ไม่พบผลการค้นหา
"หยง" เป็นนายหน้าในวงการค้าข้าว เป็นคนรวมข้าวจากโรงสี เพื่อขายให้ผู้ส่งออก วันนี้รัฐบาลเป็น "หยง" รายใหญ่ มีข้าวในมือมากที่สุด อยู่ที่ว่าจะขายให้ได้กำไรมากๆได้อย่างไร

"หยง" เป็นนายหน้าในวงการค้าข้าว เป็นคนรวมข้าวจากโรงสี เพื่อขายให้ผู้ส่งออก วันนี้รัฐบาลเป็น "หยง" รายใหญ่ มีข้าวในมือมากที่สุด อยู่ที่ว่าจะขายให้ได้กำไรมากๆได้อย่างไร

 

เมืองไทยเป็นอู่ข้าว อู่น้ำของโลก เป็นเมืองแชมป์ แห่งการปลูกข้าว ถึงวันนี้ ก็ยังยืนยันว่า เป็นแชมป์แห่งการปลูกข้าว (คิดทั้งในแง่คุณภาพของข้าว และปริมาณ) เพราะข้าวส่วนใหญ่ในเมืองไทย เป็นสายพันธุ์ข้าวดี หรือชาวนาเรียกกันว่า ข้าวหนัก ไม่ใช่ ข้าวเบา เหมือนประเทศเพื่อนบ้านปลูกกัน

 

ข้าวหนักที่ว่า สังเกตง่ายๆจากต้นข้าวจะสูง รวงข้าวจะยาว ใหญ่ เมล็ดข้าวเต็มยาวขาวสวย เวลาสุกเหลืองอร่าม จะหนักจนทำให้ข้าวล้ม ส่วนข้าวเบา ต้นสั้น รวงไม่ยาว เมล็ดข้าวยังสั้นเล็ก หุงแล้วไม่อร่อย

 

แต่ละปีชาวนาไทยสามารถผลิตข้าวเปลือก ได้ประมาณปีละ 22ล้านตัน เมื่อนำมาสีเป็นข้าวสารแล้ว จะเหลือประมาณ 10-11ล้านตัน ในจำนวนนี้บริโภคภายในประเทศประมาณ 5-6ล้านตัน และส่งออกประมาณ 5-6ล้านตัน

 

 

รม.พาณิชย์ มั่นใจไทยไม่เสียแชมป์ข้าว
ที่มา:www.voicetv.co.th

เมื่อข้าวเปลือกผ่านการสีและบรรจุลงกระสอบแล้ว ข้าวสารจะถูกขนส่งมายังกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าข้าวของประเทศ ก่อนจะเดินทางต่อไปยังผู้บริโภคภายในประเทศ หรือส่งออกนอกประเทศ โดยอาจจะเป็นการซื้อขายโดยตรงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย หรือมีนายหน้าหรือ "หยง" เป็นตัวกลางซื้อขายข้าวระหว่างโรงสีกับผู้ส่งออกหรือพ่อค้าขายส่งภายในประเทศ

จะว่าไป "หยง" ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของโรงสีในการขายข้าวสารให้แก่ผู้ส่งออกหรือพ่อค้าขายส่งภายในประเทศ โดยพ่อค้ามักใช้หยงเป็นคนรวบรวมข้าวสารชนิดต่าง ๆ ตามความต้องการของตน

 

การทำงานของ "หยง" จะจัดหาข้าวสารจากโรงสีให้พ่อค้าขายส่ง หยงมีรายได้จากการซื้อขายข้าวในอัตราร้อยละ 0.6ของมูลค่าข้าว อย่างไรก็ตาม งานของหยงไม่ได้จบเพียงแค่การตกลงซื้อขายเท่านั้น คนที่เป็น "หยง"จะต้องดูแลให้มีการขนส่งข้าวจากโรงสีไปยังโกดังของพ่อค้าขายส่งในประเทศ หรือโกดังของพ่อค้าส่งออกให้ได้ครบถ้วนตามจำนวนน้ำหนักที่ตกลงกันและเป็นข้าวที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ไม่มีการปลอมปน

 

จากนั้น ข้าวสารที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้วจะถูกเทรวมลงไปในไซโลยักษ์ ส่งไปตามสายพานเพื่อทำความสะอาด คัดแยกชนิดของข้าว ส่งมาขัดขาวให้ขาวขึ้นอีกเพื่อปรับปรุงให้ได้มาตรฐานเดียวกันตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ ข้าวบางชนิดจะถูกส่งไปขัดมันเป็นพิเศษเพื่อให้เมล็ดข้าววาวขึ้นตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ ก่อนจะถูกส่งมาเก็บไว้ในไซโลใหญ่รอขนถ่ายลงเรือต่อไป

 


การขนข้าวขึ้นเรือเพื่อส่งออก
ที่มา:AFP

ส่วนการส่งข้าวไปขายต่างประเทศนั้น ส่วนใหญ่จะผ่านบริษัทนายหน้าในต่างประเทศ หรือขายผ่านบริษัทค้าข้าวระหว่างประเทศ พบว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจ คือ บริษัทนายหน้าค้าข้าวเหล่านี้อยู่ในประเทศที่ไม่ได้ปลูกข้าวเอง โดยมากจะเป็นบริษัทในทวีปยุโรป ซึ่งเคยเป็นเจ้าอาณานิคมประเทศในทวีปแอฟริกา และเอเซียมาก่อน อาทิ บริษัทของอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งมีประสบการณ์และรู้ความต้องการของตลาดข้าวในประเทศเหล่านี้ มีความชำนาญในการค้าข้าวมาเป็นเวลายาวนาน ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมจนถึงปัจจุบัน มีลูกค้าทั่วโลกตั้งแต่ประเทศบราซิลในอเมริกาใต้ ประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกาไปจนถึงประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเซีย บริษัทค้าข้าวจะมีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับข้าวทั่วโลกอย่างละเอียด จนอาจเรียกได้ว่าเป็นผู้กำหนดราคาข้าวในตลาดโลก ซึ่งส่งผลต่อการกำหนดราคารับซื้อข้าวเปลือกของชาวนาไทย

 

มีผู้สำรวจจำนวนหยงอยู่ในธุรกิจค้าข้าวประมาณ 90-100 ราย ส่วนใหญ่จะตั้งสำนักงานอยู่ที่ถนนทรงวาด โดยเปรียบเทียบกับเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนมีประมาณ 10 รายเท่านั้น ประมาณกันว่าข้าวประมาณ 66% จะซื้อขายผ่านหยง หยงจะมีความชำนาญต่างกันเช่นหยงที่มีความชำนาญติดต่อกับโรงสีภาคเหนือ หรือหยงที่มีความชำนาญเรื่องข้าวหอมมะลิเป็นต้น หยงยังจะมีความจำเป็นต่อระบบการขายส่งข้าวสาร เพราะข้าวมีหลากหลายชนิดมากถ้าโรงสีเป็นผู้ขายเองจะทำให้ต้นทุนสูงมากกว่า ขายผ่านหยง

 

ทีนี้ "หยง" ก็จะทำหน้าที่ในการช่วยให้กระแสเงินสดของดรงสีไหลเวียนได้แล้วขึ้น โดย หากโรงสีอยากขายข้าวด่วน หยง ก็อาจจะต้องควักเงินสดซื้อล่วงหน้าเอาไว้ก่อน เร็วสุดประมาณ 10 วัน แต่กรณีนี้ หยง ก็จะคิดค่านายหน้าเพิ่มมากขึ้น ถึงร้อยละ 1.50 จากปกติคิดค่านายหน้าร้อยละ 0.6 -0.75  บางครั้งโรงสีที่ร้อนเงินก็ต้องยอม แต่โดยปกติ หยง กับโรงสี จะมีเครดิตต่อกัน อาจจะ 3 เดือน หรือ 2 เดือนแล้วแต่ตกลง หรือบางส่วนอาจมัดจำไว้ก่อน 30% แต่เมื่อหยงขายข้าวให้ผู้ส่งออก แล้วได้เงินเร็วก่อนกำหนดต้องจ่ายให้โรงสี หยง ก็สามารถหมุนเงินนั้นได้อีกหลายรอบเช่นกัน

 

"ปกติ โรงสีจะขายข้าวผ่านหยง เมื่อตกลงซื้อขายโรงสีส่งมอบข้าวให้กับผู้ส่งออกแล้ว จะได้รับเงินจากผู้ส่งออกต้องใช้เวลา 1-3 เดือน ค่านายหน้าที่จ่ายให้กับหยงร้อยละ 0.75 แต่วันนี้โรงสีรอรับเงินนานเป็นเดือนไม่ได้ เพราะต้องรีบนำเงินมาเป็นทุนหมุนเวียน จึงยอมจ่ายค่านายหน้าเพิ่มขึ้น แม้จะจ่ายค่านายหน้าเพิ่มขึ้นแต่ไม่มีผลต่อการรับซื้อข้าวจากชาวนา กล่าวคือยังรับซื้อตามกลไกตลาด การยอมจ่ายค่านายหน้าเพิ่มเพราะต้องการเงินทุนมาหมุนเวียนให้เร็วขึ้นเท่านั้น" เป็นคำอธิบายในเรื่องการขายข้าวผ่านหยง จากเจ้าของโรงสีรายหนึ่ง


ด้านข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ ระบุถึงบริษัทกลุ่มผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ ยังคงเป็นกลุ่มเดิมแทบทั้งสิ้น ประกอบด้วย บริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด , บริษัท เอเชียโกลเด้นไรซ์ จำกัด , บริษัท พงษ์ลาภ จำกัด , บริษัท ข้าวไชยพร จำกัด , บริษัท ซีพี อินเตอร์เทรด จำกัด นี่คือ 5 เสือแห่งวงการค้าข้าว

 

แต่ตอนนี้ในโครงการรับจำนำข้าว ปรากฏว่า รัฐบาลมีข้าวเปลือกในมือกว่า 12 ล้านตัน จะว่าไป นี่ก็คือ "หยง" รายใหญ่ที่สุด ที่มีข้าวอยู่ในมือ ขณะเดียวกันก็พบว่า การกว้านซื้อข้าวเพื่อเตรียมส่งออก เริ่มลำบากกันมากขึ้น เพราะราคาจำนำข้าว ดีกว่าราคาขายให้โรงสี ชาวนาจึงเอาไปจำนำเป็นจำนวนมาก

 


น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในชุดชาวนา
ที่มา:AFP

แต่ก็ยังมีชาวนาบางส่วน ยอมขายข้าวให้โรงสี เพราะว่ายังคงมีความผูกพันกัน อีกทั้งไม่ต้องยุ่งยากในเรื่องการขนส่งที่อาจต้องเดินทางไกลมากขึ้น หากต้องการเข้าร่วมโครงการรับจำนำ ในส่วนโรงสีก็จำเป็นต้องขยับราคารับซื้อเพิ่มเช่นกัน เพราะหากกดราคามาก ชาวนาก็อาจไม่ขายให้เลย จึงอาจได้เห็นรถบรรทุกข้าวของชาวนาต้องต่อคิวยาวในหลายพื้นที่เพื่อรอเข้าแถวขายข้าวแต่ถ้าต้องมากันเป็นข้ามคืนก็ไม่ดีต่อชาวนา เพราะความชื้นที่เพิ่มขึ้นย่อมทำให้เงินที่ได้รับน้อยลงไปอีก

 

 

ทีนี้ ก็ต้องดูว่า รัฐบาลจะเล่นบท "หยง" ได้อึดแค่ไหน เพราะเมื่อเวียดนามขายข้าวหมดแล้ว อินเดีย กับจีน ลำพังผลิตในประเทศยังจะไม่พอกิน แล้วจะเหลือประเทศไหนอีกล่ะ ที่มีข้าวอยู่ในมือมากที่สุด

 

แล้วในเมื่อมีการเปิดออร์เดอร์ส่งข้าวสัญญาข้ามเป็นปี หลายปี ของบริษัทค้าข้าวใหญ่ๆ เมื่อถึงเวลาจะส่งมอบ แล้วไม่มีข้าว ถามหน่อยว่า แล้วจะไปซื้อข้าวจากไหน ถ้าไม่ใช่จากรัฐบาล ซึ่งถ้าไม่ขายขาดทุนก็ต้องเจอราคา 15,000 บาท บวกค่าบริหารจัดการเข้าไป ก็ต้องดูว่า "หยง" (รัฐบาล) จะเคาะราคาเท่าไร ยังไม่นับการขายแบบจีทูจีอีกส่วนหนึ่ง

 

ส่วน ค่านายหน้า ที่หยงจะได้...จะเข้าไปตรงไหน อันนี้ต้องติดตาม

 

แต่การจะบรรลุตามเป้าหมายครั้งนี้หรือไม่ รัฐบาลต้อง "อึด" ให้พอจึงจะก้าวผ่านเส้นยาแดงนี้ไปได้

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog