ไม่พบผลการค้นหา
ปัจจุบันคนทั่วไปมักให้ความสำคัญดูแลผิวพรรณและเน้นความขาว สารปรอทจึงเป็นส่วนประกอบที่นิยมลักลอบใช้ในครีม

ปัจจุบันคนทั่วไปมักให้ความสำคัญดูแลผิวพรรณและเน้นความขาว  สารปรอทจึงเป็นส่วนประกอบที่นิยมลักลอบใช้ในครีม เนื่องจากทำให้สีผิวจางลง และจากการศึกษาของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับมูลนิธิบูรณะนิเวศ ตรวจสอบครีมหน้าขาว 47 ชนิด พบว่า 10 ชนิดมีปริมาณสารปรอทมากถึงเกือบ 1 หมื่นพีพีเอ็ม

 
 
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้ศึกษาการปนเปื้อนของสารปรอทในครีมหน้าขาวทั้งหมด 47 ชนิดพบว่ามีครีมหน้าขาว 10 ชนิด ที่มีสารปรอทปนเปื้อนสูงมาก และมีข้อมูลบนฉลากไม่ครบถ้วน ซึ่งไม่มีการระบุเลขที่ใบรับแจ้ง ซึ่งเลขที่ใบรับแจ้งนี้ จะเป็นตัวเลขที่ผู้บริโภคสามารถนำตัวเลขไปใส่ในเว็บไซด์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และจะสามารถตรวจสอบแหล่งผลิตได้
 
 
ครีมหน้าขาว 10 ชนิดที่พบสารปรอทในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ อย. เคยตรวจพบสารปรอทมาแล้วและเคยประกาศให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เป็นเครื่องสำอางค์ที่ทำผิดกฎหมายและมีอันตราย แต่จากการสำรวจครั้งล่าสุดยังพบว่า ครีมหน้าขาวเหล่านี้ยังคงวางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป ได้แก่ ครีม FC น้ำนมข้าว ที่จังหวัด สุราษฎร์ธานี พบสารปรอทสูงถึง 99,070 ppm  ไวท์โรส ครีมรกแกะ ที่สงขลา พบสารปรอท 51,600 ppm  
 
 
นอกจากนี้ยังพบครีมหน้าขาวที่มีสารปรอทอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ปรากฏในรายการเครื่องสำอางค์อันตรายของ อย. ได้แก่ ครีมยี่ห้อไบโอคอลลาเจนที่ จังหวัดกาฬสินธุ์ พบสารปรอท 47,960 ppm 
 
 
ด้านนางสิรินนา เพชรรัตน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า  ปัจจุบันผลิตภัณฑ์จะออกมาตามความนิยมของผู้บริโภค และมีการปรับเปลี่ยน หมุนเวียนในรูปแบบอื่น เช่น มีชื่อที่คล้ายกัน รูปแบบที่หลากหลาย และหาซื้อได้ง่าย ซึ่งทำให้การทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังช้าเกินไป ทำให้ไม่สามารถตรวจจับได้ทัน
 
 
ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการศึกษาครั้งนี้ทำให้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและความไม่เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย แต่ในขณะนี้กฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านขั้นตอนของวุฒิสภาแล้ว จึงอยากให้รัฐบาลเร่งเดินหน้าผลักดันให้เป็นกฎหมายให้เร็วที่สุด เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค
 
 
โดยสารปรอทเป็นส่วนประกอบที่นิยมลักลอบใช้ในครีมหน้าขาว เพราะมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีในผิวหนัง แต่สารปรอทเป็นโลหะหนักมีพิษ หากสะสมในร่างกายหรือได้รับในปริมาณที่สูง จะทำลายระบบประสาทและการทำงานของสมอง 
 
 
ขณะที่กระทรวงสาธารณะสุขได้ประกาศให้สารปรอทเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอางค์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2532 และหากพบการผลิตหรือจำหน่ายเครื่องสำอางค์ไม่ปลอดภัย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog