ไม่พบผลการค้นหา
ไปดูความเปลี่ยนแปลงของเกาหลีใต้  โดยในช่วง 5 -6 ปีที่ผ่านมานี้ รัฐบาลเกาหลีได้พยายามสร้างอนาคตที่ดีให้กับประชากรของตัวเองอย่างเห็นได้ชัด    

เมื่อวันที่ 10-17 มีนาคมที่ผ่านมา ได้เดินทางไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ วัตถุประสงค์ครั้งนี้ คือไปดูความเปลี่ยนแปลงของเกาหลีใต้  ซึ่งในช่วง 5 -6 ปีมานี้ รัฐบาลเกาหลีพยายามสร้างอนาคตที่ดีให้กับประชากรของตัวเองอย่างเห็นได้ชัด    

ระบบคมนาคมของเกาหลีใต้ เน้นที่กรุงโซล ไม่ต่างจากกรุงเทพค่ะ ตอนนี้ประชากรในกรุงโซล  ใช้การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินในช่วงเช้าและเย็น พวกเขาเข้างานประมาณ 9 โมง เลิกงาน 6 โมงเย็น เวลาทำงานเหมือนกันกับไทย ดังนั้นรถไฟฟ้าจะติดในช่วงเดียวกัน 

รถไฟฟ้าคือทางเลือกดีสุด
แต่รถไฟฟ้าของกรุงโซล มีทั้งความเร็วปกติ  และความเร็วพิเศษ (เอ็กซ์เพรส) วิ่งใต้ดินและบางช่วงไปโผล่บนดิน จะไม่มีแยกกันเป็นรถไฟลอยฟ้า หรือ รถไฟใต้ดินเหมือนบ้านเรา และรถไฟอีกประเภท คือ รถไฟความเร็วสูง KTX ซึ่งวิ่งระหว่างเมือง  

 


(ในรถไฟฟ้าใต้ดินความเร็วพิเศษ)
 

ในช่วงเช้าๆของเกาหลี ช่วงประมาณ 8 โมงเช้า ในรถไฟฟ้าความเร็วพิเศษ คนจะแน่นมาก ผู้เขียนได้ขึ้นรถไฟทั้ง 2 แบบ ทั้งแบบปกติและความเร็วพิเศษ  จากฮงแด ไปคังนัมพบว่า รถไฟความเร็วพิเศษ คนแน่นจนไม่สามารถหันหน้าได้ ตัวติดกันแทบจะเป็นสามี-ภรรยากันเลยทีเดียวค่ะ ส่วนรถไฟความเร็วปกติ  ความหนาแน่นของคนใช้เหมือนการใช้รถไฟฟ้าช่วงบ่ายๆ ในบ้านเราค่ะ มีที่นั่งเหลือเยอะเลย

ราคาตั๋วโดยสารรถไฟฟ้า  ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 1,250 วอน หรือ 39 บาท สามารถเปลี่ยนเส้นทางได้ในตั๋วเดียว  ที่สำคัญราคาถูกกว่าค่าแท็กซี่ เพราะราคาเริ่มต้นเมื่อกดมิเตอร์ อยู่ที่ 3000 วอน หรือ  95 บาท     

 

แท็กซี่มีมง
แต่แท็กซี่ในเกาหลีใต้ ระบบคล้ายบ้านเราที่มีการเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลเดินรถค่ะ แต่น่ารักตรงที่มีการ “มอบมง” ให้แท็กซี่ด้วย

แท็กซี่ที่ให้บริการดี ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร ขับรถในความเร็วที่กำหนด จะได้รับการโหวตจากผู้โดยสาร เมื่อได้คะแนนตามเกณฑ์แล้ว จะได้รับมงกุฎ สวมบนหลังคา ทำให้แท็กซี่มีมง แบบนี้ค่ะ  


(แท็กซี่มีมงที่คังนัม)

ซึ่งก็ทำให้แท็กซี่มีมง แตกต่างจากแท็กซี่ทั่วไปทันที อย่างที่คังนัม เจอแท็กซี่มีมงเยอะมาก  แต่ลองเรียกมานั่งและบอกปลายทาง (พูดอังกฤษ) ลุงแกไม่ไปค่ะ น่าจะเป็นเพราะไม่คุ้นกับผู้โดยสารต่างชาติ
 

รถเมลเกาหลีอัจฉริยะ

ส่วน การเดินทางด้วยรถเมล์ ในกรุงโซลมี 3 ประเภท คือ รถเมล์วิ่งระหว่างเมือง,ในเมือง  และในหมู่บ้าน แยกประเภทด้วยขนาดและสีของรถ ปัจจุบันรัฐบาลปรับระบบให้รถเมล์มาวิ่งเลนกลาง โดยใช้สีฟ้าล้อมกรอบ และไม่เพิ่มจำนวนรถเมล์บนท้องถนน พร้อมเพิ่มความสะดวกด้วยป้ายรถเมล์อัจฉริยะ ที่คิดค้นระบบในปี 2548 ติดตั้งใช้จริงปี 2554 หรือ 6 ปีก่อน ปัจจุบันค่าความแม่นยำอยู่ที่ 95% ในป้ายนี้จะบอกสายรถเมลที่วิ่งผ่านเส้นทางนี้ ,สภาพอากาศ,สภาพฝุ่น เวลาที่รถเมล์ต่างๆ จะมาถึง 

 

(ป้ายรถเมลอัจฉริยะ)
 

แต่ถ้าป้ายไหน ไม่มีป้ายรถเมลอัจฉริยะ คนในกรุงโซลจะใช้แอพลิเคชั่นเพื่อตรวจสอบเส้นทางรถเมลที่จะไปถึงที่หมายของเรา วันนี้เราใช้แอพลิเคชั่น “ โซล บัส” หนึ่งในแอพพลิเคชั่น ตรวจสอบเส้นทางรถเมล์ เพียงแค่พิมพ์หมายเลขรถที่เรารออยู่  ระบบจะแจ้งเวลาที่รถเมล์จะเข้าถึงป้าย อย่างตอนนี้ รถเมล์ที่เรารออยู่จะมาถึงใน 3 นาที 30 วินาที ทำให้เราคำนวณได้ว่า  เราจะเดินทางถึงปลายทางเมื่อไหร่

การจ่ายเงินค่ารถเมล  ก็จ่ายได้ทั้งเงินสด, บัตรเครดิตและ ตั๋วร่วม ทีมันนี  ซึ่งคนเกาหลีใต้เกือบ 100% จะพกบัตรนี้ติดตัวไม่ต่างจากบัตรเครดิต 


สถาบันวิจัยโซล  ขุมพลังพัฒนาเมืองเพื่ออนาคต 

วันนี้เรานัดสัมภาษณ์พิเศษ ดร.กวาง ฮุน ลี นักวิจัยอาวุโส  ด้านวิศวกรรมการขนส่ง  สถาบันวิจัยโซล ที่นี่คือแหล่งรวบรวมนักวิจัยชั้นหัวกะทิของเกาหลีใต้ กว่า 300 คน มีนักวิจัยระดับดอกเตอร์ 80 คน ทำหน้าที่ศึกษา วางแผน ทุกเรื่องราวในการใช้ชีวิตของประชากรในประเทศ รวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากอดีต ปัจจุบัน คาดการณ์ไปถึงอนาคต เพื่อร่วมกำหนดอนาคตของชาติ 

(สถาบันวิจัยโซล)
 

(ดร.กวาง ฮุน ลี นักวิจัยอาวุโส  ด้านวิศวกรรมการขนส่ง สถาบันวิจัยโซล)
 
ดอกเตอร์ ลี คือหนึ่งในทีมงานวิจัย “ปัจจุบันและอนาคต” ระบบคมนาคมและการขนส่งในเกาหลีทั้งระบบ  บทวิจัยคาดการณ์ไปถึง ปี พ.ศ.2588 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า พร้อมรวบรวมสถิติอย่างละเอียด สรุปเป็นรายงานเผยแพร่ให้สาธารณะรับทราบทุกเดือน รวบรวมอยู่ในหนังสือเล่มหนาเล่มนี้ 
 
(หนังสือรายงานสถิติการขนส่งของเกาหลีใต้ ประจำปี 2016 – ม.ค.2017)
 
ตารางด้านล่างไม่ต้องดูละเอียดก็ได้ค่ะ เพียงแค่ให้รู้ว่านี่คือส่วนหนึ่งที่เราได้เลือกมาเป็นข้อมูลในการเขียนบทความและรายงานพิเศษในเรื่องนี้ และได้รู้ว่าเกาหลีใต้ใช้การวิจัยในทุกมิติของชีวิตจริงๆ 

ตารางด้านบน จะเห็นได้ว่า การรวบรวมสถิตินี้เป็นเพียงข้อมูลที่รวบรวมมาจากรายละเอียดการเดินทาง 18 ประเภท  ตั้งแต่การเดิน การใช้รถส่วนตัว การใช้รถเมล์ รถจักรยานยนต์ รถบรรทุก ฯลฯ 
ถ้าเราดูตารางด้านบน ทำให้เรารู้ว่า ในปี พ.ศ.2563  - 2588 กรุงโซลจะใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้นเล็กน้อย ใช้รถเมล์ลดลง ใช้รถไฟฟ้าใต้ดินมากขึ้น   

ตัวเลขนี้ ทำให้สำนักงานว่าการกรุงโซล เพิ่มจำนวนรถไฟฟ้าอีก 7 สาย โดย 1 ใน 7 สาย จะเปิดให้บริการเดือนเมษายนนี้ (60)  

 

(ในรถบัส ลีมูซีนส่งผู้โดยสารจากฮงแด ไปสนามบิน ค่าโดยสาร คนละ 10,000 วอน)
 

ดอกเตอร์ลีบอกว่า ปัจจุบัน ประชากรเกาหลีใต้ เข้าถึงระบบการคมนาคมได้ 70% โดยใช้เวลาเพียง 5 นาที ก็สามารถเข้าถึงได้ ขณะที่สถาบันวิจัยโซล วางเป้าหมายพัฒนาระบบให้ประชาชนเข้าถึงระบบรถสาธารณะได้เร็วยิ่งขึ้น  

 

ระบบคมนาคมเริ่มต้นจาก “ประชาชน”

ขั้นตอนการวางแผนระบบคมนาคมของกรุงโซล เริ่มต้นที่สถาบันวิจัยโซลทำการศึกษาจากความต้องการของประชาชน โดยนำข้อมูลเหล่านั้นหารือร่วมกับบริษัทเอกชน เมื่อได้ผลสรุป จึงนำเสนอแผนงานกับสำนักงานว่าการกรุงโซล  เพื่อขออนุมัติจากกระทรวงคมนาคม วิธีนี้ตอบสนองความต้องการประชาชนได้ตรงจุด และมีอิสระในการบริหารจัดการ ซึ่งมีความแตกต่างจากบ้านเราที่ทุกอย่างจะเริ่มดำเนินการจากกระทรวงคมนาคม กำหนดนโยบายก่อน แล้วจึงมอบหมายไปยังท้องถิ่นให้ดำเนินการต่อ 

 

(คนเกาหลีใต้นิยมเดินทางด้วย เท้า) 
 

อีกเรื่องที่ทำให้เห็นชัดเจนว่า   กรุงโซล ให้ความสำคัญกับพลเมืองของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางด้วยระบบสาธารณะ กรุงโซลเลยปรับขึ้นค่าจอดรถในที่สาธารณะให้สูงขึ้น อย่างที่จอดรถเป็นอาคารเหล็ก 3 ชั้น ที่เมียงดง ค่าจอดทั้งวันตอนนี้อยู่ที่ 700 บาท ก็จะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ , เก็บภาษีห้างสรรพสินค้า ที่ทำให้การจราจรหนาแน่น อย่างห้างล็อตเต้ที่เราเห็นในกรุงโซล เค้าต้องจ่ายให้รัฐบาล (ซึ่งคนที่เกาหลีกระซิบมาว่า ภาษีแค่นี้ไม่กระทบอะไรเค้าเลย) , ปรับแก้กฏหมายลดขนาดถนนให้แคบลง  ขยายทางเดินให้กว้างขึ้น    

 


ภาพที่ 9 (สวนลอยฟ้า Seoul lo 7017)
 

เนรมิต “สวนลอยฟ้า”  บนสะพานข้ามแยก ที่โซล สเตชั่น
ตั้งแต่ ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน กรุงโซล  ได้รื้อสะพานข้ามแยกที่ไม่จำเป็นหลายแห่ง  พร้อมกับจัดระบบการเดินรถด้วยการปรับสัญญาณไฟจราจร โดยพบว่า  ระบายรถระหว่างทางแยกได้ดีกว่า ส่วนสะพานที่รื้อออกไม่ได้ก็ใช้วิธีการ “ปรับทัศนียภาพ” 

 

(สะพานข้ามแยกหน้า โซล สเตชั่น ก่อนถูกปรับทัศนียภาพ)
 

(สะพานข้ามแยกหน้า โซล สเตชั่น ก่อนถูกปรับทัศนียภาพ)

อย่างสะพานข้ามแยกที่โซล สเตชั่น  ถ้าใครคุ้นตา  ไปเกาหลีบ่อยๆ จะเป็นสะพานข้ามแยก หน้าห้างล็อตเต้ เอาท์เล็ต ศูนย์กลางการเดินทางของคนกรุงโซล คล้ายๆ สถานีหัวลำโพงของบ้านเราค่ะ  ล่าสุด รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ใช้งบประมาณ 38,000 ล้านวอน  หรือ 1,150 ล้านบาท   ปรับทัศนียภาพตรงนั้น  ให้กลายเป็นสวนพักผ่อนลอยฟ้า  ในชื่อ "โซล-โล 7017"   
 

(สวนลอยฟ้า Seoul lo 7017 )

คำว่า โล หมายถึงการเดิน  ,  เลข 70 หมายถึงปี 1970 ที่ก่อสร้างสะพานข้ามแยกนี้ , ส่วนเลข 17 คือปี 2017 หมายถึงปีที่จะสวนพักผ่อนแห่งนี้จะเปิดให้บริการ ในวันที่  20 เดือนพฤษภาคม 2560   
(หนังสือของนักวิจัยสถาบันโซล  บอกอนาคตคนเมือง)

พอกเก็ตบุคเล่มใหม่ของ ดร.ลี ซึ่งมันหมายถึงสิ่งที่สถาบันวิจัยโซล กำลังศึกษา เพื่อสร้างอนาคตการเดินทางในเกาหลีใต้  เน้นไปที่การให้ความสำคัญของประชากรในประเทศและนักท่องเที่ยว ที่จะต้องใช้การเดินทางด้วยการ “เดิน”เป็นหลัก  และจะเพิ่มจำนวนพื้นที่ของการปั่นจักรยานให้มากขึ้น  


(กรุงโซล  เมืองเพื่อประชากร)


ทั้งหมดมุ่งหวังให้คนเดินเท้า  เป็นใหญ่ที่สุดบนท้องถนน

หลายอย่างที่เกาหลีใต้ใช้อเมริกาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศ ตั้งแต่ระบบการขนส่งและจราจร  การเดินทางของพลเมือง ไปจนถึงการใช้ชีวิตแบบ โสดๆ สุข ของคนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้ ที่ตอนหน้าเราจะนำเสนอเรื่องนี้กันค่ะ 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog