ไม่พบผลการค้นหา
หลังจากมีกรณีวิสามัญนักกิจกรรมชาวลาหู่ "ชัยภูมิ ป่าแส" โดยเจ้าหน้าที่ทหาร ไปทำความรู้จักกับชนเผ่าลาหู่หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเพื่อก้าวข้ามอคติไปด้วยกัน

หลังจากมีกรณีวิสามัญนักกิจกรรมชาวลาหู่ "ชัยภูมิ ป่าแส" โดยเจ้าหน้าที่ทหาร ไปทำความรู้จักกับชนเผ่าลาหู่หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเพื่อก้าวข้ามอคติไปด้วยกัน

ประเด็นที่ถูกหยิบยกจากกรณีการวิสามัญนักกิจกรรมชาวลาหู่ นอกจากเป็นเรื่องการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่แล้ว ประเด็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกก็คือความมีอคติทางชาติพันธุ์ของคนไทยต่อชนกลุ่มน้อยหรือไม่? และการเชื่อมโยงชนกลุ่มน้อยกับการค่ายาเสพติด ร่วมทำความเข้าใจพร้อมกันเพื่อลดอคติทางชาติพันธุ์

 

"ลาหู่" ก็คือ "มูเซอ" หนึ่งชนเผ่าในประเทศไทย

คนไทยอาจคุ้นเคยกับคำว่า "มูเซอ" มากกว่าคำว่า "ลาหู่" ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมจากตอนใต้ของประเทศจีนและค่อยๆทยอยอพยพลงมาเรื่อยๆตามประเทศเมียนมา และภาคเหนือของประเทศไทยโดยเข้ามาทางอำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย, อำเภอฝาง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่, และอำเภอบางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน และบางส่วนในพื้นที่จังหวัดตาก

ลาหู่ เองยังแบ่งออกเป็น 4 เผ่าย่อยๆ ที่คนไทยรู้จักดีได้แก่ มูเซอดำและมูเซอแดง และอีกสองเผ่าได้แก่มูเซอกุย และมูเซอเฌเลที่มีจำนวนไม่มาก โดยแตกต่างในเรื่องความเชื่อทางศาสนา พิธีกรรมและการแต่งกาย โดยมีภาษาร่วมกันยกเว้นมูเซอกุยที่มีภาษาของตนเอง ส่วนบ้านพักอาศัยมักจะใช้ไม้ไผ่มาสร้าง และมุงหลังคาแฝกอยู่ในพื้นที่ราบสูง

กลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวส่วนมากจะอยู่ในสังคมเกษตรกรรม ที่ยังเป็นการผลิตแบบครัวเรือนซึ่งคนไทยและนักท่องเที่ยวอาจจะคุ้นเคยกับพิธีกรรมของชาวลาหู่ที่ถูกโปรโมทในเชิงการท่องเที่ยว เช่น การละเล่นลูกข่าง หรือค่อซือ เป็นการละเล่นของชนเผ่าลาหู่ จะนิยมเล่นกันในช่วงปีใหม่ หรือ การเล่น น่อ หรือ แคน โดยผู้ที่มีความชำนาญในเรื่องของแคน จะเป็นคนเป่าแล้วเต้นเพื่อเฉลิมฉลองในงานประเพณีให้เทวราช หรือ หงื่อซา 

ความเชื่อของชาวลาหู่จะมีทั้ง ความเชื่อเรื่องพระเจ้า หรือ อื่อซา ความเชื่อเรื่องผี และความเชื่อเรื่องวิญญาณ หรือขวัญที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวลาหู่ ด้านการแต่งกายก็มีเอกลักษณ์เป็นลักษณะเฉพาะตัวในด้านสีสัน และผ้าของลาหู่ใช้ผ้าสีดำ หรือผ้าสีฟ้าและสีแดง ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าลาหู่กลุ่มใด และตกแต่งด้วยผ้าหลายสีเป็นลวดลายสวยงาม

 

ปัญหาของชาวลาหู่ "ยาเสพติด และไร้สัญชาติ"

สิ่งที่ชาวลาหู่ หรือ มูเซอ มักเผชิญก็คือภาพของการข้องเกี่ยวกับขบวนการค้ายาเสพติดบริเวณพื้นที่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้านนับตั้งแต่รัฐบาลทหารเมียนมาเริ่มปฏิบัติการกดดันชนกลุ่มน้อยทั้ง 17 กลุ่มมาตั้งแต่ปี 2551 ทำให้เครือข่ายยาเสพติดทะลักเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทย โดยแบ่งออกมาหลายกลุ่มทั้งกลุ่มว้าที่คนไทยรู้จักดีอย่าง "เหว่ย เซียะ กัง" หรือกลุ่มไทยใหญ่ของหน่อคำ

ด้านมูเซออาสาสมัครพม่าและองค์กรแห่งชาติมูเซอ (NLO) จะกินพื้นที่บ้านน้ำปุง ซึ่งแหล่งผลิตยาเสพติดใหญ่บริเวณชายแดนอยู่ที่แม่ฮ่องสอน มีทั้งสิ้น 3 แห่ง ด้านเชียงใหม่ กับเชียงราย อีกฝั่งละ 2 แห่ง รวมเป็น 7 แห่ง การลำเลียงยาเสพติดมีทั้งการเดินเท้าและทางรถยนต์ซึ่งทำให้คนไทยติดภาพชนกลุ่มน้อยกับขบวนการค้ายาเสพติด กรณีมูเซอที่คนไทยพอจะรู้จักคือการวิสามัญ คนสนิท ของ พ.ท.ยี่เซ หัวหน้ากองกำลังติดอาวุธมูเซอดำ คือนายอาก๋วย แสงลี่ พร้อมของกลางยาบ้า 24,000 เม็ด

 

จากกรณีดังกล่าวทำให้คนทั่วไปมีภาพลบกับชนกลุ่มน้อยว่าต้องเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกคนซึ่งอาจไม่จริงเสมอไป ปัญหาส่วนหนึ่งที่ทำให้ชนกลุ่มน้อยรวมทั้งมูเซอที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดก็เพราะการไม่สามารถเข้าถึงโอกาสได้เนื่องจากเป็นบุคคลไร้สัญชาติ

ถึงแม้จะมีการพยายามเคลื่อนไหวผลักดันเพื่อให้ชนกลุ่มน้อยที่เกิดในประเทศไทยได้รับสัญชาติไทย เพื่อที่จะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเหมือนประชาชนไทยทั้งเรื่องการรักษาพยาบาล การศึกษาและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของทั้งกลุ่มชาติพันธุ์เอง นักกฎหมายและเอ็นจีโอ แต่ก็ยังเป็นอย่างล่าช้า ซึ่งหลายๆคนก็ไปติดที่ขั้นตอนเอกสารที่ไม่มีความชัดเจน

ดังนั้นการเสียชีวิตของ "ชัยภูมิ ป่าแส"นักกิจกรรมกลุ่มรักลาหู่ หนึ่งในนักกิจกรรมเพื่อคนไร้สัญชาติให้ด้รับความเท่าเทียมจึงเป็นเรื่องสะเทือนใจของสังคม ไม่ว่าจะเกิดด้วยเหตุใด เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ แต่ก็เป็นโศกนาฏกรรมอีกครั้งหนึ่งของคนไร้สัญชาติ

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog