่างประเทศมีส่วนทั้งสังเกตการณ์หรือเป็นผู้ไกล่เกลี่ย แต่ประชดมาเลเซียทำเกินหน้าที่

เดวิสรายงานเรื่องนี้ลงในเว็บไซท์เอเชียไทมส์ซึ่งพาดหัวข่าวชิ้นนี้ว่า Thailand peace process dead on arrival รายงานบอกว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นประกาศในแถลงการณ์ที่ออกในวันนี้คือ 10 เมษายนว่าการพูดคุยสันติภาพภาคใต้ไร้ความหมาย การเจรจาไกล่เกลี่ยผ่านคนกลางระหว่างประเทศเป็นทางออกเดียวเท่านั้น 

รายงานอ้างคนเผยแพร่แถลงการณ์ที่ติดต่อเอเชียไทมส์ว่า แถลงการณ์ของกลุ่มออกมาจาก “เมืองหลวงของยุโรป” เมืองหนึ่ง 

ในรายงาน บีอาร์เอ็นบอกว่าเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การมีกระบวนการสันติภาพจะต้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร��วมอย่างเต็มใจ และต้องให้มีฝ่ายที่สามที่มาจากประชาคมระหว่างประเทศมีส่วนร่วมในฐานะพยานและผู้สังเกตการณ์ กระบวนการดังกล่าวต้องมี “ผู้ไกล่เกลี่ย” หรือ mediator ที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ประเด็นที่สามที่สำคัญระบุว่า การเจรจาต่อรองต้องให้สองฝ่ายที่เจรจากันเป็นคนกำหนดและตกลงกันให้ได้ก่อนที่จะเริ่มการเจรจา หากจำเป็นก็ด้วยการช่วยเหลือของผู้ไกล่เกลี่ย

เดวิสอ้างว่าบีอาร์เอ็นเคยพูดถึงเงื่อนไขนี้มาก่อนแล้ว เช่นในการให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2015 ที่ตัวแทนบีอาร์เอ็นสี่คนจากแผนกข้อมูลสื่อสารของกลุ่มบอกว่ากลุ่มยินดีที่จะเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ หากมีตัวแทนต่างประเทศเข้าร่วมในเงื่อนไขที่เป็นไปตามมาตรฐานและแบบแผนสากล แต่ข้อเสนอนี้รัฐบาลไทยปฏิเสธมาโดยตลอด เพราะถือว่าปัญหานี้เป็นปัญหาภายใน หลังรัฐประหาร รัฐบาล คสช.ก็พยายามระดมโครงการพัฒนาในพื้นที่ด้วยความหวังว่าจะซื้อใจคนในสามจังหวัดภาคใต้ไม่ให้สนับสนุนการต่อต้านรัฐบาลเช่นนี้อีกต่อไป 

แอนโทนี เดวิส รายงานอ้างเจ้าหน้าที่ไทยบอกว่า นโยบายของรัฐบาลไม่ได้เปลี่ยน แต่ก็ตั้งข้อสังเกตว่าถ้อยคำที่ใช้ในแถลงการณ์นั้น “เป็นบวก” สะท้อนแนวทางที่มีลักษณะเป็นแนวการทูตและมีความละเอียดสุขุมชนิดที่หากมีการเจรจาเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี 

แต่ขณะเดียวกันรายงานชิ้นนี้บอกว่า แถลงการณ์นี้สะท้อนความไม่พอใจต่อกระบวนการพูดคุยในปัจจุบันระหว่างรัฐบาลและกลุ่มมารา ปาตานีด้วย แถลงการณ์เอ่ยอ้างถึงมาเลเซียด้วยคำพูดที่ดูจะติเตียนกลายๆ ด้วยข้อความส่วนหนึ่งที่ระบุว่า กระบวนการสันติภาพใหม่ไม่ควรจะให้ฝ่ายใดก็ตามที่ไม่ใช่ผู้มีส่วนในการเจรจาต่อรองโดยตรงมาเป็นคนกำหนด ซึ่งเดวิสบอกว่า ถ้อยคำตรงนี้สะท้อนความอึดอัดของพวกเขาต่อการแสดงบทบาท “ผู้อำนวยความสะดวก” ในการพูดคุยของมาเลเซียที่เห็นว่าทำเกินหน้าที่ 

แอนโทนี เดวิสรายงานอีกว่า โฆษกของฝ่ายข้อมูลข่าวสารของบีอาร์เอ็น อับดุลการิม คาลิดตอบคำถามทางอีเมลจากเอเชียไทมส์โดยย้ำว่า บีอาร์เอ็นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆในกลุ่มมารา ปาตานี กลุ่มบุคคลที่เข้าร่วมในมารา ปาตานีและเรียกตัวเองว่าเป็นตัวแทนของบีอาร์เอ็นเป็นผู้ดำเนินการต่างๆ ด้วยตัวเอง

“บีอาร์เอ็นไม่เคยมอบอำนาจให้ใครหรือกลุ่มไหนในการส่งตัวแทนไปร่วมกับกระบวนการที่กำลังเดินหน้าอยู่ในเวลานี้ระหว่างมารา ปาตานีกับรัฐบาลไทย” 

คาลิดกล่าวกับเอเชียไทมส์ด้วยว่า ไทยและมารา ปาตานีใช้กระบวนการในปัจจุบันไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง “บีอาร์เอ็นเชื่อว่าไม่ควรจะใช้กระบวนการสันติภาพเป็นเครื่องมือในการต่อรองใดๆ” และว่า วิธีการดังกล่าวเป็นการใช้ชีวิต เลือดเนื้อและความเจ็บปวดของผู้คนเป็นเครื่องต่อรอง

แอนโทนี เดวิสบอกว่า แถลงการณ์ของบีอาร์เอ็นไม่น่าจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆในระยะสั้นกับกระบวนการสันติภาพที่รัฐบาลไทยและมาเลเซียต่างสนับสนุน แต่กระนั้นก็ดี แถลงการณ์ที่ออกมาจากกลุ่มที่กำลังโผล่ตัวเองมาจากสภาพปิดลับดูจะส่งสัญญาณสำคัญประการหนึ่ง นั่นคือความพยายามของรัฐบาลไทยและกลุ่มมารา ปาตานีในการผลักดันให้เกิดเขตพื้นที่ปลอดภัยในสามจังหวัดภาคใต้น่าจะทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นแทนที่จะน้อยลง

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog