ไม่พบผลการค้นหา
วิจัยพบผีเสื้อในพื้นที่ภัยพิบัติสึนามิเมืองฟุกุชิมะ หลังเตาปฏิกรณ์ปรมาณูหลอมละลาย ได้รับกัมมันตรังสี ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ใน 3 รุ่นต่อมา หวั่นส่งผลกระทบถึงมนุษย์

วิจัยพบผีเสื้อในพื้นที่ภัยพิบัติสึนามิเมืองฟุกุชิมะ หลังเตาปฏิกรณ์ปรมาณูหลอมละลาย ได้รับกัมมันตรังสี ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ใน 3 รุ่นต่อมา หวั่นส่งผลกระทบถึงมนุษย์

 

โจจิ โอตากิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยริวกิว เมืองโอกินาวา ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น เปิดเผยในวันอังคารว่า ผีเสื้อราว 12% ที่ได้รับรังสีขณะยังเป็นตัวดักแด้หลังจากคลื่นสึนามิทำให้แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะหลอมละลาย ได้เกิดความผิดปกติขึ้น โดยมีปีกเล็กลง และดวงตาเสียหาย

 

นักวิจัยได้นำดักแด้เหล่านั้นไปเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการนอกพื้นที่แพร่กระจายของรังสีจากโรงไฟฟ้า พบว่าตัวอ่อนเหล่านั้นได้กลายเป็นผีเสื้อที่กลายพันธุ์ และลูกหลานของผีเสื้อเหล่านั้นราว 18% ก็เกิดปัญหาอย่างเดียวกัน

 

โอตากิ บอกว่า จำนวนผีเสื้อที่กลายพันธุ์ได้เพิ่มสัดส่วนขึ้นเป็น 34% ในรุ่นที่สาม แม้ว่าตัวพ่อหรือตัวแม่ราว 1% มาจากพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสี

 

ทีมวิจัยยังได้เก็บตัวอย่างผีเสื้อที่เมืองฟุกุชิมะอีก 240 ตัวเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว หลังจากเหตุภัยพิบัติดังกล่าวผ่านไป 6 เดือน พบความผิดปกติในระดับ 52% ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่สูงมาก

 

ผลวิจัยนี้ตีพิมพ์ใน Scientific Reports ซึ่งเป็นวารสารออนไลน์ของผู้พิมพ์วารสาร Nature

 

ต่อมา โอตากิยังได้นำผีเสื้อในโอกินาวาที่ไม่ได้รับผลกระทบมารับรังสีในปริมาณต่ำเพื่อเปรียบเทียบอีกด้วย ผลปรากฏว่า ผีเสื้อเหล่านั้นเกิดความผิดปกติในอัตราใกล้เคียงกัน

 

"เราพบข้อสรุปอย่างชัดเจนว่า รังสีจากโรงงานฟุกุชิมะ ไดอิจิ ได้ทำลายยีนของผีเสื้อ" เขากล่าว

 

คลื่นสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ได้ทำลายระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าดังกล่าว ทำให้เตาปฏิกรณ์ปรมาณู 3 เตาเกิดการหลอมละลาย และมีรังสีรั่วไหลออกมาภายนอก

 

ข้อค้นพบนี้ทำให้เกิดความหวาดหวั่นถึงผลกระทบในระยะยาวต่อประชาชน โดยเฉพาะคนงานที่พยายามปิดเตาปฏิกรณ์ ซึ่งได้รับรังสีเป็นเวลาหลายสัปดาห์ภายหลังอุบัติเหตุดังกล่าว โดยรังสีได้แพร่กระจายเป็นบริเวณกว้าง

 

มีรายงานว่า ประชาชนในเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ที่ได้รับรังสีจากการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐเมื่อปลายสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ยังคงปรากฏร่องรอยผลกระทบจากรังสีต่อมาอีกหลายชั่วอายุคน    

 

แต่โอตากิบอกว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า รังสีจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะส่งผลอย่างเดียวกัน แม้ปรากฏผลกระทบต่อผีเสื้อก็ยังพูดไม่ได้ว่า สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์ จะเกิดการกลายพันธุ์เช่นกัน ตนกับคณะจะศึกษาผลที่มีต่อสัตว์อื่นๆต่อไป

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog