ไม่พบผลการค้นหา
สื่อต่างชาติให้ความสนใจแคมเปญของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่โปรโมทวีซ่าสำหรับเศรษฐี หวังดึงเงินจากต่างประเทศและโปรโมทไทยในฐานะแหล่งท่องเที่ยวแบบไฮ-เอนด์ จ่ายค่าธรรมเนียม 2 ล้านบาท ได้ใช้ชีวิตอย่างหรูหรา มีคนรับใช้ส่วนตัว พร้อมอภิสิทธิ์เพียบจากรัฐบาล

สื่อต่างชาติให้ความสนใจแคมเปญของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่โปรโมทวีซ่าสำหรับเศรษฐี หวังดึงเงินจากต่างประเทศและโปรโมทไทยในฐานะแหล่งท่องเที่ยวแบบไฮ-เอนด์ จ่ายค่าธรรมเนียม 2 ล้านบาท ได้ใช้ชีวิตอย่างหรูหรา มีคนรับใช้ส่วนตัว พร้อมอภิสิทธิ์เพียบจากรัฐบาล

หนังสือพิมพ์ ดิ อินดิเพนเดนท์ของอังกฤษ เปิดประเด็นที่รัฐบาลไทยโปรโมทวีซาผู้พำนักอาศัย ภายใต้แคมเปญ Thailand Elite สำหรับชาวต่างชาติที่ร่ำรวย ดำเนินงานโดย บริษัท Thailand Privilege Card บริษัทลูกของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มมาตั้งแต่ยุคของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และถูกโจมตีอย่างมากว่าเป็นโครงการที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมถึงเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มธุรกิจรายใหญ่เพียงไม่กี่กลุ่ม และอาจทำให้นักธุรกิจผิดกฎหมายใช้ไทยเป็นแหล่งฟอกเงินได้สะดวกขึ้น เนื่องจากเข้าออกประเทศได้ง่ายกว่าปกติและได้รับอภิสิทธิ์มากมายจากรัฐ
 
จ่ายเท่าไหร่?

ผู้ที่จะถือวีซาประเภทนี้ได้ ต้อง

- เสียค่าธรรมเนียม 60,000 ดอลลาร์ หรือ 2 ล้านบาท สำหรับการพำนัก 20 ปี

- จ่ายครึ่งราคา 1 ล้านบาท หากอยู่ 10 ปี

- เสียค่าสมาชิก Thailand Elite ปีละ 600 ดอลลาร์ หรือ 20,000 บาท

- หากต้องการอยู่ระยะสั้นเพียง 5 ปี จ่ายค่าวีซาเพียง 520,000 บาท โดยไม่ต้องมีค่าธรรมเนียม

- และหากสมัครทั้งครอบครัว ก็จะได้ส่วนลดพิเศษด้วย

 

ได้อะไร?

ค่าวีซาแสนแพงนี้ จะทำให้ผู้ถือวีซาได้รับบริการจากภาครัฐแบบวีไอพี ทั้งการผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองแบบ fast-track รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการทำใบขับขี่ และขอใบอนุญาตทำงาน นอกจากนี้ยังจะได้รับบริการคนรับใช้ส่วนตัวโดยรัฐบาลจัดหาให้ และมีบริการลิมูซีนพิเศษรับส่งที่สนามบินฟรี ตรวจสุขภาพฟรีปีละครั้งในโรงพยาบาลเอกชน และยังสามารถรับบริการสปาและใช้สนามกอล์ฟของบริษัทภาคี Thailand Elite ได้อีกปีละ 24 ครั้ง ด้วย

นายพฤทธิ์ บุปผาคำ ประธานโครงการ Thailand Elite ระบุว่าโครงการนี้พุ่งเป้าไปที่คนเกษียณอายุที่ต้องการใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างสะดวกสบาย คาดว่าปีนี้จะมีผู้สมัคร Thailand Elite กว่า 1,000 คน ดึงเงินเข้าประเทศได้จำนวนมากจากการใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้ ขณะที่ Henley & Partners บริษัทที่ปรึกษาด้านการขอสถานะผู้พำนักในต่างแดน ก็มองว่าปัจจุบันมีผู้ต้องการสัญชาติหรือสถานะผู้พำนักในประเทศที่สองหรือที่สามเพิ่มขึ้น ทั้งเพื่อสอดรับเทรนด์โลกาภิวัตน์ และขยายโอกาสทางธุรกิจในต่างแดน จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลในหลายประเทศจะใช้โอกาสนี้ในการเพิ่มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ดึงเงินจากเศรษฐีต่างชาติเข้าประเทศ

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog