ไม่พบผลการค้นหา
“อ่าน อ่านและอ่าน”เเนวคิด งานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 45 ที่สะท้อน แวดวงสังคมนักอ่าน ที่ราคาและเวลาเป็นตัวกำหนด

“อ่าน อ่านและอ่าน”เเนวคิด งานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 45 ที่สะท้อน แวดวงสังคมนักอ่าน ที่ราคาและเวลาเป็นตัวกำหนด

กลับมาอีกครั้งกับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 45  และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 15 ที่มีสำนักพิมพ์เข้าร่วมกว่า 430 แห่ง โดยมีทั้งสำนักพิมพ์ชั้นนำและสำนักพิมพ์อิสระ ซึ่งไม่ง่ายนักที่นักอ่านทั่วไปจะสามารถจำจองหนังสือของสำนักพิมพ์เหล่านี้ได้ นอกจากนี้ยังมีการเปิดบูธถึง 947 บูธ ที่เกี่ยวกับการอ่านและอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ บนพื้นที่ 21,000 ตารางเมตร  ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จัดโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

 

 

แต่ดูแล้วปีนี้กระแสของแวดวงนักอ่านไม่คึกคักเท่าที่ควร ด้วยอาจเพราะไม่มีหนังสือหรือนักเขียนเบอร์ใหญ่ออกผลงาน รวมทั้งปีนี้รางวัลซีไรต์ เป็นหมวดของ บทกวี ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็น ทางเฉพาะกลุ่ม ทำให้ปีนี้ความคึกคักของเหล่านักอ่านลดน้อยลงไปบ้าง แต่ความคึกคักนั้นกลับไปอยู่ที่ฝั่งผู้ผลิตเอง หรือสำนักพิมพ์ ที่มีการพูดคุยถึงการอยู่รอดของตัวเอง

เพราะกระแสที่ร้านหนังสือที่มี เครือข่ายสาขามากที่สุดในประเทศ ( ร้านซีเอ็ด)  ได้เริ่มดำเนินการเก็บค่าขนส่งกินเปล่า 1.4 % จากราคาปกหนังสือคูณด้วยจำนวนเล่มจัดส่ง ไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 ถือเป็นการดิ้นรนของวงจรธุรกิจสิ่งพิมพ์ในชั่วโมงที่ทุกคน GO ONLINE  ซึ่งมีการมองไปถึงสิ่งที่ต้องเผชิญในอนาคต เพราะการจะปรับขึ้นราคาของหนังสือ เป็นเรื่องย้อนแย้งในตัวของมัน ทั้งระบบ หนังสือแพง คนซื้อน้อย  คนซื้อน้อยสิ่งพิมพ์ตาย ราคาเป็นปัจจัยที่แปลกของหนังสือ หากเปรียบกับธุรกิจอื่นที่การขึ้นราคาไม่รู้สึกกระทบจิตใจ

เดิมที่โครงสร้างราคาหนังสือเดิม 100 % แบ่งเป็น
1. ค่าจัดจำหน่าย 40-45%
2. ค่าลิขสิทธิ์ผู้เขียน 10%
3. ค่าออกแบบ บรรณาธิการ พิสูจน์อักษร 5-10%
4. ค่าพิมพ์ 25%
5. ค่าดำเนินการ บริหารจัดการ (สำนักพิมพ์) 10-15%

ใน 100 ส่วน กำไรของสำนักพิมพ์มีเพียงแค่ 10 ส่วนเท่านั้น บางครั้งก็ไม่ถึงด้วยซ้ำ

ทั้งหมดจึงเห็นภาพว่า สำนักพิมพ์เองมีรายได้อันน้อยนิดเท่าเดิม กับสถานการณ์คนอ่านสิ่งพิมพ์ที่ลดน้อยลง และส่งผลให้สิ่งพิมพ์บางแห่งก็ต้องปิดตัว ขณะที่ในต่างประเทศราคาหนังสือสูงกว่าประเทศไทยอย่างมาก และยังคงมียอดขายสูงต่อเนื่อง ยกตัวอย่างหนังสือของฮารุกิ มูราคามิ นักเขียนและนักแปลร่วมสมัยชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่เพิ่งได้วางขายหนังสือเล่มใหม่ในชื่อ “Killing Commendatore”จำนวน 2 เล่ม ใน ราคาเล่มละ 1,944 เยน หรือเงินไทย 600 บาท รวม 2 เล่ม ก็ 1,200 บาท

เฉลี่ยในประเทศอื่น และกับนักเขียนทั่วๆไป ขายเล่มละ 400-500 บาท  ส่วนที่เมืองไทย ที่มีสำนักพิมพ์กํามะหยี่ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ หนังสือของฮารุกิ มูราคามิ ขายเฉลี่ยเล่มละ 200 - 300 บาท  ซึ่งเป็นราคาที่คนไทยก็ยังเห็นว่า มันเป็นราคาที่สูงสำหรับหนังสือ

ขออ้างอิง บทสรุป สำหรับผู้บริหารและสื่อมวลชน การศึกษาพฤติกรรมการอ่านและซื้อหนังสือของคนไทย สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ECON CHULA) ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) กุมภาพันธ์ 2558

พฤติกรรมการซื้อหนังสือของคนไทย หากพิจารณาการซื้อหนังสือพบว่า คนไทยที่อ่านหนังสือจะซื้อหนังสือเฉลี่ยปีละ 4 เล่ม โดยคนกลุ่มที่ ซื้อหนังสือมากที่สุดคือคนที่อายุน้อยกว่า 20 ปีซื้อเฉลี่ยปีละ 9 เล่ม รองลงมาคือคนที่อายุ 21-30 ปี ซื้อเฉลี่ยปี ละ 6 เล่ม และค่อยๆ ลดจำนวนลงในคนที่มีอายุมากขึ้น จนกระทั่งคนที่มีอายุมากกว่า 61 ปีขึ้นไปจะกลับมา ซื้อเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 4 เล่มต่อปี

จำนวนหนังสือโดยเฉลี่ยต่อครั้งที่ซื้อจากร้านหนังสือ พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.8 ซื้อ ไม่เกินครั้งละ 2 เล่ม มีค่าใช้จ่ายในการซื้อหนังสือโดยเฉลี่ยต่อครั้ง ส่วนใหญ่ร้อยละ 87.9 ไม่เกิน 500 บาท และมากกว่าครึ่งหรือร้อยละ 59.5 ใช้เวลาในการเลือกหนังสือไม่เกิน 30 นาที

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 45 ที่จะจัดต่อไปจนถึงวันที่ 9 เมษายน 2560  ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เวลา 10.00-21.00 น. ภายใต้แนวคิด “อ่าน อ่านและอ่าน” ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ. 2560 - 2564 โดยกระทรวงวัฒนธรรม ที่มีเป้าหมายให้คนทุกวัยในสังคมไทยมีวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็ง และภายในระยะเวลา 5 ปี ต้องผลักดันให้คนไทยใช้เวลากับการอ่านที่มีคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิม 3 เท่า ถ้ายังไม่มีทางออกกับปัญหาราคาหนังสือในระยะเวลาอันใกล้ เป้าหมายการอ่านที่มีคุณภาพคงเกิดขึ้นยาก

เพราะหนังสือที่มีคุณภาพเกิดจากทุกกระบวนมคุณภาพ “ผู้เขียน ผู้แปล สำนักพิมพ์”

เพราะ“อ่าน อ่านและอ่าน” อย่างเดียวไม่ตอบโจทย์กระตุ้นองค์ความรู้ ถ้าสิ่งที่อ่านไม่มีคุณภาพ เวลาที่เสียไปก็ไม่ได้อะไรกลับคืนมา จริงอยู่ คำพูดที่ว่า หนังสือไม่เคยทำร้ายใคร แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดหรอก ที่ไม่ทำร้าย การทำร้ายนั้น มองได้หลายมิติ การเสียเวลากับการอ่านที่ไร้ประโยชน์ “ทำร้ายเวลาแน่นอน”  หนังสือที่ไม่มีข้อมูลที่ถูกต้อง “ทำร้ายการรับรู้แน่นอน” ดังนั้นอย่าอ่านอย่างเดียวควรเลือกอ่านด้วย “หนังสือคืออาหารสมอง แต่ถ้าอาหารไม่มีคุณภาพ สมองก็จะไม่มีคุณภาพ ตามไปด้วย

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog