ไม่พบผลการค้นหา
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ของสหรัฐฯ รายงานว่า สถิติอายุเฉลี่ยของชาวนาไทยในปัจจุบัน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่สนใจอาชีพทำไร่ทำนา

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ของสหรัฐฯ รายงานว่า สถิติอายุเฉลี่ยของชาวนาไทยในปัจจุบัน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่สนใจอาชีพทำไร่ทำนา ส่งผลให้เกิดความวิตกว่า อาชีพที่ถือเป็นกระดูกสันหลังของชาติที่ว่านี้ อาจพบกับภาวะอันมืดมนในอนาคต 

 
ปัญหาแนวโน้มเกษตรกรละทิ้งไร่นา เพื่อเข้าไปหางานทำในเมือง แม้จะไม่ใช่ปัญหาใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย รวมถึงในชาติเกษตรกรรมอื่นๆในภูมิภาคเอเชีย ที่กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม
 
แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว แนวโน้มดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เนื่องจากการทำนาปลูกข้าว ได้รับการยกย่องให้เป็นอัตลักษณ์ของชาติ ถึงขนาดที่มีการขนานนามให้กับชาวนาว่า เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของประเทศ
 
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังถูกจัดให้เป็นชาติผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกมาตั้งแต่ปี 2526 โดยกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว ไทยส่งออกข้าวมีมูลค่ามากกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 188,000 ล้านบาท โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิไทยที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นข้าวชั้นดีที่มีราคาสูงที่สุดชนิดหนึ่งของโลก
 
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ รายงานโดยอ้างสถิติจากข้อมูลของรัฐบาลไทย พบว่า อายุเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้นของชาวนาไทยในปัจจุบัน ถือเป็นประเด็นที่น่าวิตกเป็นอย่างมาก โดยล่าสุด มีชาวนาไทยอายุไม่เกิน 25 ปี เหลืออยู่เพียงร้อยละ 12 ลดลงถึงร้อยละ 35 จากการสำรวจเมื่อปี 2528 ส่วนอายุเฉลี่ยของชาวนาไทยทั้งประเทศ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว อยู่ที่ 42 ปี เพิ่มขึ้นจากอายุเฉลี่ย 31 ปี ที่มีการสำรวจเมื่อราว 25 ปีที่ผ่านมา
 
สำหรับสาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ให้ความสนใจกับอาชีพทำไร่ทำนานั้น ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อที่ว่า ชีวิตในเมืองมีความสะดวกสบายมากกว่าในชนบท ส่งผลให้การทำนา ที่ต้องตากแดดตากลม และใช้แรงงานที่เหนื่อยยาก ไม่ได้รับการสืบทอดจากลูกหลานของบรรดาเกษตรกรในปัจจุบัน
 
ขณะเดียวกัน นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า สาเหตุอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งถือเป็นปัญหาเฉพาะของประเทศไทย คือ การดูหมิ่นเหยียดหยามอาชีพชาวนาว่า เป็นงานของคนจน ที่ไม่มีการศึกษา และไร้สุขอนามัยที่ดี โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของชาวนาไทยที่เผยแพร่ผ่านรายการโทรทัศน์ต่างๆ ที่มักนำเสนอภาพชาวนาผิวคล้ำกรำแดด ท่าทางซุ่มซ่าม ซึ่งกลายเป็นตัวแทนของชนชั้นล่างทางสังคม ต่างจากคนเมืองผิวขาวสดใส ที่เป็นค่านิยมใหม่ของสังคม
 
ด้วยเหตุนี้ ลูกหลานชาวนารุ่นใหม่จึงพยายามหลีกเลี่ยงการสืบทอดอาชีพทำนาของครอบครัว และหันไปทำงานรับจ้างในเมือง หรือตั้งใจศึกษาเล่าเรียนในระดับที่สูงขึ้น เพื่อจะได้ไม่ต้องกลับมาช่วยเหลือครอบครัวทำไร่ทำนาในชนบท
 
นอกจากนี้ ปัญหาทางเศรษฐกิจก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้อาชีพชาวนาไม่ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะปัญหาปุ๋ยราคาแพงขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนของภัยธรรมชาติ ทำให้ชาวนามีหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปีที่ผ่านมา ชาวนาไทยทั่วประเทศมีหนี้สินเฉลี่ยคนละ 104,000 บาท หรือเท่ากับรายได้เฉลี่ยของพวกเขารวมกันเกือบ 5 ปี
 
ผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ เผยว่า จำนวนหนี้สินที่ว่านี้มีแนวโน้มสูงขึ้นอีกในอนาคต ทำให้ชาวนาไทยในปัจจุบัน ต้องทำอาชีพเสริมอื่นๆ อาทิ การเปิดร้านขายของชำ และร้านเสริมสวยควบคู่กันไปด้วย
 
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มชาวนารุ่นใหม่ที่ลดลงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น เวียดนาม ชาติผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดอีกประเทศหนึ่ง ก็ประสบกับปัญหาเดียวกัน โดยคนเวียดนามให้เหตุผลว่า การทำนาเป็นอาชีพที่ต้องทำงานหนัก แต่ได้รับผลตอบแทนไม่คุ้มค่ากับแรงที่เสียไป
 
ด้านผู้อำนวนการสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติในฟิลิปปินส์ มองว่า ปัญหาจำนวนชาวนาลดลง น่าจะส่งผลกระทบรุนแรงเพียงระยะเวลาสั้นๆ และนั่นอาจทำให้การใช้เครื่องจักรในการเกษตร เพื่อทดแทนแรงงานที่หายไป มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น
 
ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ชาวนาไทยที่มีจำนวนมากราว 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ ยังคงมีพลังทางการเมืองเพียงพอที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถเพิกเฉยได้ โดยนอกจากมาตรเรื่องราคาข้าวแล้ว กระทรวงเกษตรของไทยยังจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา และการให้เงินอุดหนุนอื่นๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ชาวนากลับมามีศักดิ์ศรี และความมั่นคงในการดำรงชีวิตเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog