ไม่พบผลการค้นหา
สหประชาติรายงานว่าแรงงานข้ามชาติบนเรือประมงของไทยยังคงถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง แม้ว่าไทยจะออกกฎหมายควบคุมเพื่อแก้ไขปัญหานี้ แต่ก็ยังไม่ดีพอ 

สหประชาติรายงานว่าแรงงานข้ามชาติบนเรือประมงของไทยยังคงถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง แม้ว่าไทยจะออกกฎหมายควบคุมเพื่อแก้ไขปัญหานี้ แต่ก็ยังไม่ดีพอ 

องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดของสหประชาชาติ ชี้ว่าประเทศไทยยังล้มเหลวในการปกป้องแรงงานข้ามชาติซึ่งทำงานบนเรือประมง จากการถูกล่วงละเมิดสิทธิ ซึ่งมีทั้งการทำร้ายร่างกาย การทรมาน อดอาหาร และถูกฆ่า แม้รัฐบาลไทยจะออกกฎหมายใหม่เพื่อคุ้มครองแรงงานข้ามชาติแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีการใช้แรงงานทาสที่ต้องทำงานนานกว่าวันละ 20 ชั่วโมง อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมประมงของไทย และอาจทำให้ไทยเสี่ยงต่อการถูกคว่ำบาตรส่งออกอาหารทะเล

ไอแอลโอจึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทย เร่งแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงของไทย ซึ่งสำนักข่าวเดอะ การ์เดียนของอังกฤษตั้งข้อสังเกตว่าการส่งสัญญาณของไอแอลโอเช่นนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก 

โดยเมื่อปี 2015 สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ หรือไอทีเอฟ และสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล หรือไอทียูซี ได้มอบหลักฐานเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายและบังคับใช้แรงงานบนเรือประมงไทยให้แก่ไอแอลโอ โดยยกกรณีที่ แรงงานข้ามชาติบนเรือประมงไทยถูกกักขังและบังคับให้ทำงานบนเรือประมงที่ออกหาปลาอย่างผิดกฎหมายในน่านน้ำอินโดนีเซีย ซึ่งแรงงานเหล่านี้ต้องจ่ายค่านายหน้าเป็นจำนวนมาก แต่ถูกทุบตีโดยไต้ก๋งเรือและล่ามโซ่ที่คอเพื่อป้องกันการหลบหนี

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่แรงงานข้ามชาติระบุว่า พวกเขาอยู่ในเหตุการณ์ที่ไต้ก๋งเรือใช้ปืนยิงแรงงานชาวกัมพูชาจนเสียชีวต และสังหารแรงงานไทยอีก 4 ราย จากนั้นก็โยนร่างของเหยื่อทั้งหมดลงทะเล รวมถึงกรณีที่แรงงานข้ามชาติเปิดเผยว่า พวกเขาถูกบังคับให้ทำงาน 20 ชั่วโมงต่อวันโดยไม่ได้รับค่าจ้าง และได้รับอาหารเพียงน้อยคิด อีกทั้งยังถูกไต้ก๋งเรือทำร้ายร่างกาย

โดยกรณีที่ไอทีเอฟและไอทียูซีระบุในรายงานยังสอดคล้องกับรายงานของรัฐบาลไทย ที่เดอะ การ์เดียนได้นำมาเผยแพร่เมื่อปี 2014 ซึ่งระบุว่า มีการทำร้ายร่างกายแรงงานบนเรือประมงไทย ที่ออกหาปลาอย่างผิดกฎหมายในเขตน่านน้ำของมาดากัสการ์ 

ขณะที่กลุ่มกรีนพีซเคยเผยแพร่บทสัมภาษณ์แรงงานบนเรือประมงไทย ซึ่งระบุว่า แรงงานเหล่านี้ต่างตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ถูกบังคับให้ทำงานอย่างหนักโดยมีเวลาพักผ่อนเพียงวันละ 4 ชั่วโมง และแรงงานบางคนยังถูกบังคับให้ทำงานบนเรือมานานกว่า 5 ปีแล้ว

แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก โดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 280,000 ล้านบาท แต่ไทยก็ถูกต่างชาติจับตามองเรื่องการใช้แรงงานทาส และการทำประมงอย่างผิดกฎหมาย โดยเมื่อปี 2014 กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้เปิดเผยรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ซึ่งไทยถูกลดอันดับไปอยู่ที่เทียร์ 3 หรือระดับต่ำสุด สะท้อนว่าไทยดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐฯ แต่ในปี 2016 ไทยถูกปรับอันดับเป็นเทียร์ 2 เฝ้าจับตา ส่วนเมื่อปี 2015 สหภาพยุโรปได้แจกใบเหลืองให้ไทย เพื่อกดดันให้รัฐบาลไทยเร่งแก้ปัญหานี้

แม้ว่ารัฐบาลไทยจะพยายามออกกฎหมายใหม่เพื่อแก้ไขเรื่องนี้ แต่ไอแอลโอก็มองว่ายังไม่ดีพอ เพราะกฎหมายยังคงมีช่องโหว่ และยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและทั่วถึง ทั้งในแง่ของการควบคุมนายหน้าจัดหาแรงงาน การดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทุจริต และการตรวจสอบเรือประมง

แม้สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนจะเปิดเผยว่า ทางการไทยได้ให้ความร่วมมือกับไอแอลโอในการสืบสวนและตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษชยชนที่เกิดขึ้น พร้อมยืนยันว่าไอแอลโอยอมรับความพยายามของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล และโดยภาพรวมแล้วไทยมีความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาเป็นอย่างมาก แต่นายจอห์นนี ฮันสัน ผู้อำนวยการไอทีเอฟสาขาการประมงกลับระบุว่า ยังมีสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องเร่งดำเนินการอีกมาก เพื่อแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงาน การค้ามนุษย์ การทำร้ายร่างกายและสภาพการทำงานที่เลวร้ายในอุตสาหกรรมประมง

ขณะที่นายทวีฟ เทรนด์ จากมูลนิธิความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่าขณะนี้รัฐบาลไทยยังคงขาดความต่อเนื่องในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา โดยแม้จะมีการตัดสินจำคุกเจ้าของแพปลาชื่อดังในจังหวัดตรังเป็นเวลาถึง 14 ปี แต่โดยภาพรวมสถานการณ์ยังเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เนื่องจากการคอรัปชันของเจ้าหน้าที่ และการรับสินบนจากเครือข่ายธุรกิจผิดกฎหมาย อีกทั้งการละเมิดสิทธิมนุษชนที่เกิดขึ้นบนเรือประมงก็เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ยาก

อานดี ฮอล นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเคยทำงานในไทย แต่เดินทางออกจากไทยไปแล้ว เพราะถูกฟ้องร้องเรื่องการเรียกร้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติในไทย กล่าวว่า ไทยมีปัญหาเรื้อรังเกี่ยวกับการใช้แรงงานข้ามชาติ ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่ในอุตสากรรมประมงเท่านั้น แต่ฟาร์มไก่ สวนยาง และโรงงานด้านสารเคมี ก็พบว่ามีการละเมิดสิทธิและเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติอย่างแพร่หลายเช่นกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานข้ามชาติมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย แต่พวกเขากลับถูกเอาเปรียบ และมีชีวิตที่ยากลำบากในไทย  รัฐบาลจึงควรใส่ใจในการดูแลกลุ่มแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ ว่าจะทำอย่างไรให้พวกเขามีตัวตนในสังคมไทย และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายมากกว่าที่เป็นอยู่

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog