ไม่พบผลการค้นหา
กว่าที่เกาหลีจะมาถึงจุดนี้ ภาพจำที่เขาเห็นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว คนเกาหลีมีอัตราจำนวนผู้เสียชีวิตจากการ “หนาวตาย” “อดอยากแร้นแค้นจนตาย”

ชายเกาหลีวัย 50 ปี เล่าให้เราฟังว่า กว่าที่เกาหลีจะมาถึงจุดนี้ ภาพจำที่เขาเห็นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว คนเกาหลีมีอัตราจำนวนผู้เสียชีวิตจากการ “หนาวตาย” เยอะมาก รองลงมาคือ “อดอยากแร้นแค้นจนตาย” เพราะทั้งปีมี 4 ฤดูก็จริง แต่มีแค่ฤดูเดียวที่ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ได้ ดังนั้น พวกเขาจึงใช้ชีวิตยากลำบาก   

(เกาหลีใต้ ยุคก่อน)
 

ยุคถัดมาคือยุคของการสร้างประเทศ  ทุกครอบครัวต้องมีลูก คนเกาหลีนิยมมีลูกหลายคนไม่ต่างจากชาวจีน และอดีตของไทยที่มีครอบครัวใหญ่ค่ะ ซึ่งสถานการณ์การมีลูกเยอะๆ ในตอนนั้น ยังดำเนินมาถึงตอนนี้   

(เกาหลีใต้ ยุคสร้างประเทศ)
 

และปัจจุบันในยุคแห่งปี 2560 นี้ เกาหลีใต้กำลังเผชิญกับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เพราะเทรนด์การมีลูกเยอะค่อยๆ หมดไปจากสังคมแล้ว ตอนนี้ ทุกอย่างที่เกาหลีเป็น มักจะมีผู้นำความคิดมาจากสหรัฐฯ แนวคิดของการเป็นสังคมของการเป็นครอบครัวเล็ก จึงเกิดขึ้น   

ทำไมคนเกาหลีแต่งงานช้าลง บางคนเลือกอยู่เป็นโสด

(เกาหลีใต้ ยุคปัจจุบัน)
 

ยุคนี้คนเกาหลีแต่งงานช้าลงอย่างน่าตกใจ อายุ 30 กว่าค่อนไปทางปลายๆแล้วยังโสดกันได้  (ไม่ต่างจากในบ้านเรา  แต่สำหรับวัฒนธรรมเกาหลีถือว่าต่าง) บางคนถึงจะมีแฟนแล้ว และบางคนก็คบเผื่อเลือกหลายคน และตัวเลือกก็งานดีทั้งนั้น ก็ยังไม่แต่งงาน งานดี คือครบหมด ทั้งหน้าตา การงาน การเงิน บ้าน รถ ครบกันทุกอย่างแล้ว แต่พวกเขายังไม่ยอมแต่งงานกันค่ะ เกิดอะไรขึ้น  

แต่งงานช้า เพราะยังไม่เจอคนที่ใช่? 
เราได้คุยกับคุณ ฮีจุน โช พนักงานออฟฟิศบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งย่านคังนัม เขายังคงมีความสุขกับการทำงาน รักอิสระ และคิดหนักเรื่องการแต่งงานค่ะ

(ฮีจุน โช หนุ่มออฟฟิศย่านคังนัม)
 

เขามองว่าการแต่งงานคือจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต เพราะมันคือการเสียสละ มันต้องทิ้งความชอบส่วนตัว และที่สำคัญกว่าคือ ความพร้อมด้านการเงิน ซึ่งสำคัญมากในตอนนี้   

(ฮีจุน โช หนุ่มออฟฟิศย่านคังนัม)
 

“ ถ้าได้แต่งงานคงต้องทิ้งหลายอย่าง เช่น งานอดิเรก หรือทิ้งกิจกรรมอื่นๆอีกหลายอย่าง ด้านการเงินก็มีส่วนที่ต้อง
รับผิดชอบมากขึ้น เลยยังลังเลเรื่องแต่งงานอยู่ครับ ถ้าจะให้ยกตัวอย่างเพิ่ม การอยู่คนเดียวสบายกว่าแต่งงานหลาย
อย่างเลยครับ ทั้งด้านจิตใจหรือเงื่อนไขหลายๆอย่าง รู้สึกว่าอยู่คนเดียวสบายกว่า เลยยังไม่แต่งงานครับ” 

เราได้คุยกับคนเกาหลีอีกคนค่ะ เธอชื่อ อึนฮี โซ สาวสวยและยังโสดวัย 35 ปี เธอมาที่ไนท์คลับที่ชื่อ Y1975 คลับหรูย่านคังนัม บรรยากาศในคลับ  เทียบกันมันคือทองหล่อบ้านเรานี่เองค่ะ

(อึนฮี โซ  ผู้บริหารสาวบริษัทโฮมชอปปิงแห่งหนึ่ง)
 

อึนฮีมาพร้อมเพื่อนสาว อายุน้อยกว่า 2 ปี ทั้งคู่สวยและโสดสนิท เป้าหมายหลักของทั้ง 2 คนในการมาที่คลับนี้  คือการพักผ่อน เธอยอมรับว่า มีคนที่คบหาอยู่ 3คน ทั้งหมดคือพร้อมที่จะมีครอบครัวแล้ว เพราะหน้าที่การงานดี เงินเดือนสูง แต่หนึ่งในตัวเลือกของเธอนั้นมีอาชีพการงานและฐานะการเงินที่มั่นคง  เพราะเขาลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพเป็นพันล้านวอน แต่อึนฮีก็ยังไม่อยากแต่งงานตอนนี้ เพราะการอยู่คนเดียว เธอโคตรจะสบายใจ   

(อึนฮี  โซ เวลาพักผ่อนในคลับแห่งหนึ่งหลังเลิกงาน)
 

อึนฮีบอกว่า ที่พูดว่ายังไม่แต่งตอนนี้  ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่แต่งนะคะ คงแต่งในสักวัน ระหว่างนี้  ถ้ามีคนที่ดีกว่า ก็ค่อยว่ากันใหม่ และถ้าจะต้องแต่งงานตอนเธออายุมากกว่านี้  ก็ไม่ใช่แปลกอะไร   

คนแต่งงานแล้วก็มี สเตปความคิดหนักมาที่เรื่องลูก

คุยแต่กับคนโสด ไม่ยอมแต่งงานมาแล้ว ไปถามความเห็นคนเกาหลีที่แต่งงานบ้าง  เรานัดพบกับคุณ  ชอนจุน ปาร์ค หนุ่มขี้อายคนนี้ค่ะ เขาเพิ่งแต่งงานเพียง 3 ปี และต้องการสร้างครอบครัว อยากมีลูก 3 คน ตอนนี้เขาเลยต้องทำงานหนัก ทั้งงานประจำและพาร์ทไทม์  เพื่อเตรียมเงินให้มากพอสำหรับการใช้ชีวิต และมีลูกคนแรก เขาบอกเราการมีลูก 1 คน เลี้ยงจนจบปริญญาตรี อาจใช้เงินถึง 12 ล้านบาท แต่บางคนเราก็เคยได้ยินว่าใช้เงินถึง 20 ล้านบาท  

(ชอนจุน ปาร์ค และคุณเล้ง ภรรยา)
 

คุณชอนจุนบอกว่า “ผมอยากให้คนเกาหลีมีลูกเยอะๆ นะครับ เพราะตอนนี้ ผู้สูงอายุในประเทศ มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ  ถ้าไม่มีคนรุ่นใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ไม่มีคนทำงานเพื่อพัฒนาประเทศ  อีกหน่อยรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบงบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุ  ปัญหาก็จะเกิดขึ้น และเป็นแบบนี้เรื่อยๆ วนเป็นปัญหาที่ไม่มีจุดจบแบบนี้นะครับ”

ค่าใช้จ่ายการเลี้ยงเด็ก 1 คนในเกาหลีทะลุ 20 ล้านบาท 
ค่าเทอมโรงเรียนมัธยมทั่วไป อยู่ที่  1,500,000 วอน หรือ 45,000 บาทต่อปี และปัจจุบันคนเกาหลียังนิยมส่งลูกเรียนพิเศษ ซึ่งมีค่าเรียนอยู่ที่ 1,000,000 วอน หรือ 30,000 บาทต่อเดือน จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนเกาหลีใต้ยุคนี้ ไม่มีต้องการมีลูกเพิ่มขึ้น

(นักศึกษา มหาวิทยาลัยหญิงล้วนอีฮวา)
 

สถาบันเพื่อการดูแลเด็กและการศึกษาแห่งเกาหลีใต้ องค์กรในกำกับรัฐบาล  เปิดเผยผลสำรวจล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 พบว่า คนโสดช่วงอายุ 20 และ 30 ปี จำนวน 42.3% ไม่อยากมีลูก เพราะสถานะทางการเงินไม่พร้อม 

พ่อแม่จูงเด็ก เป็นภาพหายากในเกาหลี

(เด็กน้อยในเกาหลี)
 

มาดูตัวเลขของจำนวนประชากรเกิดใหม่ในเกาหลีใต้   โดยสำนักงานสถิติ เกาหลีใต้  เปิดเผยตัวเลขออกมาว่า  ตั้งแต่ปี 2553  จำนวนประชากรเกิดใหม่ลดลง  จาก 100.4%  เป็น  99.7%   ในปี 2558   ในจำนวนนี้ ยังเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย   

ผู้สูงอายุที่อยู่เป็นโสด จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% 

(ผู้สูงอายุทำงานเป็นอาสาสมัครอย่างขยันขันแข็ง)
 


มาดูกันที่ตัวเลขของประชากรผู้สูงอายุ ซึ่งหมายถึงคนแก่ที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป ในปี 2548 มีผู้สูงอายุ  9.3%  จนมาถึงปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น  13.12%  ถ้าแยกออกมาเป็นผู้สูงอายุที่ไม่แต่งงาน  ในปี 2548 อยู่ที่ 3.7%  และคาดการณ์ว่า ในปี 2578  จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่  15.4%  ที่จอยเห็นรัวๆ คือภาพผู้สูงอายุรุ่นผมขาว ยังคงทำงานหลากหลายเลยค่ะ ทั้งเป็นคนขับรถทัวร์,คนเก็บขยะ  ขายสินค้าตามแหล่งท่องเที่ยว  และดูพวกเขาก็มีความสุขดีนะคะ 

การนอกใจ – เงิน – หน้าที่การงาน 
ข้อมูลจากนิตยสารคอสโมโพลิแทน เกาหลี  ฉบับเดือนเมษายน 2560 สำรวจความคิดเห็นประชาชนไม่เปิดเผยจำนวน ผ่านเว็บไซต์ของคอสโมฯและเวบสังคมออนไลน์ SNS ระหว่างวันที่ 6 – 12 มีนาคม  2560 พบว่า ถ้าถามความคิดเห็นเรื่องการแต่งงาน 57% บอกว่า การแต่งงานคือการที่ความรักจบลงอย่างสวยงาม (Happy Ending) และ 61% บอกว่า พวกเขามีความคิดว่า จะต้องแต่งงานอย่างแน่นอน   

(หนุ่ม-สาวชาวเกาหลีกลุ่ม  First Jobber)
 

แต่ถ้าถามพวกเขา แล้วทำไมยังโสดอยู่ล่ะ เหตุผลคืออะไร ผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่  41% บอกว่า ไม่มั่นใจในตัวอีกฝ่าย โดย ลีโซยอง สาวโสดวัย 32 ปี อาชีพ นักเขียน บอกว่า 
 “ฉันได้ยินเรื่องหลังแต่งงานจากคนรอบตัวมาเยอะว่า โดนผู้ชายนอกใจ  ดังนั้นถ้าฉันแต่งงานกับแฟนคนที่กำลังคบอยู่ด้วย ฉันต้องมั่นใจว่าเขาจะไม่หักหลังฉันค่ะ ไม่รู้เหมือนกันว่าฟ้าจะส่งเนื้อคู่มาให้ฉันแค่คนเดียวหรือเปล่า ต่อให้มีจริงสุดท้ายจะรักกันไปตลอดชีวิตจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ ดังนั้นแค่คบหากันไปเรื่อยๆน่าจะดีกว่าค่ะ”

และยังมีอีกตัวเองที่น่าสนใจอีกค่ะ  ผู้ตอบคำถาม 21%  มองว่า ที่ไม่แต่งเพราะระบบการแต่งงานไม่มีเหตุผล  อันดับ 3 ตอบว่า  เกลียดที่การแต่งงานจะส่งผลกระทบต่อตนเอง  อันดับ 4 ตอบว่า  ไม่แต่งงาน  เพราะไม่มีเงิน

(หนุ่ม-สาวชาวเกาหลีเจนใหม่)
 

มาอีกคำถามนึงค่ะ “คุณถือว่าเงื่อนไขของคนที่จะมาแต่งงานด้วยคืออะไร?”

ผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่ 44% ตอบว่า คุยกันรู้เรื่องและคิดเห็นตรงกันหรือเปล่า รองลงมา  27%  ตอบว่า หน้าที่การงาน, สถานภาพทางการเงินดีไหมนะ?  

ลียอง จู แฮร์ สไตลิสต์ บอกว่า  “ถึงคนรอบข้างจะบอกว่าให้ดูที่จิตใจ แต่เวลาเลือกคู่ครองฉันมองว่าสถานภาพทางการเงินยังสำคัญที่สุดอยู่ดีค่ะ ถ้าเทียบดูแล้ว ฉันก็หาเงินเก่งนะคะ แต่ในใจฉันก็ไม่อยากคบผู้ชายเอาแต่พึ่งพาฉัน อยากคบผู้ชายที่หาเงินเก่งกว่า ฉันแล้วใช้ชีวิตอย่างสบายๆไปด้วยกันมากกว่า ถ้าฐานะทางการเงินต่างกันมากเกินไปอีกฝ่ายอาจจะรู้สึกด้อยกว่าก็ได้ ฉันคิดว่าการแต่งงานเป็นการพบกันในสองครอบครัว ถ้าแตกต่างกันมากๆจะทำให้เกิดปัญหาภายในครอบครัวต่อไปค่ะ   ฉันเห็นคนใกล้ตัวเป็นมาหลายคู่แล้ว ดังนั้นเวลาที่ฉันเลือกคู่ครอง  เลยต้องดูที่ฐานะทางการเงินเป็นอันดับแรก” 

(หนุ่ม-สาวชาวเกาหลีเจนใหม่)
 

อีกปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนแนวคิดของการแต่งงานของคนเกาหลีช้าลง มีอีกอย่างคือ ด้วยความที่ผู้ชายเกาหลี มีน้อยกว่าผู้หญิงอยู่แล้ว  และผู้ชายทุกคนจะต้องไปเป็นทหาร 2 ปี ทำให้ช่วงเวลาที่ผู้ฯ ไปฝึก ฝ่ายหญิงที่ตั้งหน้าตั้งตาทำงานหาเงิน  ระหว่างนั้น ทำให้ผู้หญิงมีอายุ (ด้านความคิด) มากกว่าผู้ชายไปแล้ว  เพราะระยะห่าง 2 ปี ทำให้หน้าที่การงานของผู้หญิง ก้าวกระโดดไปไกลกว่าผู้ฯ ที่เพิ่งฝึกทหาร แล้วออกมาใช้ชีวิตใหม่อีกรอบ เหล่าผู้หญิงมีความคิดที่โตกว่าวัย  ความคิดความอ่านเลยไปไกลกว่าผู้ชายในวัยเดียวกัน   

(เด็กน้อยเกาหลี)
 

สำนักข่าว โคเรีย ไทมส์ รายงานเมื่อวันที่ 20มีนาคม 2560 ที่ผ่านมาว่า เกาหลีใต้มีอัตราการเกิดใหม่ของประชากรในระดับ “ต่ำที่สุด” ในกลุ่มประเทศสมาชิก  OECD หรือ Organization for Economic Cooperation and Development  ซึ่งเป็นองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศกลุ่มยุโรป โดยมีประเทศที่พัฒนาแล้ว  ที่ไม่ได้อยู่ในทวีปยุโรปเข้าเป็นสมาชิกด้วย  

(เด็กน้อยเกาหลี)
 

เกาหลีใต้  เธอยังเด็กเล็ก(น้อย)นัก  
เกาหลีใต้มีเด็กเกิดใหม่อยู่ที่ 1.25 ล้านคน แต่ยังน้อยกว่า ฮ่องกง มีเด็กเกิดใหม่ 1.19 ล้านคน  แต่ที่มาวินกว่าใครคือ  สิงคโปร์ อยู่ที่ 8.2 แสนคน ขณะที่ค่าเฉลี่ยเด็กเกิดใหม่ในประเทศสมาชิกกลุ่ม OECD อยู่ที่2.66 ล้านคน ส่วนกลุ่มประเทศแถบแอฟริกัน ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6.62 ล้านคน 

“โสดแต่งงาน”  ไม่แต่งงาน  แต่จะถ่ายพรีเวดดิ้ง?
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงวันวาเลนไทน์ที่สาวเกาหลีจะต้องให้ของขวัญวันแห่งความรักกับผู้ฯที่เธอรัก แต่หญิงเกาฯสมัยนี้ ไม่สนใจ เพราะไม่มีแฟน ก็ถ่ายรูปในชุดเจ้าสาว สวยที่สุดเสมือนเจ้าสาวในวันแต่งงานได้  

(ถ่ายรูปพรีเวดดิ้งแบบ ''โสดแต่งงาน'')
 

เพียงแค่เดินไปที่สตูดิโอรับถ่ายรูป และบอกเขาว่าจะถ่ายรูปวันแต่งงานแบบไร้เจ้าบ่าว เขาก็จัดให้คุณค่ะ ค่าใช้จ่ายการถ่ายรูปแบบนี้อยู่ที่ 600,000 วอน หรือ 19,200 บาท คิดเป็น 1 ใน 4 ของค่าถ่ายรูปพรีเวดดิ้งจริงๆ ในเกาหลี ขาดอย่างเดียวคือเจ้าบ่าว   


(ถ่ายรูปพรีเวดดิ้งแบบ ''โสดแต่งงาน'')
 
 

(ถ่ายรูปพรีเวดดิ้งแบบ ''โสดแต่งงาน'')
 

คุณก็จะได้รับบริการเหมือนการถ่ายรูปพรีเวดดิ้งปกติ ทั้งการแต่งหน้า ทำผม ใส่ชุดเจ้าสาว และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพรีเวดดิ้งทั่วไปเลยค่ะ 

Analysis & Summarize  
คนเกาหลีใต้ยังอยากแต่งงานอยู่ แต่เพราะปัจจัยแวดล้อมหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามวัฒนธรรมที่พวกเขายคดถือเป็นแบบอย่าง คือ วัฒนธรรมอเมริกัน ทำให้ฝ่ายหญิงที่ในอดีตจะต้องแต่งงานมีลูกและเลี้ยงลูกอย่างเดียว มีน้อยมากในเกาหลี และคนสมัยนี้ เกิดมาพร้อมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงทำให้พวกเปลี่ยนความคิด ไม่ต้องดิ้นรนเพื่อสร้างประเทศ แต่ทำทุกอย่างเพื่อให้ชีวิตสบายใจ  

 

(สภาพสังคมเกาหลีใต้ ณ ปัจจุบัน)
 

สิ่งที่ใช้ในการตัดสินใจแต่งงาน
1. เจอคนที่ถูกใจ และไม่นอกใจ
2. ขอคนที่มีรายได้เท่าๆ กัน จะได้ไม่เอาเปรียบกัน 
3. ต้องเก็บเงินให้เยอะพอเพื่อแต่งงาน
4. ก่อนมีลูก ต้องมีเงินเพียงพอ

   

(ที่มาข้อมูล : http://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2017/03/119_225996.html) 
(ที่มาข้อมูล : http://m.slist.kr/news/articleView.html?idxno=10503#_enliple)
(ที่มาข้อมูล : สำนักข่าวยอนฮับ )
(ที่มาข้อมูล : สำนักงานสถิติแห่งชาติ เกาหลีใต้)
(ที่มาข้อมูล : นิตยสาร cosmopolitan.co.kr ฉบับเดือนเมษายน 2560)
(ที่มาภาพ : pixabay.com และ MBC) 
(ที่มาภาพ : Laonmedia)

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog