ไม่พบผลการค้นหา
ไทยยังคงเป็นเส้นทางลำเลียงซากสัตว์ป่าที่ขบวนการค้าสัตว์ป่านิยมใช้กัน โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่งตรวจยึดนอแรดที่ลักลอบนำเข้ามาจากเอธิโอเปียได้จำนวน 21 นอ มูลค่ารวมกว่า 173 ล้านบาท

ไทยยังคงเป็นเส้นทางลำเลียงซากสัตว์ป่าที่ขบวนการค้าสัตว์ป่านิยมใช้กัน โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่งตรวจยึดนอแรดที่ลักลอบนำเข้ามาจากเอธิโอเปียได้จำนวน 21 นอ มูลค่ารวมกว่า 173 ล้านบาท

สำนักงานศุลกากรของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถตรวจยึดนอแรดลักลอบนำเข้าจากเอธิโอเปีย จำนวน 21 นอ น้ำหนักรวม 49.4 กิโลกรัม มูลค่ารวมกว่า 173 ล้านบาท ได้เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ที่ผ่านมา นับว่าเป็นการจับกุมและยึดสินค้าจากซากสัตว์ป่าครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีในไทย

นอแรดทั้งหมดถูกซุกซ่อนอยู่ภายในกระเป๋าเดินทางซึ่งเดินทางมาจากเอธิโอเปีย แต่ไม่มีผู้รับ และหนึ่งวันต่อมามีหญิงไทย 2 คนแสดงตัวเพื่อรับกระเป๋าเดินทางดังกล่าว โดยมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวก ซึ่งขณะที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรกำลังนำกระเป๋าเข้าเครื่องเอ็กซ์เรย์เพื่อตรวจสอบ เนื่องจากสงสัยว่ากระเป๋าใบเดินทางใบนี้อาจมีสิ่งของผิดกฎหมาย เพราะมีน้ำหนักมากเกินไป  เจ้าของกระเป๋าเดินทางทั้ง 2 คนจึงได้อาศัยจังหวะดังกล่าวหลบหนีออกจากอาคารผู้โดยสารไป 

จากการตรวจสอบข้อมูลการเดินทาง จึงทราบชื่อผู้ต้องสงสัยทั้งสองคนคือนางฐิติรัตน์ อาราอิ อายุ 46 ปี ที่เพิ่งเดินทางกลับจากกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ด้วยเที่ยวบิน TG 581 และนางกานต์สินี อนุตรานุสาสตร์ อายุ 41 ปี ที่เดินทางกลับจากนครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ด้วยเที่ยวบิน VZ 971

นักเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่ามองว่า แม้รัฐบาลไทยจะดำเนินการปราบปรามและจับกุมการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนสัตว์ป่าอย่างหนัก แต่ไทยก็ยังเป็นประเทศซึ่งขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่ามักใช้เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าไปยังประเทศปลายทางอื่นๆในเอเชีย โดยผ่านท่าอากาศยาน เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมในภูมิภาค ขณะที่สินค้าจากซากสัตว์ป่าหายากอย่าง นอแรด หรืองาช้าง มีมูลค่าที่สูงมาก ทำให้ขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่ากล้าที่จะลงทุน จึงยังคงมีการลักลอบนำเข้าสินค้าจากซากสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่อง

แรดเป็นสัตว์ป่าที่กำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากการถูกล่าเพื่อเอานอไปขาย  เนื่องจากนอแรดเป็นสินค้าที่มีราคาสูงในตลาดมืด โดยมีราคาเริ่มต้นที่กิโลกรัมละ 60,000 ดอลลาร์ หรือราว 2 ล้าน 8 หมื่นบาท ส่งผลให้แรดกว่า 100 ตัวตามธรรมชาติถูกสังหารในแต่ละเดือน เพื่อตัดนอและนำไปขาย และคาดว่าขณะนี้มีแรดเหลืออยู่ตามธรรมชาติเพียง 29,000 ตัว จากที่เคยมีอยู่กว่า 500,000 ตัว ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20

ภาพ: AP

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog